🇹🇭💚มาลาริน💚🇹🇭คู่มือหมอ’ แต่รู้ไว้ก็ดี ‘สู้โควิดนิวเวฟ'/หมอ ยง' คาดคนไทยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 60-70%

กระทู้คำถาม
คู่มือหมอ’ แต่รู้ไว้ก็ดี ‘สู้โควิดนิวเวฟ’ วันนี้มี ‘อัพเดทใหม่?’

เห็นท่าว่าอาจไม่ใช่แค่ “สมอลล์เวฟ” แต่อาจเป็น "นิวบิ๊กเวฟ??" หลังจากทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย เริ่ม "มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมพุ่งสูง" ขึ้นเรื่อย ๆ กับ "มีผู้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น" ซึ่งส่งสัญญาณว่า "สงครามสู้โควิดยังไม่จบ!!"


ดังนั้น กับ “เทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ 2566” การ “ตั้งการ์ดสูง” ตามแนวทางเดิม ก็ “ยังเป็นวิธีสู้ที่ควรต้องใช้” สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ …ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดในไทยมีทีท่ากลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง ในไทยก็ได้มีการ “อัพเดทคู่มือวินิจฉัยและรักษาโควิด-19” โดย คณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19 ในชื่อ “แนวทางปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล” ซึ่งเผยแพร่ไว้เมื่อ 30 พ.ย. ที่ผ่านมานี้เอง

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางปฏิบัติฉบับใหม่ที่คณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19 ได้มีการปรับปรุง หรือ “อัพเดทใหม่” เพื่อให้ใช้เป็น “คู่มือ-แนวทางปฏิบัติ” สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขนั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ โดยจะนำเสนอโดยสังเขปเฉพาะ “บางประเด็น” ที่ก็ “น่ารู้สำหรับประชาชนทั่วไป” ที่มีทั้งที่เดิม ๆ และใหม่ ๆ ดังนี้…👇

เริ่มดูกันที่เรื่องของ “จุดคัดกรอง” ที่ได้มีการให้แนวทางปฏิบัติเอาไว้คือ… 1.ให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยพักรอในบริเวณที่จัดไว้ หรือให้รอฟังผลที่บ้าน และก็อาจรับไว้รักษาในโรงพยาบาล หรือให้รักษาอยู่ที่บ้านแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient Self Isolation) โดยพิจารณาตามอาการของผู้ป่วย 2.พิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน ตามความเหมาะสม 3.การเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อโดยวิธี ATK หรือ RT-PCR นั้น ให้ปฏิบัตตามคำแนะนำของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ถัดมาดูกันที่หัวข้อ “ผลตรวจหาเชื้อ” ที่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้คือ… กรณีตรวจพบเชื้อ ก็จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือรับไว้ในโรงพยาบาล โดยพิจารณาตามอาการของผู้ป่วย กับคำนึงถึงหลักการป้องกันการแพร่เชื้อ ส่วน กรณีที่ตรวจไม่พบเชื้อ มีการกำหนดให้ปฏิบัติตามแนวทางต่าง ๆ ได้แก่… 👇

1.พิจารณาดูแลรักษาตามความเหมาะสม
2.ให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน และให้ระมัดระวังการอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
3.ถ้ามีอาการรุนแรงให้พิจารณารับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาตามความเหมาะสม โดยปฏิบัติตาม droplet precautions ระหว่างรอผลการวินิจฉัยสุดท้าย
4.กรณีอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง ให้พิจารณาส่งตรวจ ATK ซ้ำ รวมทั้งตรวจสาเหตุอื่นตามความเหมาะสม

และกับ “กรณีผู้ป่วยสงสัย” ตามการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค ให้พิจารณาจากผู้ที่มีอาการตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ…👉 1.มีอาการอย่างน้อย 2 อาการ ดังนี้… ไข้ ไอ น้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอ มีเสมหะ,ช 2.มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 1. ร่วมกับอาการถ่ายเหลว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้น 3.มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก มีความผิดปกติในการได้รับกลิ่นได้รับรส สับสน ความรู้สึกตัวลดลง, 4.มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ มีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันรุนแรง 5.แพทย์สงสัยว่าติดเชื้อ 6.มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโควิด

“การรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล”  มีแนวทางปฏิบัติ ได้แก่…👉1.มีไข้ อุณหภูมิกายตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป (วัดได้อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 4 ชั่วโมง ในเวลา 24 ชั่วโมง) 2.มีภาวะขาดออกซิเจน หรือวัดค่าออกซิเจนได้ต่ำกว่า 94% 3.มีภาวะแทรกซ้อน หรือการกำเริบของโรคประจำตัวเดิม 4.มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และไม่มีผู้อยู่ดูแลตลอดทั้งวัน 5.มีภาวะอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามดุลพินิจของแพทย์ 6.ผู้ป่วยเด็ก ให้รักษาในโรงพยาบาล เมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ต้องสังเกตอาการใกล้ชิด ต้องให้สารน้ำ ต้องการออกซิเจน หรือมีอาการซึม กินน้อย มีภาวะขาดน้ำ หรือชักจากไข้สูง

ส่วน “การให้ยาต้านไวรัส” ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ให้เลือกใช้ยาเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเริ่มพิจารณาให้ยานับจากวันที่เริ่มมีอาการ และให้ขนาดยากับจำนวนวันตามคำแนะนำ คือ…👉

“Nirmatrelvir” หรือ “ritonavir” ควรเริ่มใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ จำนวน 5 วัน รวม 10 โด๊ส, “remdesivir” ควรเริ่มใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ จำนวน 3 วัน รวม 3 โด๊ส, “LAAB” ควรเริ่มใน 7 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ จำนวน 1 โด๊ส และ “molnupiravir” ควรเริ่มใน 5 วัน ตั้งแต่มีอาการ จำนวน 5 วัน รวม 10 โด๊ส โดยที่ การเลือกใช้ยาต้านไวรัสขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา ที่อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานพยาบาล

ทั้งนี้ ช่วงท้าย “คู่มือฉบับล่าสุดที่ปรับปรุงใหม่” นี้มีการระบุถึงอีกหนึ่งกลุ่มอาการที่สำคัญ คือ… “อาการ COVID-19 Rebound” ไว้ว่า… อาจพบกรณีที่ผู้ป่วยบางรายอาการดีขึ้นแล้ว แต่กลับมามีอาการใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับยา nirmatrelvir หรือ ritonavir และ molnupiravir ที่สามารถมีอาการกลับมาเป็นใหม่ได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด แต่ผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรง อาการจะดีขึ้นโดยไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส …อย่างไรก็ตาม เหตุนี้จึงเป็น “ที่มาคำแนะนำ” ว่า… เมื่อพ้นระยะ 5 วันแรกแล้ว ควรกักตัวต่ออีก 5 วัน หรือออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น และสวมหน้ากากทุกครั้ง นั่นเอง

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/1757859/

หมอ ยง' คาดคนไทยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 60-70%
7 ธันวาคม 2565 เวลา 7:36 น.



'หมอ ยง' เผยผลวิจัยคาดคนไทยติดโควิดแล้ว 60-70% ชี้การติดเชื้อซ้ำสองมีโอกาส แต่ความรุนแรงจะลดลง แนะหากรับวัคซีนนานเกิน 6 เดือนควรฉีกเข็มกระตุ้น

07 ธ.ค.2565 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด 19 ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วร้อยละ 60 ถึง 70” ระบุว่า👇

จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬา 2 โครงการ โครงการแรกเป็นการศึกษาในเด็กที่อายุ 5-6 ขวบ ในปีที่ผ่านมาโดยมีการตรวจเลือด 2 ครั้งห่างกัน 1 ปี จำนวนประมาณ 190 คน พบว่าในช่วงปีที่แล้ว หรือยุคเดลตา เด็กอายุนี้ใน กทม.ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ (2564) แต่เมื่อมาถึงปีนี้ (2565) มาถึงเดือนนี้ พบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วเพิ่มสูงขึ้นอยู่ระหว่าง 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมด และในจำนวนนี้ 35% เป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือไม่รู้ว่ามีการติดเชื้อ จากการซักประวัติ ไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อ แต่การตรวจเลือดพบหลักฐานของการติดเชื้อ แสดงให้เห็นว่ามีเด็กจำนวนมากที่เกิดการติดเชื้อไปแล้ว เป็นชนิดที่ไม่มีอาการ และไม่รู้ว่ามีการติดเชื้อไปแล้ว

ในขณะเดียวกันการศึกษาร่วมกับทางจังหวัดชลบุรี ทำการตรวจเลือดตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 80 ปี ขณะนี้ตรวจไปแล้ว ประมาณ 700 คน พบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วจากหลักฐานของการตรวจเลือด และประวัติการติดเชื้อ อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 60-70 หลักฐานการตรวจเลือด ถ้าติดเชื้อมานานแล้ว โดยเฉพาะติดเชื้อเกินกว่าหนึ่งปี อาจให้ผลเป็นลบได้ การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปีนี้ ในช่วงของการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน

เมื่อตรวจหาภูมิต้านทาน แอนติบอดี ที่เกิดจากการติดเชื้อหรือจากวัคซีน จะพบว่าประชากรประมาณร้อยละ 95 มีภูมิต้านทานที่ตรวจพบได้ มากบ้างน้อยบ้าง โดยเฉพาะขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าระดับภูมิต้านทานสูงแค่ไหน จึงจะป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้ ประชากรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดได้เคยสัมผัสหรือรู้จักไวรัสโควิด 19 จากการติดเชื้อ หรือวัคซีนมาแล้ว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง

การติดเชื้อมาแล้ว หรือได้รับวัคซีน ตรวจวัดภูมิต้านทานได้ ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก เราจึงเห็นผู้ที่ติดเชื้อครั้งที่ 2 เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยหลักการของระบบภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อครั้งที่ 2 น่าจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับสภาวะของร่างกายในขณะนั้นด้วย

เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำได้ เป็นแล้วเป็นอีกได้ จึงมีเหตุผลเพียงพอสำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนครบ 3 ครั้งแล้ว หรือมากกว่า และฉีดวัคซีนมานานแล้ว หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว และเว้นช่วงมานานแล้ว เช่นนานเกิน 6 เดือน ก็สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อฝึกให้ระบบภูมิต้านทาน รับรู้ในเรื่องของการป้องกันลดความรุนแรงของโรค

วัคซีนแต่ละชนิด ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งในการให้ และการป้องกันลดความรุนแรง จะได้ดีหลังจากฉีดในเดือนแรกๆ และภูมิจะลดลงตามกาลเวลา

การให้เข็มกระตุ้น ควรเว้นระยะห่างจากครั้งสุดท้าย โดยหลักการแล้วยิ่งห่างยิ่งดี หรือรอให้ภูมิต้านทานลดลงก่อนแล้วค่อยกระตุ้น แต่ขณะเดียวกันถ้าเว้นนานเกินไป ก็จะเกิดการติดเชื้อเสียก่อน ระยะเวลาที่ผู้ได้รับครบ 3 หรือ 4 เข็มแล้ว หรือติดเชื้อ มารับการกระตุ้น ควรอยู่ที่ 6 เดือนหรือมากกว่า จะกระตุ้นระดับภูมิต้านทานได้ในระดับที่สูง ในกลุ่มเสี่ยงจะกระตุ้นเร็วกว่านี้สัก 1-2 เดือนก็มีสามารทำได้

https://www.thaipost.net/covid-19-news/278526/

 ติดตามข่าวโควิดเพื่อรู้ทันป้องกันโรคได้ดีค่ะ....
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่