*** set ไทยใช้อะไรเป็นเดิมพันอยู่ เศรษฐกิจของประเทศหรือเปล่า ?มีเเผนอะไรรับมือไหม หากไม่เป็นตามที่คิด***( by :robinhood)




นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นโยบายทางด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐ ยังคงเน้นการขยายตัวของสินเชื่อ แม้ว่าปัจจุบันตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของแบงก์รัฐจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ หากแบงก์รัฐชะลอการให้สินเชื่อ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมผลกระทบ ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น

"ไทยเคยมีประสบการณ์เวลามีปัญหาแล้วไปหยุด ไม่ยอมทำอะไร ปัญหายิ่งแย่ลง ถ้ารู้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี ส่งออกไม่ได้ แล้วให้แบงก์รัฐหยุดปล่อยกู้ ทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น ต้องรีบเข้าไปช่วย เพราะเอสเอ็มอีเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจไทย หากเอสเอ็มอีฟื้นกลับมาได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีเลิศสำหรับเศรษฐกิจ ตอนนี้ถ้าแบงก์รัฐหยุดปล่อยสินเชื่อ จากผู้ประกอบการที่ยังไม่ตาย ทำให้ตายทันที" นายกฤษฎากล่าว

นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า การดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งหลังปี 2558 จะเป็นไปด้วยความลำบากมากขึ้น เพราะต้องใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจ และปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบกับกลุ่มเกษตรกร ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้

"ลูกค้าธนาคารได้รับผลกระทบมากจากปัญหาเศรษฐกิจ จากช่วงไตรมาสแรกที่ยอดขายลดลง 35% แต่ไตรมาส 2 ลดลงอีก 5% เมื่อรวมแล้วเท่ากับยอดขายลดลงกว่า 40% ทางธนาคารได้ช่วยเหลือด้วยการชะลอการคืนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งดอกเบี้ยและผ่อนผันการชำระหนี้ให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ แม้จะทำให้ผลประกอบการของธนาคารลดลง ก็ต้องรับสภาพเพราะเป็นแบงก์รัฐ" นายสุพจน์กล่าว และว่า ยังมั่นใจผลดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์ปี 2558 จะมีกำไรตามเป้าหมาย 1,200 ล้านบาท ซึ่งช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรแล้ว 500 ล้านบาท

นายสุพจน์กล่าวว่า ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่ ธนาคารต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการโรงสี กลุ่มผู้ประกอบการอพาร์ตเมนต์ ที่พัก และโรงแรม และกลุ่มเกษตรกรสินค้าเกษตรแปรรูป เนื่องจากการท่องเที่ยวชะลอจากช่วงโลว์ซีซั่น และอาจมีผลกระทบจากการระบาดของโรคเมอร์ส ส่วนกลุ่มเกษตรแปรรูป ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง พืชผลเกษตรออกมาน้อย ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อที่เติบโตดีคือกลุ่มค้าปลีกรายย่อยในต่างจังหวัด และก่อสร้างขนาดเล็กที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะภาคตะวันตออกเฉียงเหนือเติบโตสูงสุดรับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

"แม้ต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่การช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีต้องดำเนินการต่อไป โดยในการปล่อยสินเชื่อต้องคิดให้ดีว่าจะไม่เสี่ยงต่อเอ็นพีแอล" นายสุพจน์กล่าว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่