ทำไมนวนิยายกำลังภายในหลายเรื่องถึงได้รับอิทธิพลจากนวนิยายตะวันตกอ่ะครับ ดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย

กระทู้คำถาม
อ่านเจออย่างมังกรแก้วก็มาจาก The Count of Monte Cristo
ฤทธิ์มีดสั้นก็มาจาก Gunfight at the o.k. corral

งงมากเลยครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
คนที่แสดงออกชัดเจนที่สุดว่าได้รับอิทธิพลของนิยายและภาพยนต์จากฝั่งตะวันตกน่าจะเป็นโกวเล้ง ที่นวนิยายของเขาช่วงหนึ่งนำมาใช้ทั้งพล็อตเรื่องและตัวละครเลย เช่น "เดชอุกกาบาต" ซึ่งเป็นชื่อแปลครั้งแรกของ "ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่" จากเรื่อง The God Father, ชอลิ้วเฮียง จาก "อาแซน ลูแปง" จอมโจรฝรั่งเศส เป็นต้น ข้ออ้างของโกวเล้งที่ใช้วิธีนี้สะท้อนจากบทความของเขาที่เขียนเอาไว้ว่า พล็อตเรื่องของนิยายกำลังภายในล้วนซ้ำซากและตีบตัน นักเขียนจะต้องรู้จักแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อยกระดับนิยายกำลังภายในให้มีคุณค่ามากขึ้นในสายตาของคนอ่านทั่วๆไป ซึ่งก็ได้ผลในระดับที่โกวเล้งกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของวงการนักเขียนนิยายกลุ่มนี้ไปเลย แนวทางของโกวเล้งคือการ "ดัดแปลง" แล้วห่อหุ้มด้วยคำคมหรือปรัชญาจีนเหมือน "ขนมเปี๊ยะไส้ช็อคโกแล็ต"

แต่นักวิจารณ์ก็ยังขัดเขินที่จะยกย่องโกวเล้งด้วยนิยายกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะอ้างอิงและยกย่อง "ฤทธิ์มีดสั้น" และ "เซียวฮื้อยี้" ให้เป็นผลงานที่ส่งเสริมเกียรติคุณของโกวเล้งมากกว่า เพราะถึงแม้จะมีร่องรอยของนิยายตะวันตกเจือปนอยู่บ้างแต่ก็มีเอกลักษณ์ของจีนเข้มข้นกว่า พวก "วีรบุรุษสำราญ" นั้นไม่ค่อยเอามาพูดถึงทั้งๆที่หากตัดประเด็นการเอาเรื่อง Totilla Flat ของจอห์น สไตน์เบ็คมายำทั้งเรื่องแล้ว นิยายเรื่องนี้แทบจะเป็น "วรรณกรรม" ได้เลย

ในยุคหลังๆจะเห็นร่องรอยของความเป็นตะวันตกแฝงในลีลาการเขียนของนักเขียนจีนรุ่นใหม่ๆมากกว่าจะเอาพล็อตมาใช้จริงๆ เช่น เจิ้งฟง, หวงอี้ และอื่นๆอีกหลายคนสืบทอดการใช้วิธีเขียนสลับฉากแบบบทภาพยนต์มาจากโกวเล้ง หรือ "จิ่วถู" ที่ผมเห็นแนวทางที่คล้ายกับกิมย้งในการผสมผสานระหว่าง "เทคนิค" การบรรยายฉากอย่างละเอียดเร้าอารมณ์ถึงระดับตัวละครของนิยายตะวันตกกับข้อมูลประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นจีนแท้เข้าด้วยกัน ซึ่งตามความเห็นของผมแล้ว แนวทางของกิมย้งที่ใช้เทคนิคจะคงทนต่อกาลเวลามากกว่าแนวทางการ "ดัดแปลง" ของโกวเล้ง

เรื่อง "กระบี่ใจพิสุทธิ์" ที่นักวิจารณ์ลงความเห็นกันว่ามาจากเรื่องเคาน์ออฟมอนเตคริสโต้นั้น กิมย้งเคยเขียนอธิบายว่าท่านได้แรงบันดาลใจมากจากบุคคลจริงในบ้านของท่านเอง ที่คุณปู่ของท่านแอบช่วยให้พ้นคุกเพราะถูกใส่ร้ายอย่างไม่ยุติธรรม คือท่านใช้วัตถุดิบจากเรื่องจริงในชีวิต แต่เทคนิคการเขียนนั้นอาจเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน

เท่าที่เคยอ่านนิยายจีนที่แปลในตลาดเมืองไทย ก็มีแค่ 2 ท่านนี้ที่ชัดเจนและประสบความสำเร็จ ส่วนของนักเขียนคนอื่นๆนั้น "ล้มเหลว"เกือบทั้งหมดครับ อย่างเช่นเรื่อง "เนี่ยเซี่ยวอู่" นี่ชัดมากเลยว่าจาก La Femme Nikita  การใช้วิธีเขียนแบบ close up คือเจาะเข้าใกล้ๆตัวเนี่ยเสี่ยอู่แล้วบีบให้เห็นเหตุการณ์ตามตัวละครตลอดทำให้เครียดและสับสน พอคนแต่งมือไม่ถึงก็พาลทำให้คนอ่านอย่างเกลียดเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆของทุกเรื่องที่เคยอ่านมาเลย หรืออีกเรื่องหนึ่งที่ชื่อ "นักฆ่าที่ 7" ซึ่งแค่เห็นชื่อเรื่องก็นึกออกแล้วว่ามาจากนิยายของ เอียน เฟลมมิ่งเห็นๆเลย

ยังมีอีกบางคนที่ใช้ "ไอเดีย" ของตะวันตกมาดัดแปลงเป็นนิยายบางเรื่องของเขา ตัวอย่างที่เข้าท่ามากคือ "ราชสีห์บู๊ลิ้ม" ของ "ฉิ่นอั๊ง" ที่เอาการแข่งขันกีฬาสากลอย่างโอลิมปิคเกมส์ขึ้นนำเรื่องได้อย่างแนบเนียน เรื่องนี้เขาเขียนฉากแข่งขันกีฬาได้สนุกและกลมกลืนกับการประลองของนักเลงบู๊ลิ้มมาก ใช้รางวัลการแข่งขันมาเป็นประเด็นของเรื่องได้ดีและอ่านสนุก แต่จบไม่ค่อยน่าตื่นเต้น ยังมีอีกเรื่องหนึ่งฉิ่นอั้งคือ "ขุมทองแดนทมิฬ" ที่ดัดแปลงมาจากภาพยนต์เคาวบอยเรื่อง Mckenna's Gold กลับค่อนข้างล้มเหลวน่าผิดหวัง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่