*** ประวัติ Holy Land ใน 15 นาที ***

กระทู้สนทนา
ในโลกนี้มีสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ทั้งบริสุทธิ์สูงส่ง และเปื้อนเลือดมากที่สุด

ดินแดนแห่งนี้ถูกยกย่องเป็น “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งผู้คนมากมายต่างอ้างว่าพระเจ้ามอบให้พวกตนครอบครอง

แม้เวลาผ่านไปหลายพันปี จนปัจจุบันดินแดนนี้ก็ยังได้รับการบูชา และและอยู่ในตกอยู่ในวังวนของการเข่นฆ่าแย่งชิงไปพร้อมกัน

ในบทความนี้เราจะไปย้อนดูประวัติศาสตร์ของดินแดนที่ถูกเรียกด้วยนามอันหลากหลาย ทั้ง “คานาอัน,” “ปาเลสไตน์,” “จูเดีย,” หรือ “อิสราเอล” เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวของดินแดนอันพิลึกพิสดารนี้อย่างสั้นกระชับ



*** ยุคตำนาน ***

ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เราพูดถึงนี้มีการเปลี่ยนชื่อไปหลายรอบตลอดประวัติศาสตร์... จากหลักฐานทางโบราณคดีในหุบเขาจอร์แดน พบว่ามีร่องรอยของมนุษย์อาศัยอยู่แถบนี้ตั้งแต่ราว 1.5-1.2 ล้านปีมาแล้ว

ต่อมาในช่วงก่อน 4,500 ปีก่อนคริสตกาล มนุษย์แถบนั้น (นักประวัติศาสตร์ได้เรียกรวมๆ กันว่าเผ่า “คานาอันไนต์”) ได้ค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเป็นนักล่ามาทำการเกษตรและปศุสัตว์ จนมาทำเกษตรแบบเต็มตัวในช่วงยุคทองแดง (ราว 4,500 - 3,500 ปีก่อนคริสตกาล) จากนั้นก็พัฒนาไปจนเป็นเมือง เช่น เอน เอเซอร์ (ปัจจุบันอยู่ในอิสราเอล), เอบลา และ อมูร์รู (ปัจจุบันอยู่ในซีเรีย คือเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน)


ภาพแนบ: Cave of the Patriarchs ที่เฮบรอนในปัจจุบัน เชื่อว่าเป็นที่ฝังศพของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ
 
ตามคัมภีร์พันธสัญญาเดิมของศาสนายิว และคริสต์ระบุว่า วันหนึ่งพระเจ้าเสด็จมาบอกให้ชายชื่อ “อับราฮัม” ซึ่งอาศัยอยู่แถบเมโสโปเตเมีย ออกเดินทางไปสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ พร้อมสัญญาว่าเขาจะได้เป็นต้นตระกูลแห่งชนชาติอันยิ่งใหญ่

อับราฮัมจึงพาครอบครัวมาตั้งรกรากอยู่ ณ แผ่นดินแห่งพันธสัญญาดังกล่าว โดยอยู่ที่เมือง คีรัต อาร์บา ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในบริเวณเมืองเฮบรอนในปัจจุบัน แล้วเริ่มขยายวงศ์วาน

อับราฮัมมีลูกชายคือ “อิชมาเอล” ซึ่งเป็นต้นตระกูลชาวอาหรับ และ “อิสอัค” ซึ่งต้นตระกูลชาวยิว (ชาวยิวกับชาวอาหรับเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันทั้งทาง ภาษา ประวัติศาสตร์ และทางตำนาน แต่เนื่องจากปัจจุบันทะเลาะกันจึงไม่ค่อยนับญาติ)


ภาพแนบ: ยาโคบสู้กับพระเจ้า
 
อิสอัคมีลูกชื่อ “ยาโคบ” วันหนึ่งพระเจ้าแปลงกายมาทดสอบยาโคบด้วยการเล่นมวยปล้ำ พอชนะก็เลยให้ฉายายาโคปว่า “อิสราเอล” แปลว่า “ผู้ปล้ำสู้พระเจ้า” อันเป็นนามของวงศ์วานสืบมา

ยาโคปมีลูกชาย 12 คน เป็นต้นวงศ์ของเผ่าของอิสราเอลสิบสองเผ่า

ชาวยิวเหล่านี้ ภายหลังสวามิภักดิ์อียิปต์ โดยพวกเขามีลูกหลานมากมาย จนฟาโรห์กลัวจะลุกฮือ เลยลดสถานะพวกเขาทาส กดขี่สารพัด


ภาพแนบ: โมเสส 
 
เวลาผ่านไปกระทั่งพระเจ้าเลือกวีรบุรุษ “โมเสส” ให้มาปลดปล่อยชาวยิว โดยพาแหวกน้ำทะเล และเดินทางจากอียิปต์กลับสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญาได้สำเร็จ

เมื่อไปถึงชาวยิวพบว่าดินแดนดังกล่าวมีชนเผ่าอื่นอาศัยอยู่ จึงสู้รบและเข่นฆ่าคนเหล่านั้น แล้วตั้งเมืองตนเองเป็นสหพันธรัฐแบบหลวมๆ แบ่งพื้นที่ตามชาวอิสราเอลสิบสองเผ่า ก่อนจะกลายเป็นอาณาจักรในเวลาต่อมา

(อนึ่งแทบไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนเรื่องไบเบิลในตอนนี้ หลักฐานเกือบทั้งหมดระบุว่าชาวยิวคือชาวคานาอันไนต์กลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่แถวๆ คานาอัน หรืออิสราเอลในปัจจุบันมาตลอด ไม่เคยย้ายไปอียิปต์ทีละมากๆ มาก่อน แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิวยึดถือ เราจึงควรศึกษาเอาไว้เพื่อเข้าใจแนวคิดของพวกเขา)


ภาพแนบ: กษัตริย์เดวิด 
 
*** อาณาจักรอิสราเอล ***

อาณาจักรอิสราเอลเกิดขึ้นโดยมีปฐมกษัตริย์ชื่อซาอูล เขาโดนเดวิด (ซึ่งประกอบวีรกรรมเหวี่ยงหินสังหารยักษ์ใหญ่โกไลแอท) โค่นอำนาจ

เดวิดเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เขาตั้งกรุงเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง และทำนุบำรุงจนเจริญรุ่งเรือง ต่อมาในรุ่นลูก คือกษัตริย์โซโลมอน มีการสร้างพระวิหารขนาดใหญ่สำหรับบูชาพระเยโฮวาห์ขึ้นเป็นแห่งแรกบนเขาไซออน พระวิหารนี้เป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวเรื่อยมา เรียกกันว่า พระวิหารที่ 1 (First Temple)


ภาพแนบ: แผนที่อาณาจักรจูดาห์กับอาณาจักรอิสราเอล 
 
อย่างไรก็ตามยุครุ่งเรืองนั้นยืนยงอยู่ได้เพียงร้อยปี (1,020 – 930 ก่อนคริสตกาล) และเป็นยุคที่เต็มไปด้วยสงครามกลางเมืองซึ่งชาวยิวรบชิงความเป็นใหญ่กันเอง ในที่สุดสงครามกลางเมืองได้แบ่งอิสราเอลออกเป็นสองอาณาจักร คืออาณาจักรจูดาห์ทางใต้ ซึ่งปกครองโดยเผ่าจูดาห์และเบนจามิน กับอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือ ซึ่งปกครองโดยอีกสิบเผ่าที่เหลือ

อาณาจักรอิสราเอลเหนือตั้งมั่นอยู่ถึง 720 ปีก่อนคริสตกาลก็ถูกพวกอัสซีเรียตีแตก ประชาชนทั้งสิบเผ่าถูกกวาดต้อนไปเป็นทาส ต้องกระจัดกระจายกลืนไปกับคนชาติอื่นๆ ไม่สามารถสืบหาตัวได้ แต่ปัจจุบันยังมีชนหลายกลุ่มที่อ้างตัวว่าสืบเชื้อสายมาจากสิบเผ่านี้


ภาพแนบ: เนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 

*** ยุคเมืองขึ้น ***

หลังอาณาจักรอิสราเอลล่มสลาย อาณาจักรจูดาห์ได้ดำรงอยู่ต่อมาถึงราวช่วง 589 ก่อนคริสตกาลก็ถูกเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 แห่งอาณาจักรบาบิโลนตีแตก พระวิหารแรกถูกทำลาย ทิ้งให้เยรูซาเลมร้างไปถึงช่วงราวศตวรรษที่ 6

ส่วนผู้คนถูกกวาดต้อนไปอยู่บาบิโลน แต่มิได้ถูกกลืนหายไปแบบสิบเผ่าแรก ทั้งบาบิโลนยังอนุญาตให้ชาวจูดาห์ตั้งชุมชมทำมาหากิน ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ รักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมตามแบบของตนต่อมา และพวกเขานี้เองที่เป็นบรรพบุรุษของชาวยิวในปัจจุบัน


ภาพแนบ: แบบจำลองพระวิหารที่ 2 

539 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรบาบิโลนก็ถูกขุมอำนาจใหม่คือจักรวรรดิเปอร์เซียยึดครอง กษัตริย์แห่งเปอร์เซียมีใจเมตตาชาวยิว โปรดให้กลับไปตั้งถิ่นฐานในเยรูซาเลม พร้อมให้เงินช่วยเหลือในการสร้างเมืองใหม่ และบูรณะพระวิหารแห่งที่สองกลายเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจสำคัญของชาวยิวต่อไป

ยิวมีความสุขอยู่ใต้การปกครองของเปอร์เซียอยู่จนถึง 449 ปีก่อนคริสตกาลกรีกก็ยกทัพมาตีเปอร์เซียแตก ยิวจึงสวามิภักดิ์ต่อกรีก


ภาพแนบ: แผนที่อาณาเขตของกรีกและโรมันช่วง 90 ปีก่อนคริสตกาล 

ด้วยความที่ชาวกรีกนี้เชื่อว่าวัฒนธรรมของตนดีงาม ตีได้ที่ไหนก็มักเอาวิถีชีวิต แนวคิดของพวกตนไปเผยแพร่ ในช่วงนี้ยิวจึงถูกโจมตีทางวัฒนธรรมอย่างหนัก และบางส่วนก็เห็นดีเห็นงามถึงกับเปลี่ยนศาสนา บางส่วนยังไม่เปลี่ยนศาสนาก็รับวัฒนธรรมมาประยุกต์ให้เข้ากับศาสนาของตน

ต่อมากรีกเสื่อมอำนาจลง พวกยิวส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับโรมันซึ่งเป็นขุมกำลังใหม่ บีบให้กรีกต้องยอมรับการปกครองตนเองของอิสราเอล ตั้งราชวงศ์ใหม่ของยิวชื่อ “ราชวงศ์ฮัสโมเนียน” จากนั้นพวกเขาใช้จังหวะที่กรีกกับโรมชิงอำนาจกัน ต่อรองจนสามารถได้เอกราชบางส่วน และอยู่มาได้อีกราวร้อยปี (140 – 37 ก่อนคริสตกาล)


ภาพแนบ: กษัตริย์เฮโรด 

แต่แล้วราชวงศ์ฮัสโมเนียนก็สั่นคลอนเพราะเชื้อพระวงศ์แย่งอำนาจกันจนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่าง 67 - 63 ปีก่อนคริสตกาล เป็นเหตุให้โรมันสามารถยึดดินแดนศักดิ์สิทธิ์ได้โดยง่าย

ครั้นกลายเป็นเมืองขึ้นแล้ว โรมันก็ตั้งเชื้อพระวงศ์ฮัสโมเนียนคนหนึ่งให้เป็นกษัตริย์หุ่น แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของ “แอนติเพเตอร์” ซึ่งมีใจภักดีโรมัน
ต่อมาเมื่อแอนติเพเตอร์ตายตอน 43 ปีก่อนคริสตกาล โรมันได้ตั้งลูกของเขาชื่อ “เฮโรด” เป็นกษัตริย์แทนวงศ์ฮัสโมเนียนเดิม ให้ชื่อใหม่ว่า ”ราชวงศ์เฮโรเดียน” และให้อิสราเอลเป็นประเทศราชไป


ภาพแนบ: พระเยซู

*** ช่วงคริสตกาล ***

เฮโรดมีลูกชื่อ “เฮโรด อันทิปาส” ซึ่งคือ “เฮโรด” ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวพระคัมภีร์ใหม่ของศาสนาคริสต์ เขาไม่ได้เป็นกษัตริย์เหมือนพ่อแล้ว แต่อยู่ในฐานะกึ่งๆ ผู้ปกครอง กึ่งๆ ขุนนางโรมัน ...นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมชาวยิวในเวลานั้นต้องการ “กษัตริย์” ที่จะมาปลดแอกพวกเขาจากโรมันเหลือเกิน

...พวกเขารอ รอ และรอ แล้วชายผู้หนึ่งปรากฏตัวขึ้น…

ชายผู้นั้นคือ “เยซู” ชาวนาซาเรธ เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ แต่สามารถแสดงปาฏิหาริย์รักษาคนป่วยหลายคนให้หายอย่างน่าอัศจรรย์ มีผู้คนเคารพนับถือเป็นอันมาก จนเป็นความหวังว่าจะมาช่วยปลดปล่อยพวกเขาจากโรมันได้
 

ภาพแนบ: ภาพวาดล้อเลียนพระเยซูของชาวโรมัน วาดพระเยซูหัวเป็นลา เป็นหลักฐานการพูดถึงพระเยซูในยุคนั้นนอกเหนือจากไบเบิล บ่งชี้ว่าคนโรมันมองพระเยซูด้วยความเหยียดหยาม
 
อย่างไรก็ตาม พระเยซูมิได้ทำตามกฎยิวดั้งเดิมทุกอย่าง และเป็นคนใจเมตตา ไม่คิดสู้กับใคร ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงหรือหลงในอำนาจแม้มีคนตั้งเป็นกษัตริย์ ทำให้ชาวยิวเคร่งๆ ไม่แฮปปี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการปลดแอกจากโรมันนั้นคิดว่าพระเยซูทำให้ผู้คนไขว้เขวไปจากแนวทางกู้ชาติ ส่วนกลุ่มที่สวามิภักดิ์โรมันนั้นก็กลัวพระเยซูจะมาแข่งบารมีตน

ดังนี้ชาวยิวที่ไม่พอใจจึงจับพระเยซูไปส่งข้าหลวงโรมันด้วยข้อหายุยงประชาชนให้วุ่นวาย ข้าหลวงสอบสวนแล้วหาความผิดไม่ได้ก็สงสาร แต่เห็นว่าหากไม่ประหารแล้ว ประชาชนคงก่อความวุ่นวายเข้าจริงๆ เขาจึงให้ชาวยิวตัดสิน และจบลงด้วยจึงการนำพระเยซูไปตรึงกางเขนเสีย


ภาพแนบ: พระวิหารที่สองถูกทำลาย

*** สงครามชิงดินแดน ***

ไม่กี่สิบปีหลังพระเยซูเสียชีวิต ในค.ศ. 66 ชาวยิวในจังหวัดจูเดีย (อิสราเอลโดนลดสถานะเป็นเพียงจังหวัดจูเดียในค.ศ. 6) พากันก่อการปฏิวัติโรมัน
โรมันนั้นปกครองคนหลายชาติ จำต้องแสดงความเด็ดขาดมิให้ชาติอื่นๆ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง พวกเขาตัดสินใจจัดการยิวอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งทำลายพระวิหารที่สองในเมืองเยรูซาเลมลงให้สิ้นซาก ชาวยิวพยายามสู้ แต่ก็จบลงด้วยการโดนล้างบาง ยิวที่เหลือรอดถูกขายเป็นทาสไปทั่วโลก


ภาพแนบ: ซากเมืองแบบโรมันที่เยรูซาเลม 
 
โรมันยังทำการหักหาญน้ำใจยิวไปมากกว่านั้น โดย:

1. เปลี่ยนชื่อจังหวัดจูเดียเป็น "ซีเรีย ปาเลสตินา" ตามชื่อเผ่าฟิลิสเตียซึ่งเป็นศัตรูเก่าแก่ของยิว (จริงๆแล้วมีการเรียกชื่อแผ่นดินแห่งพันธสัญญาว่า “ปาเลสไตน์” ตามชื่อเผ่าฟิลิสเตียมาตั้งแต่โบราณแล้ว)

2. สร้างเมืองแบบโรมันขึ้นมาทับที่เยรูซาเลม ห้ามคนยิวเข้าเมืองนี้เว้นแต่ในวันที่ระลึกพระวิหารถูกทำลาย


ภาพแนบ: ศิลปะศาสนาแบบไบแซนไทน์ 

แต่นั้นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ก็มิได้มียิวเป็นประชากรส่วนใหญ่อีก แต่เป็นดินแดนที่ประกอบด้วยประชากรหลากหลายเชื้อชาติศาสนา ซึ่งมักตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรใหญ่มีอำนาจในยุคนั้นๆ

ต่อมาจักรวรรดิโรมันแตกเป็นสองส่วนในค.ศ. 395 คือฝั่งตะวันตกและตะวันออก ซึ่งฝั่งตะวันออกนี่เองเรียกว่า จักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์จะคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของไบแซนไทน์ไปอีกหลายร้อยปี

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่