หมอมะเร็งอยากบอก ตอน รับมือกับความรู้สึกต่างๆระหว่างที่เป็นมะเร็ง

กระทู้สนทนา
หมอมะเร็งอยากบอก ตอน รับมือกับความรู้สึกต่างๆระหว่างที่เป็นมะเร็ง

บทความต่อไปนี้แปลและดัดแปลงจากคำแนะนำ ในเรื่อง ข้อมูลและคำแนะนำที่หมอโรคมะเร็งรับรองว่าถูกต้องและเหมาะสมโดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา

โรคมะเร็งไม่ได้เป็นเพียงโรคที่มีผลร้ายต่อร่างกายผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วยและบุคคลรอบข้างอย่างมาก นอกจากตอนที่รับรู้ว่าเป็นมะเร็งครั้งแรก ผู้ป่วยและญาติยังอาจต้องเผชิญกับข่าวร้ายต่างๆระหว่างการรักษาและภายหลังการรักษา จึงเป็นการดีที่เราจะเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกต่างๆและใช้มันเป็นแรงคลับเคลื่อนในทางบวก แม้จิตใจอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการรักษาโรคมะเร็ง แต่จิตใจที่ดีย่อมทำให้ผลการรักษานั้นดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้

การไม่ยอมรับความจริง ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกผิด ความเศร้า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ได้รับทราบข่าวร้าย แต่บางคนอาจไม่เกิดขึ้น บางคนอาจมีเพียงบางอย่าง บางคนอาจมีหลายอย่างปนเปกัน ลองมาดูกันว่าเราจะรุ้เท่าทันและใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

1 ไม่ยอมรับความจริง
มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่สุขภาพแข็งแรงดีมาตลอดหรือดูแลตนเองเป็นอย่างดี(ที่คิดว่าดี) หลายคนจะช็อค ยอมรับไม่ได้ในครั้งแรกที่หมอบอกว่าคุณเป็นมะเร็ง ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้ยิ่งคนที่คิดว่าตนเองดูแลสุขภาพดีมาตลอด มันไม่ควรเกิดขึ้น ความรู้นี้มีผลเสียที่สำคัญคืออาจทำให้เกิดความล่าช้าในการรักษาเพราะมัวแต่ไปพยายามตรวจยืนยันในสิ่งที่ยืนยันแน่นอนแล้ว หรือ ในบางคนอาจหนีหายไม่ยอมรับการรักษาอื่นๆต่อ

เราสามารถปรับเปลี่ยนความรู้สึกนี้ไปในทางบวกได้โดยใช้ความรู้สึกนี้เป็นแรงขับในการพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เป็น พูดคุยกับหมอให้มากที่สุดถึงรายละเอียด การยอมรับให้ญาติหรือคนไข้(แล้วแต่ว่าใครจะรู้ก่อน)ทราบถึงการเป็นโรคมะเร็งจะช่วยให้สามารถช่วยกันหาข้อมูลมากขึ้น ยอมรับได้ง่ายขึ้น ไม่หลอกตัวเอง

ความรู้สึกนี้ในอีกด้านหนึ่งเป็นสิ่งดีที่จะช่วยให้คุณรอบคอบมากขึ้น ฉุกคิดมากขึ้น แต่ทว่าคนเรามักไม่ใช้ในเรื่องที่ดูดี ดังนั้นในการหาข้อมูลต้องฉุกคิดให้มากๆๆเวลาที่พบอะไรที่ดูดี เพราะคุณอาจกำลังโดนหลอกอยู่ได้

บางคนอาจมีการต่อรองขึ้นมาเช่น ขอลองไปตรวจที่โน่นให้แน่ใจก่อน ขอลองทำอย่างนี้ก่อน การมีคู่คิดจะช่วยให้สามารถคัดกรองได้ว่าการต่อรองนั้นสมเหตุผลหรือไม่ หรือเป็นแค่การถ่วงเวลาที่จะต้องยอมรับ ลองพูดคุยกับหมอที่รักษาว่าการตรวจยืนยันอย่างอื่นยังจำเป็นหรือไม่ หรือมีอะไรที่จำเป็นหรืออาจเป็นประโยชน์ในการตรวจยืนยัน จะดีกว่าการไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

2 ความโกรธ
เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง หลายคนอาจเกิดความรู้สึกโกรธออกมาได้เพราะมันเป็นสิ่งที่รบกวนชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นธรรมดาที่แผนการต่างๆอาจพังทลายลงมาเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็ง ความคาดหวังต่างๆจะยิ่งเป็นแรงผลักให้ความโกรธทวีความรุนแรง หลายคนอาจแสดงออกความโกรธเป็นอารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย บางคนอาจเริ่มโทษคนอื่น(แม้ว่าบางครั้งอาจเป็นความจริงก็ตาม) ปัญหาที่สำคัญคือ ความโกรธเป็นอารมณ์ที่รุนแรงสามารถบั่นทอนความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ง่าย ทำให้มีความอดทนต่อสิ่งต่างๆได้น้อยลง(รวมถึงการรักษา) บางครั้งเมื่อไม่รุ้จะโกรธใครอาจหันกลับมาโกรธตนเองทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้

ในทางกลับกันหลายคนอาจใช้ความโกรธเป็นแรงขับเคลื่อนให้ร่างกายกระฉับกระเฉง นำไปสุ่ร่างกายและจิตใจที่พร้อมกับการรักษา หากคุณรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมอารมรณ์ให้อยู่นิ่งได้ หรือ ไม่สามารถอดทนต่อสิ่งต่างๆได้ คุณอาจกำลังมีความโกรธสะสมอยู่ในใจ

คำแนะนำที่สำคัญคือคุณต้องรู้เสียก่อนว่าคุณกำลังมีความรู้สึกเช่นนั้นอยู่ ความรู้สึกโกรธเหมือนไฟรอไว้นานจะร้อนแรงอาจระเบิดได้จึงควรที่จะมีการระบายออกมาเป็นระยะในวิถีทางที่ถูกที่ควร เช่น การพูดคุยถึงความรู้สึกที่มีกับคนสนิทที่เข้าใจ ไม่ระบายความรู้สึกลงบนคนไม่ว่าทางกายหรือวาจา ระบายออกทางกายเช่นออกแรงระหว่างการออกกำลังกาย ชกหรือทุบหมอนนุ่มๆ ตะโกนสุดเสียงในที่ที่เป็นส่วนตัว

3 ความรู้สึกผิดโทษตนเอง
ผู้ป่วยโรคมะเร็งและญาติอาจมีความรู้สึกผิดต่อสิ่งที่เป็นได้จากหลายสาเหตุหลายรูปแบบ ความคิดเช่นนั้นอาจจะนำไปสู่เหตุการณ์วนเวียนของคำว่า "ถ้าเกิดว่า...." หรือ "ถ้าเพียงแต่ว่า...." จมอยู่กับความคิดที่ว่าทกอย่างจะเปลี่ยนไปเพียงทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ความรู้สึกผิดนี้มาได้หลายรูปแบบเช่น
- คุณอาจคิดว่าคงจะดีกว่านี้ถ้าใส่ใจอาการต่างๆมากกว่านี้ หรือ เพียงถ้ามาพบหมอเร็วกกว่านี้
- คุณอาจกลัวว่ากำลังเป็นภาะระของครอบครัวและคนรอบข้าง
- คุณอาจรู้สึกผิดที่ผลการรักษาออกมาไม่เป็นไปตามที่หวัง
- คุณอาจรู้สึกผิดไปกับเงิน งาน เวลาของครอบครัวที่หมดไปกับการรักษาของคุณ
- คุณอาจจะรู้สึกผิดต่อเพื่อนร่วมโรคมะเร็งเมื่อเขามีผลการรักษาที่ไม่ดี
- คุณอาจรุ้สึกผิดและแย่ที่คุณเคยใช้ชีวิตในความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งนั้นๆ

ขณะเดียวกันคนในครอบครัวก็อาจรู้สึกว่า
- รู้สึกผิดที่ตัวเองแข็งแรงในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วย
- รู้สึกผิดที่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากกว่านี้
- รู้สึกผิดที่ตนเองแสดงออกถึงความรุ้สึกเศร้าหรือเหนื่อย

ความรุ็สึกเหล่านี้มีผลเสียร้ายแรงมาก สามารถนำไปสุ่ความหดหู่ซึมเศร้า  หมดอาลัยตายอยาก ไม่อยากรักษาต่อ ความรู้สึกที่มากพออาจทำให้อยากหยุดการรักษาเพราะรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าที่จะอยู่ต่อไป บางครั้งอาจทำให้กลัวว่าจะไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอเพราะตัวเองไม่คู่ควร ญาติๆก็อาจพยายามผลักดันผู้ป่วยไปสุ่การรักษาที่ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกับผู้ป่วยเพื่อให้ตนเองพ้นความรู้สึกผิดที่ไม่ได้ช่วยเหลือ

ดังนั้นนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผู้ป่วยและญาติควรทราบถึงโรคที่เป็นและมีการพูดคุยกัน ทำความเข้าใจกัน เพราะความรู้สึกเหล่านี้มันยากจะแสดงออก ยิ่งปกปิดยิ่งบอกยากและมันจะคอยหลอกหลอนไปตลอด

แม้ว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีความคิดเหล่านี้แว่บเข้ามาในหัวแต่ไม่เป็นการดีต่อใครทั้งสิ้นที่จะจมอยู่กับวามรู้สึกแบบนี การปล่อยวางความรู้สึกผิดจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นทั้งกายใจครับ

โปรดจงพยายามที่จะ
- คิดไว้เสมอว่ามะเร็งไม่ใช่ความผิดของคุณ หรือว่าใครทั้งสิ้น
- ปล่อยวางความผิดพลาดที่เคยทำ ร้จักให้อภัยตนเองและผู้อื่น
- ระลึกเสมอว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยว มีคนอีกมากที่เป็นเหมือนคุณ
- จงรู้ว่าความคิดเหล่านี้เป็นแค่อารมณ์ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
- ระบายความรู้สึกผิดกับคนที่ไว้ใจได้
- คิดถึงสิ่งดีๆที่เคยได้ทำไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
- หากิจกรรมร่วมกับผู้อื่นที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
- หากไม่สามารถจัดการได้โดยลำพัง โปรดมองหากลุ่มคน หรือ วิชาชีพเฉพาะที่ดูแลและสามารถให้คำปรึกษาเช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคเดียวกัน สมาคมเพื่อผุ้ป่วย นักจิตวิทยา ฯลฯ

4 กังวลและซึมเศร้า
ความรู้สึกกลัว กังวลกับโรคมะเร็ง การรักษา ผลข้างเคียง อนาคตที่ไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ปกติตลอดกระบวนการรักษาและตามหลังการรักษา (เช่นกลัวมะเร็งจะกลับมา) การปรึกษากับผู้อื่น การรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง จะลดโอกาสการเกิดความรู้สึกเช่นนีได้ ความกลัวส่งผลต่อการรักษาได้หลายทางทั้งจากการตัดสินใจการรักษา ซึ่งมักจะไม่กล้าตัดสินใจ หรือไม่ยอมรับการรักษาเพราะกลัวผลข้างเคียง(โดยมักลืมดูว่าหากไม่รักษาจะเป็นเช่นไร) หรืออาจส่งผลให้ผลข้างเคียงหลายอย่างรุนแรงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นเช่น ความอ่อนเพลีย อาการนอนไม่หลับ ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะต้องรับรู้ว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้และเราสามารถเอาชนะมันได้ เช่น การนั่งสมาธิ ฝึกจิตใจ โยคะ สะกดจิต หรือ พูดคุยกับคนรอบข้างคุณ อย่าลังเลที่จะพูดคุยกับคนที่คุณไว้ใจเพราะอาจจะเป็นการช่วยให้ทั้งสองฝ่ายผ่อนคลายลดความกังวลได้ บางครั้งกลุ่มผู้ป่วยการให้ข้อมูลและกำลังใจที่ดีมีประโยชน์กับคุณได้เช่นเดียวกับผู้ให้คำปรึกษาที่ฝึกมารับมือกับปัญหาเหล่านี้ ในคนที่เป็นมากยาอาจช่วยคุณได้ อย่าลังเลที่จะแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของคุณกับแพทย์ที่ดูแล

ความกลัว ความกังวลที่ฝังรากลึกหรือทับถมเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ ภาวะซึมเศร้าไม่ได้มีเพียงแค่ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ แต่อาจแสดงออกมาเป็นการปลีกแยกจากสังคม เพื่อนฝูง คนรอบข้าง อาจแสดงออกมาเป็นปัญหาด้านความจำ สมาธิ ความคิดด้านลบ บางรายอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย นอกจากนี้อาจแสดงออกมาเป็นอาการทางกายเช่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ เบื่ออาหาร

การรักษานอกจากวิธีการต่างๆข้างต้นบางครั้งหมอของคณอาจแนะนำการปรึกษาจิตแพทย์หรือใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า

5 ยอมรับและไปต่อ
ในที่สุดเมื่อสามารถผ่านความร้สึกด้านลบเหล่านี้มาได้ก็จะเกิดวามรู้สึกด้านบวกขึ้นมาในการยอมรับในสิ่งที่เป็นและพร้อมจะไปต่อกับอนาคตข้างหน้า การก้าวผ่านตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งไม่ดีต่างๆได้ผ่านพ้นไปแล้วเสมอไป หลายคนยังรุ้สึกกับความโกรธ ความกลัว ความกังวลอยู่ และรับรุ้ในมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม มองเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้และผลักดันตนเองไปในทางที่ดีต่างๆ หลายคนเรียนรู้ที่จะแบ่งปันความรู้สึกกับคนใกล้ชิด หลายคนสามารถวางเป้าหมายใหม่(ที่เหมาะสม)ในอนาคตได้ หลายคนเรียนรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆในชีวิตมากขึ้น หลายคนรู้สึกแข็งแรงและมีกำลังใจมากขึ้น อย่าลืมที่จะรักาาความรู้สึกเหล่านี้ไว้ด้วยการหมั่นทบทวนและรู้เท่าทันความรู้สึกด้านลบข้างต้น จดบันทึกในสิ่งที่ดีๆและสิ่งที่แย่ๆที่สามารถเอาชนะมันมาได้

*** สุดท้ายหากคุณพร้อมคุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ดีได้ด้วยการเป็นผู้แบ่งปันกับผู้อื่นที่เขาอาจกำลังเผชิญปัญหาที่คุณได้ก้าวผ่านมาแล้ว ช่วยให้เขาเหล่านั้นก้าวผ่านมาได้เช่นเดียวกับคุณ ***

ปล.ตอนเก่าๆ
การรักษาเสริมเช่น สมุนไพร ยาผีบอก ดีท็อก วิตามิน
http://pantip.com/topic/30259559

เคล็ดลับการพาผู้ป่วยมเร็งไปเที่ยว
http://pantip.com/topic/30232170

เริ่มอย่างไรดีเมื่อเป็นมะเร็ง
http://pantip.com/topic/30231737

อาหารการกินระหว่างรักษามะเร็ง
http://pantip.com/topic/30218427

*แก้พิมพ์ผิด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่