Thailand Last Man Standing หรือ Thailand Stand Alone กันแน่ ?

ในสถานการณ์วิกฤต "ภาวะผู้นำ" ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้องค์กร และประเทศก้าวผ่านอุปสรรคไปได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทั้งโลก และประเทศไทยยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตจำนวนมาก
 
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าหลักหมื่น เหลือเพียง 9,810 ราย และเสียชีวิต 66 ราย ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 รายวันยังคงมีอยู่ แต่รัฐบาลก็ไม่ควรที่จะมุ่งสนใจเพียงแต่เรื่องของระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว เรื่องปากท้องของประชาชนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ที่รัฐบาลควรจะต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน

กำหนดเปิดประเทศใน 120 วัน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ที่เริ่มทยอยคลายล็อกกฏข้อห้ามต่างๆ รวมถึงประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอีก 16 จังหวัดในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เวลา 23.00 น. ถือได้ว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาขยับเขยื้อนครั้งใหญ่อีกครั้ง

ผู้นำที่ดี การตัดสินใจที่เด็ดขาด ถือว่าเป็นสิ่งดี เป็นสิ่งสำคัญ ก่อนจะหมดปี 2564 มาดูผลงาน และแผนงานของรัฐบาล ภายใต้การนำโดยผู้นำที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันหน่อยดีกว่า

• รัฐบาลประกาศปราบปรามประมงผิดกฏหมายอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นแก้ไขการทำประมงที่ไร้การควบคุมของประเทศ จนทำให้ประเทศไทยสอบผ่าน ปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป หรือ EU กับปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย หรือ IUU Fishing ได้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ถือได้ว่าเป็น ผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลชุดนี้

• ตัดสินใจเปิดประเทศ ใน 120 วัน กำลังจะเกิดขึ้นจริงแล้วในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ นโยบาย และข้อผ่อนปรนต่างๆ ทยอยออกมาเป็นลำดับ ตั้งแต่การประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เวลา 23.00 น. ไปจนถึงการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 46 ประเทศ สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว 
(แต่ถ้าผู้นำโลเล ก็อาจจะต้องคิดหนักกันหน่อย)
 
“ถ้าเปิดแล้ว มีปัญหาก็ต้องปิด เราก็ไม่อยากปิดทั้งหมด รู้ว่าทุกคนเดือดร้อน เราก็เยียวยาไป มันก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว เพื่อประทังเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้”
 
• งบประมาณเงินกู้ที่ผ่านสภาฯ เห็นชอบแล้ว ก็ถูกนำมาเยียวยาประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะ ม.33 ม.39 หรือ ม.40 โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เข้าถึงการเยียวอย่างทั่วถึงบ้าง ไม่ทั่วถึงบ้างก็ตามที่ บางคนได้ บางคนไม่ได้ก็มี

• ปลดธงแดง ICAO - International Civil Aviation Organization องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560   การปลดธงแดงถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุด แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกลับคืนสู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินในระดับสากลอีกครั้ง 

• โครงสร้างพื้นฐานทั้ง รถไฟ ถนน สนามบิน และท่าเรือ ได้มีการพัฒนา และมีการลงทุนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่จำนวน 7 เส้นทางกว่า 1,483 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 2.71 แสนล้านบาท แต่ถึงเวลาจริงเสร็จเพียงแค่ 2 โครงการก็ตาม คือ 1. ช่วงฉะเชิงเทรา–แก่งคอย และ 2. ช่วงชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น ที่เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2562 ส่วนอีก 5 เส้นทางที่เหลือกำลังเร่งก่อสร้าง ถึงแม้ว่ารฟท.จะขอขยายเวลาออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนดเพราะอุปสรรคต่างๆ ก็ตาม แต่คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 

ส่วนการสร้างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการอนุมัติ เปิดประมูลโครงการฯ และกำลังก่อสร้างไปแล้วหลายเส้นทาง ทั้งสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง), สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีส้มฝั่งตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - สุวินทวงศ์)  ถึงแม้ว่าสายสีส้มฝั่งตะวันตกจะมีปัญหาเรื่องการประมูลไปบ้างก็ตาม จากที่ผู้เข้าร่วมประมูลร้องศาลว่าการประมูลไม่ชอบด้วยกฏหมาย  และสายสีม่วงใต้กับสายสีน้ำตาล ที่กำลังจ่อรอเปิดประมูลอีก

รถไฟความเร็วสูงสายไทย-จีน สปีดเร่งความเร็วไม่ขึ้น และมีท่าทีว่าจะล่าช้า ลากยาวไปอีกหลายปี แค่เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 14 สัญญา เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ แต่กลับเป็นการสร้างปัญหาในบางช่วงสัญญา แถมข้อสรุปว่าจะย้ายสถานีพระนครศรีอยุธยาหรือไม่ ก็ต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโกอีก เพราะก่อสร้างใกล้กับมรดกโลก และอาจจะส่งผลกระทบ รวมถึงความเหมาะสมของตัวสถานีอีกด้วย นี่ยังไม่รวมถึงเส้นทางทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ที่ยังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนว่า จุดทับซ้อนช่วงดอนเมือง - บางซื่อ ใครจะเป็นผู้ก่อสร้างเส้นทาง และจะใช้มาตรฐานของใครเป็นตัวกำหนดการก่อสร้าง

ส่วนเฟสที่ 2 นครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ยังอยู่แค่การศึกษา และออกแบบเส้นทางเท่านั้น  ส่วนการเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย ไปยังเวียงจันทร์ก็ยังไม่มีข้อสรุปกับทางประเทศลาวว่ายังไง  ในขณะที่ประเทศลาวสร้างเสร็จพร้อมเชื่อมการขนส่งไปยังประเทศจีนแล้ว โดยคาดว่าจะเปิดในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ ส่วนของประเทศเฟสที่ 1 คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2569

• ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้ย้ายฐานการผลิตกลับเข้ามาในเมืองไทย โดยเฉพาะในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัลในพื้นที่ EEC ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจะมีการประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอีก 6 แห่ง เพื่อรองรับการลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต หรือ New S-Curve ก็เป็นโครงการที่มีแต่โครง แต่ไม่มีเนื้อใน รายละเอียดว่างเปล่า ชักชวนให้ประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ก็เป็นการเชิญที่ไม่ได้สิทธิ์ที่จูงใจกว่าประเทศเพื่อนบ้านเลย

อย่างล่าสุด พานาโซนิค สุวินทวงศ์ ปิดโรงงานย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยอีก 1 โรงงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีบริษัทญี่ปุ่นอีกหลายบริษัทที่ย้ายฐานไปเวียดนามแล้ว เพราะรัฐบาลเวียดนามให้สิทธิ์จูงใจนักลงทุนมากกว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงานที่ถูก และมีคุณภาพ ได้สิทธิทางภาษีที่น่าสนใจกว่า แถมด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามยังสูงกว่าไทย และเวียดนามยังมีข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP ( Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific PartnershipResearch) อีกด้วย

ในขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ของประเทศไทย ไม่ช่วยสร้างความได้เปรียบในการลงทุนเหนือประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังหยุดนิ่งตามสไตล์การทำงานของข้าราชการไทยที่ชักช้า ไม่ทันท่วงที ในขณะที่ทุนต่างชาติไหลไปประเทศใกล้เคียงยกเว้นเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ส่วนคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และมีเหล่าคณะรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ อยู่ด้วย ก็เห็นมีเพียงรมต.บางกระทรวงเท่านั้นที่ขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ของอีอีซีอย่างจริงจัง เช่น กระทรวงพลังงาน, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงคมนาคมเท่านั้น ส่วนรมต.กระทรวงอื่นเรียกได้ว่าแทบไม่มีบทบาทอะไรในคณะกรรมการชุดนี้อย่างจริงจังเท่าที่ควร จนทำให้การรวมศูนย์การตัดสินใจทุกอย่างไปอยู่ที่ผู้นำอย่างนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ทำให้การจัดการต่างๆ ชักช้า ไม่ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างไหลเร็ว จนเรียกได้ว่า ไม่มีโครงการใดในอีอีซี ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จนไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งไทยและเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่กันเลย
 
 
“ไม่มีท้อ อุปสรรคมันก็ต้องมีสิ ปัญหา อุปสรรค คือสิ่งที่ผู้นำต้องแก้ไขปัญหา ไม่งั้นจะเป็นทำไมล่ะผู้นำ 
ผู้นำต้องแก้ปัญหา มันจะแก้ได้มากได้น้อยก็ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน”
 
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ ผู้นำที่ดี ควรจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศอย่างจริงจังสักที ไม่ใช่เข้ามาทำงานการเมือง เพื่อตัวเอง เพื่อพวกพ้อง เพื่อตอบแทนบุญคุณใคร ... แต่เป็นการทำคุณประโยชน์เพื่อประเทศชาติ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่