JJNY : หมอธีระหวั่นไทยเสี่ยงระบาดซ้ำสูง│เส้นด้าย"ตรวจเชิงรุก"ที่หาดใหญ่│อุตุฯเตือน"คมปาซุ"│1ธค. เปิดผับ ไม่กล้าลงทุน

กระทู้ข่าว
หมอธีระ กางตัวเลขชิลี-เดนมาร์ก หวั่นไทยเปิดประเทศ เสี่ยงระบาดซ้ำสูง
https://www.nationtv.tv/news/378845764
 
 
หมอธีระ ถอดบทเรียนชิลี-เดนมาร์ก หวั่นประเทศไทยเสี่ยงระบาดซ้ำสูง หลังนายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้
 
12 ตุลาคม 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat "ยกบทเรียนจากชิลีและเดนมาร์ก" โดยระบุว่า ...
 
"ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ มีข่าวหลายสำนักนำเสนอรายชื่อประเทศที่ประกาศนโยบายที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 เช่น เดนมาร์ก ชิลี สิงคโปร์ และไทย"
 
สิงคโปร์นั้น มีความชัดเจนว่าการระบาดแต่ละวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกว่า 3,700 คน ในขณะที่ชิลีและเดนมาร์ก อยู่ในระดับหลักร้อยถึงหลักพัน เพื่อให้ไทยได้เห็นเส้นทางเดินของประเทศที่ประกาศนโยบายคล้ายคลึงกัน และได้เดินไปก่อนเรา การศึกษาบทเรียนของเค้าน่าจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมรับมือกับสิ่งที่เราจะเจอในอนาคตอันใกล้
 
ในที่นี้เพื่อให้สเกลในกราฟเปรียบเทียบกันให้เห็นได้ดี จึงนำเสนอบทเรียนของชิลี และเดนมาร์กมาให้พิจารณากัน
 
1. สถานการณ์หลังปลดล็อก พบวจำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชิลีปลดล็อกตั้งแต่ช่วงท้ายของสิงหาคมเป็นต้นมา และเปิดการเดินทางระหว่างประเทศตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ในขณะที่เดนมาร์กนั้นเป็นทีทราบกันดีว่าเปิดเสรีการใช้ชีวิตตั้งแต่ต้นกันยายนเป็นต้นมา ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มจำนวนการติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังปลดล็อกการใช้ชีวิตราว 4-6 สัปดาห์ โดยจำนวนติดเชื้อต่ำสุดต่อวันที่เป็นฐานคือระดับเพียง 300-400 กว่าคนต่อวัน เฉลี่ยแล้วจำนวนการติดเชื้อต่อวันของชิลีและเดนมาร์กจะสูงขึ้นเป็น 2 เท่า โดยใช้เวลาราว 3 สัปดาห์ สำหรับประเทศไทย ที่กำลังจะเปิดเมืองท่องเที่ยว และเปิดประเทศ แต่ยังมีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงระดับหมื่นคนต่อวัน (ยังไม่รวม ATK) ดังนั้นหากพิจารณา doubling time แบบเดียวกับชิลีและเดนมาร์ก ก็คงพอคาดการณ์ได้ว่าจำนวนติดเชื้อต่อวันคงสูงจากหมื่น เป็นสองหมื่น เป็นสี่หมื่น ไปเรื่อยๆ ทุก 3 สัปดาห์ หากควบคุมไม่อยู่
 
2. อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองโรคสูงขึ้นอย่างชัดเจน ชิลีเคยมีอัตราตรวจพบต่ำสุด 0.8% แต่เพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ในขณะที่เดนมาร์กเคยต่ำสุดที่ 0.9% แต่เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.4%  ทั้งสองประเทศมีอัตราการตรวจพบเพิ่มขึ้นราว 60% โดยใช้เวลาราว 3 สัปดาห์เช่นกัน ในขณะที่เมืองไทย อัตราการตรวจพบที่แน่นอนนั้นไม่ทราบ แต่จากรายงานของ Ourworldindata เมื่อกันยายนที่ผ่านมา จะอยู่ราว 20-25% ซึ่งสูงกว่าชิลีและเดนมาร์กอย่างมาก ดังนั้นหากธรรมชาติหลังเปิดเสรีเหมือนกันกับเค้า ก็อาจถีบตัวสูงไปถึง 32-40% ในเวลา 3 สัปดาห์ หรืออาจเร็วและแรงกว่านั้นก็เป็นได้
 
3. จำนวนการตรวจคัดกรองโรคของแต่ละประเทศ หากเทียบจำนวนการตรวจที่ทำไปต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ตรวจมากกว่าไทย 3-12 เท่า ทั้งๆ ที่จำนวนการตรวจพบว่าติดเชื้อของเค้าน้อยกว่าของเรา 3-4 เท่า ดังนั้น หากเกิดการระบาดหนักหน่วงปะทุขึ้นมา ศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรคจะเป็นกลไกต่อสู้โรคระบาดที่เป็นหัวใจหลัก หากทำได้น้อย ไม่มากพอ ไม่ทันต่อความต้องการ ก็จะยากที่จะหยุดยั้งการระบาดวงกว้างได้ คุมไม่ได้ ได้แต่ไล่ตามจนหมดแรง
 
4. ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน ทั้งชิลี และเดนมาร์ก มีการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ครอบคลุมประชากรกว่า 70% ของประเทศตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่เค้าจะปลดล็อกการใช้ชีวิตหรือเดินทางท่องเที่ยว ประเทศไทยมีอัตราการฉีดครบโดสได้ราวครึ่งนึงของประเทศชิลี และเดนมาร์ก ดังที่ทราบกันดีว่า การฉีดวัคซีนนั้นมุ่งหวังจะให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ได้รับวัคซีน เพื่อลดโอกาสป่วย ลดโอกาสเสียชีวิต ดังนั้นด้วยอัตราความครอบคลุมวัคซีนของไทยเราที่น้อยกว่าชิลีและเดนมาร์ก การเปิดเมือง เปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศของไทยนั้นย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงสูงของการระบาดซ้ำรุนแรง และมีโอกาสป่วย และเสียชีวิตมากกว่าเค้าอย่างแน่นอน 
 
เหล่านี้จึงเป็นเหตุผล จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่นำมาแสดงให้ดู เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองกำลังจะผลักดันให้เกิดขึ้น และอย่างน้อยที่สุด สิ่งที่นำมาแจ้งให้รับรู้รับทราบกันนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนอย่างพวกเราทุกคนได้รู้เท่าทันสถานการณ์ และเตรียมวางแผนชีวิต รับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ช่วงเวลาถัดจากนี้ เป็นไปตามที่ย้ำมาตลอดว่า ความใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัว หรือ Health conscious นั้นสำคัญมาก และจะเป็นตัวกำหนดเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของพวกเราแต่ละคน ขอให้มีสติในการใช้ชีวิต และป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
 
https://www.facebook.com/thiraw/posts/10223250247156956


 
เส้นด้าย "ตรวจเชิงรุก" ที่หาดใหญ่ พบผู้ติดเชื้อเทียบเท่าช่วง กทม.ระบาดหนัก
https://www.komchadluek.net/hot-social/487841
 
วันที่ 12 ตุลาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก "เส้นด้าย - Zendai" โพสต์ข้อความหลังลุย "ตรวจเชิงรุก" ที่หาดใหญ่ เผยพบผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" เทียบเท่าช่วง กทม. ระบาดหนัก 
  
โดยเพจ "เส้นด้าย" ระบุว่า 
 
อ่านกันเถอะ นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า ทำไมการ "ตรวจเชิงรุก" จึงสำคัญ วันนี้เส้นด้ายตรวจเชิงรุกที่หาดใหญ่เป็นวันแรก โดยมีการตรวจ 2 แบบ คือ การตั้งจุดตรวจเชิงรุก ATK ที่หน้า K&K และการตรวจเชิงรุกแบบค้นหา ตามคอนเซป "เส้นด้าย-หายทุกซอย" 
 
ที่จุด "ตรวจเชิงรุก" เราตรวจไป 423 คน พบติดเชื้อ "โควิด-19" จำนวน 59 คน (คิดเป็น 13.95% ของผู้มารับการตรวจ) เทียบเท่าได้กับ กทม. ตอนระบาดหนัก ๆ 

ในขณะที่ตรวจเชิงรุก "เส้นด้าย-หายทุกซอย" เราลงตรวจแบบค้นหา 2 ชุมชน "ชุมชนแรก" สุ่มตรวจไป 69 คน ติดเชื้อโควิด 3 คน แต่ที่พีคคือ "ชุมชนที่ 2" ชุมชนเทียนจ่ออุทิศ ซึ่งที่นี่ให้ผลลัพธ์น่าตกใจมาก 
 
เราตรวจไปทั้งหมด 116 คน ติดเชื้อโควิด 31 คน อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 26.72% ทิ้งห่างจุดที่ระบาดรุนแรงของ กทม. แบบเทียบกันไม่ติด (ดินแดง ประมาณ 15-16%) 
 
เมื่อมองลึกลงไปก็พบว่า ชุมชนนี้มีอยู่ประมาณกว่า 30 หลังคาเรือน เฉลี่ยคร่าว ๆ มีสมาชิกประมาณบ้านละ 3-4 คน เทียบสัดส่วนการติดเชื้อคือติดกันเกือบทุกบ้าน 
 
เด็กเล็กบางคนก็ติดเชื้อ "โควิด-19" ในขณะที่คุณแม่ไม่ติด ประเมินสาเหตุคงจะเป็นเพราะว่าไปติดเชื้อมาจากการที่ให้คนในชุมชนอุ้มไปมา 
 
แน่นอนว่า พอติดเชื้อเยอะขนาดนี้ ชาวบ้านก็มีความตกใจและกังวลใจเป็นธรรมดา 
 
แต่หากมองในมุมกลับกัน นับเป็นเรื่องดีที่เราตรวจพบเชื้อได้เร็ว แยกคนติดเร็ว ทำให้มีโอกาสควบคุมและจัดการการระบาดได้ดีขึ้น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง และผู้สูงอายุในชุมชนก็มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้นด้วยเช่นกัน 
 
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมการ "ตรวจเชิงรุก" แบบ #เส้นด้ายหายทุกซอย จึงสำคัญอย่างมาก เราจะลุยตรวจต่อไปอย่างไม่ย่อท้อแน่นอน หรือใครอยากให้เราไปตรวจตรงจุดไหน พื้นที่ใด ก็บอกกันเข้ามาได้เลย 
 
ที่มา เส้นด้าย - Zendai
 
https://www.facebook.com/zendai.org/posts/198090579106630
 

 
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ2 เตือนพายุโซนร้อนกำลังแรง "คมปาซุ" ฝนหนักมาก
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_6672609

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่ 2 เตือนพายุโซนร้อน “คมปาซุ” คาดขึ้นฝั่งเวียดนาม 13-14 ต.ค.นี้ ทำภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝนตกหนักถึงหนักมาก
 
วันที่ 12 ต.ค.2564 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ “พายุ “คมปาซุ”” ฉบับที่ 2 ระบุว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (12 ต.ค. 2564) พายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 19.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.3 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
 
พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคม 2564 หลังจากนี้จะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันดังกล่าว
  
อนึ่ง ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
 
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 17.00 น.
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่