การเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง

ชีวิตของมนุษย์ประกอบด้วยขันธ์ ๕

ชีวิตของมนุษย์เรานี้จะประกอบด้วยขันธ์ (ส่วน) ๕ ขันธ์ ซึ่งคำสอนที่พระพุทธเจ้าเน้นสอนมากที่สุดก็คือให้นำเอาขันธ์ทั้ง ๕ นี้มาพิจารณาถึงความไม่เที่ยง สภาวะที่ต้องทน และความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะเมื่อเข้าใจถึงลักษณะทั้ง ๓ นี้แล้วก็จะทำให้เกิดปัญญาขั้นเข้าใจ ที่จะนำมาใช้คู่กับสมาธิในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็ได้แก่

๑. ร่างกาย (รูป) ซึ่งเป็นวัตถุที่เกิดขึ้นมาจากธาตุ ๔

๒. การรับรู้ (วิญญาณ) คือการรับรู้ที่เกิดขึ้นตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย

๓. การจำได้ (สัญญา) คือการจำสิ่งที่รับรู้ได้

๔. ความรู้สึก (เวทนา) คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจากการรับรู้ที่ระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย

๕. การปรุงแต่ง (สังขาร) คือเป็นการนำเอาความรู้สึกมาปรุงแต่งให้เป็นอาการต่างๆ เช่น ความอยาก ความยึดถือ และ การคิด เป็นต้น

ขันธ์ทั้ง ๕ ย่อลงได้เป็น รูป (วัตถุ) กับ นาม (ไม่ใช่วัตถุ) โดยรูปก็คือร่างกาย ส่วนนามก็คือ การรับรู้, การจำได้, ความรู้สึก, และการปรุงแต่งของจิต หรือที่เราชอบเรียกกันว่า ร่างกาย กับ จิตใจ โดยคำว่า จิต หมายถึง สิ่งที่รู้สึกและนึกคิดได้ ซึ่งบางทีก็เรียกว่า ใจ (บางทีก็เรียกรวมกันว่า จิตใจ) ที่หมายถึง สิ่งที่รับรู้และรู้สึกสิ่งอื่นได้ ซึ่งจิตนี้ก็เป็นสิ่งประกอบด้วย การรับรู้, การจำได้, ความรู้สึก, และการปรุงแต่งของจิต นั่นเอง

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เอง ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำมาพิจาณาค้นหาว่าเหตุและปัจจัยอะไร ที่ปรุงแต่งให้แต่ละขันธ์เกิดขึ้นและดำรงหรือตั้งอยู่ และพิจารณาค้นหาว่าเหตุและปัจจัยอะไรที่เมื่อขาดหายไปแล้วทำให้แต่ละขันธ์แตก (ใช้กับร่างกาย) หรือดับ (ใช้กับจิตใจ) หายไป โดยให้เราพิจารณาดูจากร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆ โดยไม่เชื่อจากใครหรือจากตำราใดๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องและแจ่มชัด ถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) ของแต่ละขันธ์ (หรือของร่างกายและจิตใจ) ซึ่งความเข้าใจเรื่องความเป็นอนัตตาของขันธ์ ๕ นี้เองที่เป็นหัวใจของปัญญา ที่จะนำมาใช้คู่กับสมาธิในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

การเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้จะมีการอาศัยกันและกันเพื่อเกิดขึ้นมาอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการที่ร่างกายต้องอาศัยคุณสมบัติพื้นฐาน ๔ อย่าง (ธาตุ ๔) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ซึ่งธาตุทั้ง ๔ ก็ได้แก่

๑. คุณสมบัติที่ แข็ง (ธาตุดิน)

๒. คุณสมบัติที่ เหลว, เกาะกุมตัว, ไหลได้ (ธาตุน้ำ)

๓. คุณสมบัติที่ ร้อน, เผาผลาญ, ทำลาย (ธาตุไฟ)

๔. คุณสมบัติที่ ละเอียด, บาง, เบา, แผ่กระจาย, ลอยได้ (ธาตุลม)

โดยร่างกายที่ยังมีชีวิตนี้จะมีระบบประสาทอยู่ ๖ จุด คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อเอาไว้รับรู้สิ่งภายนอกที่ตรงกัน ๖ อย่าง คือ แสง เสียง กลิ่น รส สิ่งกระทบกาย (เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง) และสิ่งกระทบใจ (คือทุกสิ่งที่ใจจะรับรู้ได้ อันได้แก่ การรับรู้ การจำได้ ความรู้สึก และการปรุงแต่งของจิต)

เมื่อมีสิ่งภายนอกมากระทบกับระบบประสาทที่ตรงกัน เช่น เมื่อมีแสงมากระทบตา หรือเมื่อมีเสียงมากระทบหู เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดการรับรู้ (วิญญาณ) ขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้นทันที เช่น เกิดการรับรู้แสง (เห็นภาพของวัตถุ) เกิดการรับรู้เสียง (ได้ยินเสียง) เป็นต้น

เมื่อเกิดการรับรู้ขึ้นมาเมื่อใด ก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ขึ้นมาด้วยทันที เช่น จำได้ว่าคนที่เห็นนั้นคือใคร หรือจำได้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นคือเสียงอะไรหรือเสียงใคร เป็นต้น

เมื่อการจำได้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่จำได้ทันที ซึ่งความรู้สึกนี้จำแนกได้ ๓ อย่าง คือ (๑) ความรู้สึกที่น่าพอใจ หรือความสุข (๒) ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ หรือความไม่สุข (๓) ความรู้สึกที่ไม่ใช่ทั้งสุขและไม่สุข หรือความรู้สึกจืดๆ

เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว จิตก็จะมีการปรุงแต่งต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับความรู้สึกนั้น อันได้แก่ เมื่อจิตขาดสติ จิตก็จะปรุงแต่งให้เกิดกิเลสประเภทความพอใจหรืออยากได้ในสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข (แล้วก็เกิดทุกข์ซ่อนเร้น) หรือปรุงแต่งให้เกิดกิเลสประเภทความไม่พอใจหรือไม่อยากได้ในที่ทำให้เกิดความไม่สุข (แล้วก็เกิดทุกข์เปิดเผย) หรือไม่แน่ใจว่าจะพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งที่ให้ความรู้สึกจืดๆ (แล้วก็เกิดทุกข์อ่อนๆ) และยังมีการคิดพิจารณาไปต่างๆนาๆด้วยอำนาจกิเลสหรือนิวรณ์ แต่ในกรณีที่จิตมี ปัญญา ศีล สมาธิ อย่างสมบูรณ์ จิตก็จะไม่ปรุงแต่งให้เกิดความพอใจ-ไม่พอใจ-ไม่แน่ใจขึ้นมา แต่ก็ยังมีการคิดพิจารณาด้วยปัญญาอยู่ต่อไปด้วยจิตที่ว่างจากกิเลส นิวรณ์ และความทุกข์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่