ลำแรกของโลก! 'เรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะ' ระวางแสนตันของจีน เตรียมส่งขายปลาปีนี้

กระทู้คำถาม
เรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะ ระวางน้ำหนัก 100,000 ตัน ลำแรกของโลก พร้อมเริ่มดำเนินการแล้วเมื่อวันศุกร์ (20 พ.ค.) ในเมืองท่าชิงเต่าทางตะวันออกของจีน
.
บริษัท ชิงเต่า คอนซอน เดเวลอปเมนต์ กรุ๊ป จำกัด (Qingdao Conson Development Group) ระบุว่าเรือลำดังกล่าวยาว 249.9 เมตร ใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างราว 450 ล้านหยวน (ประมาณ 2.31 พันล้านบาท) มีห้องเลี้ยงปลา 15 ห้อง ซึ่งมีความจุน้ำเกือบ 90,000 ลูกบาศก์เมตร และสามารถใช้เลี้ยงปลาหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาจวดเหลืองใหญ่ ปลาเก๋า และปลาแซลมอนแอตแลนติก
.
ระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะบนเรือจะสร้างผลผลิตปลาคุณภาพดีรายปีอยู่ที่ 3,700 ตัน ซึ่งเท่ากับปริมาณผลผลิตปลาของทะเลสาบฉากาน หนึ่งในทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของจีน โดยปลาจวดเหลืองใหญ่ชุดแรกที่เลี้ยงบนเรือจะถูกลำเลียงและนำมาจำหน่ายที่ตลาดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้
.
การควบคุมแบบรวมศูนย์และการเฝ้าติดตามน้ำ ออกซิเจน แสง และการให้อาหารแบบเรียลไทม์ในบ่อเลี้ยงปลา จะดำเนินการโดยจุดวัดและจุดควบคุมบนเรือ 2,108 จุด ส่วนความหนาแน่นของปลาที่เลี้ยงในตู้สามารถสูงกว่ากระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิม 4-6 เท่า และตู้ดังกล่าวยังย่นวงจรการเลี้ยงปลาได้มากกว่า 1 ใน 4
.
เฉินจื้อซิน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยเครื่องจักรและอุปกรณ์ประมง สังกัดสถาบันวิทยาศาตร์การประมงจีน กล่าวว่าการดำเนินการเรือลำดังกล่าวผลักดันพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากใกล้ชายฝั่งสู่ทะเลลึก และใช้ทรัพยากรน้ำทะเลคุณภาพสูงในการเพาะเลี้ยง โดยปลาทะเลสามารถเป็นแหล่งโปรตีนจากทะเลที่มีคุณค่าทางโภชนาการและช่วยทดแทนอาหารเสริมสำคัญ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่