"ปมเขื่อง" จิตวิเคราะห์แบบพุทธ วาทะพุทธทาส

เมื่ออัสมิมานะมีก็คือปมเขื่องมี สัญชาตญาณแห่งการขยายพันธุ์ นั้นเป็นแต่เพียงความต้องการขยายตัวของปมเขื่องให้กว้างออกไป หรือสร้างตัวแทนช่วยกันแสดงความเขื่องเป็นวงกว้างออกไป กามารมณ์อันเนื่องด้วยการสืบพันธุ์ ก็เป็นเพียงความต้องการจะแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ในทางตามใจตัวเองของปมเขื่อง ด้วยการให้ถูกบำเรอจากสิ่งแวดล้อม (แต่แล้วก็ต้องถูกลงโทษด้วยการต้องลำบากบางอย่าง) การรักลูกและเลี้ยงลูก คือความต้องการจะให้เป็นไปตามความต้องการในการที่จะเผยแพร่ความเขื่อง จึงไม่มีความรู้สึกว่าเสียความเขื่องไปในการต้องทนลำบากเพราะเหตุนี้ สัญชาตญาณแห่งการหาอาหารเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ในทางหล่อเลี้ยงตัวเอง หรือความเขื่องของตัวเองด้วยการกินผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เพราะความเห็นแก่ตัวของปมเขื่อง โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้อื่นจะถูกกิน สัญชาตญาณแห่งการป้องกันตัว โดยทางต่อสู้หรือหนีภัยก็ตาม เป็นการสงวนตัวเองของปมเขื่อง ถ้าในกรณีที่เห็นว่า ความเขื่องของตัวขึ้นอยู่กับผู้อื่น การต่อสู้อาจจะถึงกับสละชีวิตตัว เพื่อความอยู่ของผู้อื่นก็ได้ การต่อสู้ทั้งหมดทุกๆ อย่าง จึงถือความต้องการจะเขื่องของปมเขื่องทั้งสิ้น หรืออย่างน้อยก็เพื่อรักษาเอาความเขื่องไว้ที่ สัญชาตญาณแห่งการรุกรานเมื่อได้โอกาส มีความหมายทำนองเดียวกับสัญชาตญาณแห่งการสืบพันธุ์ ที่เนื่องด้วยกามารมณ์ กล่าวคือการแผ่อำนาจตามใจตัวเพื่อให้ถูกบำเรอ การรุกรานนั้นมิใช่เพื่อกามารมณ์ล้วนๆ แต่เพื่อสัญชาตญาณที่มีอำนาจแรงกล้า เป็นสมบัติประจำตัวของอัสมิมานะ หรือปมเขื่อง อาชญากรรมคือการรุกราน จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เหตุนี้เองชีวิตทุกชีวิตจึงมีปรกติสันดานไม่ชอบคู่แข่งขัน ที่แสดงตนออกมาด้วยอาการสักว่าปรากฏขึ้นในสายตา และมีความริษยาคุ่แข่งขันเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุเพียงสักว่าได้เห้นกันด้วยตาเท่านั้น และอาจจะเกลียดชัง แม้แก่คู่สืบพันธุ์ขึ้นมาได้ทันที ในเมื่อคู่สืบพันธุ์ฝ่ายหนึ่งทำตัวเป็นคู่แข่งขัน ทั้งนี้ด้วยอำนาจของ "ปมเขื่อง" หรืออัสมิมานะที่ต่างชีวิตต่างมีนั่นเอง

          สำหรับสิ่งที่เรียกกันว่า "มิตรภาพ" นั้น เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้น ในเมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า ต่างฝ่ายต่างจะช่วยหล่อเลี้ยงปมเขื่องของกันและกัน เมื่อฝ่ายใดแสดงอาการผิดไปจากนี้ ความรู้สึกที่เป็นมิตรภาพของอีกฝ่ายหนึ่งจะหมดไปทันที แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งยอมตัวลงไปเป็นผู้หล่อเลี้ยงปมเขื่องของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้มากกว่าธรรมดา หรือมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งให้มาแล้ว มิตรภาพของอีกฝ่ายหนึ่งก็จะทวีขึ้นจนกลายเป็น ความรัก หรือ ความเอ็นดูปรานี ไป เมื่อสุนัขตัวหนึ่งหมอบกรานเข้าไป แม้จะเป็นสุนัขพลัดถิ่นมา สุนัขอีกตัวหนึ่งก็ปรานีหรือยอมรับเป็นลูกน้อง สุนัขตัวเล็กหรือตัวเมีย ที่กล้าไปสัมผัสจมูกสุนักหัวโจกได้ ก็เพราะมันแน่ใจว่า สุนัขหัวโจกยอมรับรองในความมีปมเขื่องของมันด้วยเหมือนกันแล้ว เราจะเห็นได้ว่ากฎเหล่านี้เหมือนกันทั้งคนและสัตว์ แต่ที่มีในคนนั้น แนบเนียนกว่ามากมาย เพราะคนมีมารยามากกว่าสัตว์

สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นสิ่งพิเศษ มีค่า อย่างความรัก และมิตรภาพ ที่แท้มันก็ไม่มีค่าอะไร เป็นเรื่องระบบการทำงานของปมเขื่องในตัวเอง  อ่านแล้วอึ้งนิ่งไปครู่ใหญ่ บทความนี้เหมือนเป็นการลอกเปลือกสวยงามของมนุษย์ ให้เห็นเนื้อในที่แท้จริง อันน่าขยะแขยง  พอดีผมกำลังจิตตก กำลังมีความรู้สึกว่า เพื่อนที่เราสนิทไม่อยากให้เราเก่ง หรือเด่นเกิน แล้วไม่ทราบอะไรดลใจ ให้ค้นหาเรื่องปมเขื่อง

ความจริงมันไม่สวยงามใช่ไหมครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่