อยากทราบประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่และล้านนา ภายใต้การปกครองของพม่า?

ส่วนตัวได้อ่านประวัติเมืองเชียงใหม่ มาเยอะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องในสมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน และมาเข้ากับทางกรุงเทพแล้ว ในขณะทีเรื่องราวในช่วงก่อนหน้านี้ที่เป็นเมืองขึ้นของทางอังวะ กลับมีเรื่องราวบันทึกให้ศึกษาน้อยมาก แทบจะไม่มีบันทึกอะไรเลย จึงอยากจะทราบค่ะว่าช่วงนั้นการเมืองการปกครอง สังคม และเรื่องศึกสงครามเป็นอย่างไร ลักษณะทางกายภาพในสมัยนั้นดูเป็นคนต่างชาติต่างภาษาอย่างเห็นได้ชัดกับคนอยุธยาเลยหรือไม่

และเท่าที่อ่านมา ดูเหมือนทางกรุงศรีเหมือนไม่เคยมีอำนาจเหนือทางภาคเหนือของไทยในปัจจุบันแบบจริงจังเลยหรือคะ แถมกองทัพพม่าที่เกณฑ์มาในครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็เป็นชาวล้านนาซะส่วนใหญ่ด้วย ถ้าพระยากาวิละไม่เกิดผิดใจกับทางขุนนางพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เมือง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน คงจะต้องเป็นของพม่าจนถึงปัจจุบันเลยใช่ไหมคะ

ขอบคุณค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 6
หลักฐานช่วงล้านนาเป็นประเทศราชของพม่านี่มีเยอะนะครับ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดมากกว่าครับ

คนล้านนาแม้จะมีหลักฐานอยู่บ้างว่าเรียกตนว่า 'ไท/ไทย' แต่อยุทธยาไม่เคยนับว่าเป็น 'ไท/ไทย' เหมือนตนเองครับ จะเรียกว่า 'ลาว' หรือ 'ยวน' ไม่ได้มองว่าเป็นเชื้อชาติเดียวกัน ล้านนาเองก็เรียกอยุทธยาว่า 'เมืองใต้' ไม่ได้คิดว่าจะเป็นพวกเดียวกันเช่นกันครับ ส่วนเรื่องอำนาจของอยุทธยาเหนือล้านนา คห.1 ได้ตอบไว้แล้ว


เสริมจากความเห็นบนๆเรื่องการปกครองล้านนาของพม่าแบ่งตามยุคสมัยครับ

สมัยตองอูยุคต้น
ล้านนาตกเป็นพระเทศราชหงสาวดีครั้งแรกสมัยพระเมกุฏิ (ท้าวแม่กุ) ระยะแรกพระเจ้าบุเรงนองก็ให้พระเมกุฏิปกครองเชียงใหม่ตามเดิมตามแบบเมืองประเทศราชทั่วไป แต่ภายหลังพระเมกุฏิชักนำล้านนาเมืองอื่นก่อกบฏจึงถูกพาตัวไปอยู่หงสาวดี แล้วพระเจ้าบุเรงนองก็ตั้งพระนางวิสุทธิเทวีครองเมืองเชียงใหม่แทนซึ่งก็อยู่อย่างมีเกียรติและการยอมรับจากขุนนางหงสาวดี

พอพระนางวิสุทธิเทวีสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.๒๑๒๑ พระเจ้าบุเรงนองทรงเห็นถึงความสำคัญของเมืองเชียงใหม่ซึ่งตั้งเป็นกันชนอยู่กึ่งกลางเมืองใหญ่หลายเมืองทั้งล้านช้าง อยุทธยา ไทใหญ่ จึงเห็นควรที่จะส่งเชื้อพระวงศ์มาปกครองโดยตรง ด้วยการเสนอชื่อของนันทบุเรงที่เป็นพระมหาอุปราชา พระองค์จึงส่งนรธามังช่อ (နော်ရထာ မင်းစော Nawrahta Minsaw) พระโอรสมาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่

พระเจ้าบุเรงนองยังทรงให้ขุนนางล้านนามีสิทธิในการปกครองตามเดิม และพระองค์ก็พยายามให้เกิดความปรองดองระหว่างนรธามังช่อกับขุนนางล้านนาทั้งหลาย ดังที่ในพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วระบุว่า พระเจ้าบุเรงนองได้ให้โอวาทกับนรธามังช่อว่า ให้นับถือพญาจ่าบ้าน พญาลาว พญาน่านเสมือนลุง พญาแสนหลวงเสมือนอา พญาลคร พญาเชียงแสนเสมือนพี่ชาย และห้ามแย่งชิงทรัพย์สินราษฎรและปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเท่าเทียม

แต่ถึงเป็นตามนี้ก็ใช่ว่าหัวเมืองล้านนาเมืองอื่นจะภักดีต่อพระเจ้าเชียงใหม่ไปหมด ในช่วงที่หงสาวดีอ่อนกำลังลงหลายเมืองก็เริ่มต่อต้านเชียงใหม่ โดยเฉพาะเมืองน่านที่ไปชักนำล้านช้างเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ตอนหลังเมืองนรธามังช่อยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงส่งสมเด็จพระเอกาทศรถไปจัดการให้หัวเมืองต่างๆ ยอมจงรักภักดีต่อนรธามังช่อได้ (เว้นแต่เมืองน่านที่กบฏอีกในภายหลัง เลยถูกนรธามังช่อบุกตีเมืองแล้วจับไปประหาร)


รูปวาดแม่ทัพพม่าสมัยราชวงศ์กงบ่อง


สมัยตองอูยุคฟื้นฟู(สมัยนยองยัน)
หลังยุคนรธามังช่อ บรรดาทายาทก็แย่งชิงอำนาจกันเองจนเป็นจลาจลจนล้านนาถูกพม่าเมืองอังวะตีได้อีกด้วยความช่วยเหลือจากเมืองน่าน แต่เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ยังคงเป็นคนพื้นเมืองโดยมาจากเมืองน่านบ้าง ฝางบ้าง จนกระทั่งถูกกรุงศรีอยุทธยาขึดครองเป็นเวลาสั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

หลังจากที่อังวะตีเมืองเชียงใหม่กลับจากอยุทธยาไปได้ ก็เป็นไปตาม คห.3 ว่าคือราชสำนักอังวะได้ส่งข้าหลวงมาปกครองเชียงใหม่โดยตรง และตั้งเมืองเชียงแสนขึ้นมาเสมอเชียงใหม่ให้เป็นฐานที่มั่นของพม่า อีกทางหนึ่งก็เพื่อตัดกำลังของเชียงใหม่ลง ทั้งสองเมืองมีสถานะเป็นหัวเมือง (မြို့ myo) ของพม่าโดยตรง  มีเจ้าเมืองเป็น 'เมียวหวุ่น (မြို့ဝန် myowun)' หรือผู้ว่าราชการเมือง บางทีก็ตั้ง 'โป่ (ဗိုလ် bo)' ซึ่งเป็นแม่ทัพมาปกครองเป็นต้น อาจเพื่อสะดวกต่อการใช้กำลังทหารในท้องถิ่น

อังวะถ่ายโอนหัวเมืองของเชียงใหม่ให้มาขึ้นกับเชียงแสนมากขึ้น อำนาจของชนพื้นเมืองถูกลดทอนลงบวกกับการขูดรีดของพม่าทำให้เกิดการต่อต้านหลายครั้ง  จนกระทั่งชาวล้านนานำโดยเทพสิงห์จากเมืองยวม (อ.แม่สะเรียง) ก่อกบฎล้มอำนาจมังแรนร่า โป่พม่าที่ขูดรีดภาษีได้ใน พ.ศ.๒๒๗๐ แต่เทพสิงห์เองก็โหดเหี้ยมมาก ทำให้ขุนนางพม่ามอญและล้านนาบางส่วนไปพึ่งเจ้าองค์นก (องค์คำ) จากหลวงพระบางมาล้มเทพสิงห์ แล้วอัญเชิญองค์คำขึ้นครองเมืองเชียงใหม่

เชียงใหม่ในสมัยองค์คำล้านนาแยกเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อพม่า จนกระทั่งถูกพม่าราชวงศ์กงบ่องตีแตกในสมัยพระเจ้ามังลอกโดยอะภะยะกามณี (โป่อะเกียะคามุนี) และมังละสิริ (คือมังมหานรธาที่มาตีอยุทธยา) เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๖ โป่อะเกียะคามุนีได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่


สมัยกงบ่อง
ช่วงนี้ล้านนาค่อนข้างจลาจล ในขณะที่เชียงใหม่และเชียงแสนเป็นของพม่า ล้านนาบางเมืองก็แยกตนเป็นอิสระเช่น ลำพูน ลำปาง วังพร้าวเป็นต้น เมืองเหล่านี้ได้รบต่อต้านพม่า บางทีก็รบกันเอง บางเมืองก็ไปชักนำพม่าเข้ามา เช่นเจ้าฟ้าชายแก้วบิดาเจ้ากาวิละได้อาศัยกำลังพม่าเพื่อแย่งเมืองลำปางเป็นต้น แม้กบฏชนพื้นเมืองจะถูกพม่าปราบปรามบ้างแต่ก็ไม่ได้สงบ และมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด

ในยุคนี้เจ้าเมืองเชียงใหม่และล้านนาอีกหลายเมืองจะถูกปกครองโดย 'โป่' เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีหลักฐานว่าโป่เหล่านี้ปกครองอย่างขูดรีดกดขี่ข่มเหงชาวล้านนามาก ล้านนาถูกใช้เป็นฐานเกณฑ์ผู้คนและทรัพย์สินเพื่อเป็นกำลังให้พม่าในการตีอยุทธยา ขุนนางล้านนาเองก็ถูกลิดรอนอำนาจการปกครองลง ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนก็หนีเข้าป่าไปตั้งซ่องโจรรบกันเองบ้าง

พ.ศ.๒๓๑๒ โป่อะเกียะคามุนีตาย อังวะได้ตั้งข้าหลวงคนใหม่คือสะโตมังถ่างหรือตะโดมิงถิ่ง (သတိုးမင်းထင် Thado Mindin) อดีตแม่ทัพที่เคยคุมทัพชาวล้านนามาตีอยุทธยา คนผู้นี้ล้านนาเรียก 'โป่หัวขาว' ไทยภาคกลางเรียก 'โปมะยุง่วน'

ซึ่งยุคนี้ก็ปรากฏว่ามีการลิดรอนอำนาจขุนนางล้านนาเหมือนเดิม และเกิดกรณีพิพาทกับขุนนางพื้นเมืองหลายครั้งถึงขั้นรบกันกลางเมืองเชียงใหม่เช่นรบกับเชคคาย*น้อยพรหมและพระยาจ่าบ้าน(บุญมา) แม้ว่าพระเจ้ามังระจะพยายามให้ขุนนางล้านนามีสิทธิได้บริหารบ้านเมือง แต่พวกโป่ทั้งหลายก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายและยังคงปกครองกันตามอำเภอใจ ตัวโปมะยุง่วนเองก็ไม่รู้จักประสานไมตรีขุนนางคนท้องถิ่น จนสุดท้ายก็ทำให้ขุนนางล้านนาอย่างพระยาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละหันไปสวามิภักดิ์ไทยสยามในที่สุดครับ

มรดกจากพม่าในยุคโปมะยุง่วนที่ล้านนาได้มาคือธรรมเนียมการสักขาดำของผู้ชายและการขวากหูของผู้หญิง ซึ่งพม่ายุคนั้นได้บังคับให้ชาวล้านนาปฏิบัติตาม และกลับกลายมาเป็นค่านิยมของชาวล้านนาในยุคหลังครับ

ปู่ม่านย่าม่าน จิตรกรรมวัดภูมินทร์ จ.น่าน



*เชคคาย หรือ จักกายมาจากภาษาพม่าคือ สิตแก (sitke-จจ์ไก) เป็นตำแหน่งผู้ช่วยทางทหารของเมียวหวุ่นประจำเมืองต่างๆ (ไทยมักเรียกว่า 'ปลัด') ในล้านนามีปรากฏว่าเป็นทั้งชาวไทยและพม่า  ในกรณีน้อยพรหม ดูจากชื่อแล้วเป็นคนไทยล้านนาครับ (น้อย เป็นคำนำหน้าชายที่เคยบวชเณรแต่ไม่เคยบวชพระ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่