กยศ. เตรียมเข้มสถานศึกษาไหนมีผู้ค้างชำระมาก จะปล่อยให้กู้น้อยลง (ไม่เห็นจะจัดการอะไรจริงจังสักที)

วันนี้ (21 ส.ค.) ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 1 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการจ่ายเงิน กยศ. ประจำปีการศึกษา 2557 โดยมีจำนวนผู้กู้ยืมทั้งรายเก่า และรายใหม่ รวม 154,630 คน จำนวนเงินกู้ยืม 972,094,401 บาท โดยเป็นผู้กู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 1 คือระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับอนุปริญญาที่ไม่ได้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จำนวน 114,738 คน จำนวนเงินกู้ยืม 712,035,581 บาท นอกจากนี้ยังได้หารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาผู้ค้างชำระเงินกู้กยศ. ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 50% ของจำนวนผู้ครบกำหนดชำระหนี้ทั้งหมด โดยที่ประชุมเห็นว่าควรต้องมีการกำหนดมาตรการติดตามหนี้สินให้มีความเข้มข้นขึ้น โดยเบื้องต้นได้ขอให้ธนาคารกรุงไทย จัดทำข้อมูลผู้กู้ทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบ เช่น จำนวนผู้กู้ที่อยู่ระหว่างศึกษา จำนวนผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระ จำนวนผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ย จำนวนผู้กู้ที่ปิดบัญชี โดยขอให้รายงานทุกไตรมาส และให้แยกเป็นรายสถานศึกษา ซึ่งทางธนาคารกรุงไทย ขอเวลาในการปรับฐานข้อมูลเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถรายงานข้อมูลได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นไป

“เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว ทาง กยศ. จะมีมาตรการที่เข้มข้นกับสถานศึกษามากขึ้น โดยหากพบว่า สถานศึกษาใดมีจำนวนผู้ค้างชำระมากที่สุด ต่อไปก็จะได้รับการพิจารณาปล่อยกู้ในจำนวนที่น้อยลง ขณะเดียวในอนาคต กยศ.อาจต้องปล่อยกู้ให้ยากขึ้น และสร้างระบบการชำระเงินคืนให้ง่าย ซึ่งตรงนี้สถานศึกษาเองต้องมีมาตรการในการคัดกรองผู้กู้ และพิจารณาปล่อยกู้ให้เฉพาะผู้ที่มีความจำเป็น และมีฐานะยากจนจริงๆ” ปลัด ศธ. กล่าวและว่า ที่ประชุมยังได้รับรายงานผลการตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน กยศ.ของสถานศึกษาในภาคเหนือ และภาคกลาง โดยภาพรวมพบปัญหาว่า วงเงินจัดสรรไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้กู้ มีการจัดสรรเงินกู้ให้ระดับปวช.มากเกินไป ทั้งที่ ม.ปลายมีความต้องการมากกว่า ระบบติดตามหนี้ยังไม่เหมาะสม และกยศ. ติดต่อประสานงานได้ยาก ซึ่งกรณีนี้ที่ประชุมเสนอให้มีการจัดทำสายด่วน กยศ. เพื่อให้สามารถติดต่อกับกยศ. ได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ขอให้คณะกรรมการตรวจเยี่ยมฯ สรุปปัญหาและอุปสรรคในการกู้ยืม และการชำระเงินทั้งหมด ภายหลังตรวจเยี่ยมครบ 5 ภาค มารายงานต่อที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาในภาพรวมต่อไป โดยในปี2558 จะต้องเร่งสร้างระบบบริหารจัดการ การปล่อยกู้รวมถึงระบบติดตามหนี้สินให้มีความเข้มข้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น.

เดลินิวส์

ออกข่าวมาเป็นปี จะมีมาตราการอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เห็นจัดการอะไรเป็นเรื่องเป็นราวสักที  นี่ต้องมาให้ ธ.กรุงไทย ปรับฐานข้อมูลอีก เหมือนกับไม่เคยเตรียมพร้อมที่จะจัดการอะไร แล้วเมื่อไรจะได้เงินกู้คืน

พรุ่งนี้ลองฟ้องแล้วยึดทรัพย์ ยึดปริญญาสักรายสองราย รับรองที่เหลือรีบส่งคืนทันที (ขอให้ คสช. ออกกฎหมายพิเศษให้ง่ายดีออก)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่