Glacier Mice ปริศนาหนูธารน้ำแข็ง

กระทู้คำถาม



 " Glacier Mice " ที่พบในบางส่วนของอลาสก้าและไอซ์แลนด์ (ภาพโดย Carsten ten Brink ผ่าน Flickrภายใต้CC BY-NC-ND 2.0 )


นักวิทยาศาสตร์พบกลุ่มก้อนกรวดที่ถูกปกคลุมไปด้วยมอสมากมายบนพื้นผิวธารน้ำแข็ง  พวกมันถูกเรียกว่า " Glacier Mice " หรือ "หนูธารน้ำแข็ง" ซึ่งลูกมอสอ้วนกลมสีเขียวนี้ไม่ได้ยึดติดกับอะไรเลยแค่วางอยู่บนธารน้ำแข็ง  ส่วน JónEythórsson นักวิจัยไอซ์แลนด์เรียกพวกมันว่า " jökla-Mys " หนูธารน้ำแข็งไม่ใช่เรื่องใหม่มีรายงานการพบหนูธารน้ำแข็งที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Glaciology ในปี 1951 และตอนนี้งานวิจัยใหม่ได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของ Moss Balls เหล่านี้อย่างใกล้ชิดแล้ว

ตอนแรก นักวิจัยคิดว่าการที่พวกมันต้องเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ เพื่อรักษารูปร่างที่โค้งมน  ดังนั้น ในปี 2009 นักวิจัยจึงตัดสินใจที่จะติดตามลูกบอล พวกเขาจึงติดรหัสลูกบอลมอส 30 ลูก และติดตามดูเป็นเวลาสองสามเดือน และกลับมาตรวจสอบในปี 2010, 2011 และ 2012 แม้ว่าพวกเขาคาดว่าลูกบอลจะอยู่ในสถานที่สุ่มไว้ แต่พบว่าฝูง Moss Balls เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากัน ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉลี่ยวันละ 1นิ้ว และการเคลื่อนที่นี้อาจมาจากมีลมพัดแรง, เป็นทางลาดลงเนิน หรือรังสีดวงอาทิตย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของพวกมันได้ 


หนูธารน้ำแข็งบางตัวเกาะอยู่บนก้อนน้ำแข็ง
Cr.ภาพ Fanny Dommanget / The University Center at Svalbard


Glacier Mice ก่อตัวขึ้นเมื่อมอสเริ่มเติบโตรอบ ๆ กลุ่มทรายหรือก้อนหินเล็ก ๆ ที่เกาะอยู่บนพื้นผิวธารน้ำแข็ง  และเจริญเติบโตขึ้นเป็นหลายชั้น
เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อน้ำแข็งที่พื้นรอบ ๆ ละลายลง มอสที่เติบโตและหุ้มพื้นผิวของธารน้ำแข็งอยู่ก็ลอยตัวขึ้นโดยไม่ยึดติดกับพื้นอีกต่อไป  ในที่สุด
ก้อนมอสก็ถูกพัดพาไปทั่วธารน้ำแข็ง

เมื่อกลุ่มก้อนของสารอินทรีย์เหล่านี้กลิ้งไปรอบ ๆ แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่จึงทำให้สาหร่ายและมอสที่เกาะอยู่งอกขึ้นทุกด้าน  หลังจากเติบโตมาหลายปี
กระจุกมอสจะมีลักษณะเหมือนลูกขนปุยสีเขียวขนาดเท่าหนู ซึ่งกลายมาเป็นชื่อของพวกมัน " Glacier Mice " และได้รับการบันทึกการถูกพบไว้จาก
ธารน้ำแข็งในไอซ์แลนด์ อเมริกาเหนือและใต้ และเทือกเขาหิมาลัย



หนูธารน้ำแข็งใน Breidamerkurjokull ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งในไอซ์แลนด์เมื่อปี  2005
Cr. ภาพ: Dr.Ruth Mottram ( DMI )


จากซ้ายไปขวา: Glacier mice, springtails, tardigrade (water bear) 
Cr. ภาพถ่ายจากผู้ใช้ Flikr Carsten ten Brink (ซ้าย), ผู้ใช้ Flickr Ryszrd (กลาง), NASA Astronomy Picture of the Day (ขวา)


" Glacier Mice "  ที่มองดูเหมือนมีขนปุยเหมือนฟองน้ำมีความสามารถในการอุ้มน้ำ  ชั้นของมอสที่ป้องกันยังช่วยลดลมที่ผ่าน และรักษาอุณหภูมิให้อุ่นกว่าพื้นน้ำแข็งเล็กน้อย  เมื่อรวมกับสภาพแวดล้อมที่ชื้นพบว่า หนูธารน้ำแข็งเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด

เมื่อตอนที่กลุ่มนักวิจัยชาวยุโรปตรวจสอบหนูธารน้ำแข็งที่พวกเขาเก็บรวบรวมได้ในไอซ์แลนด์ พวกเขาพบว่าภายในพวกมันเต็มไปด้วยชีวิต โดยภายใน Moss Balls นี้นักวิจัยพบ Collembola (สิ่งมีชีวิตคล้ายแมลงหกขาที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ springtails) ทาร์ดิกราด (tardigrades / สิ่งมีชีวิตที่ชอบความชื้นมีแปดขา ตัวเล็ก ๆเรียกกันว่า หมีน้ำ) และไส้เดือนฝอยธรรมดา ซึ่งในหนูธารน้ำแข็งเพียงก้อนเดียวถูกบันทึกไว้ว่า มี springtails มากถึง 73 ตัว, tardigrades 200 ตัว และไส้เดือนฝอย 1,000 ตัว
 
หนูธารน้ำแข็งแต่ละตัวจะอยู่เพียงไม่กี่ปีก่อนที่จะแตกสลาย ดังนั้น ผู้อยู่อาศัยก็แค่ย้ายไปที่เมาส์ตัวอื่นในเวลาที่ลมพัดให้พวกมันมารวมกันในพื้นที่เล็ก ๆ
ซึ่งต่อมา Tim Bartholomaus นักธารน้ำแข็งและ Sophie Gilbert ภรรยาของเขาได้ติดตามการเคลื่อนไหวของพวกมันโดยใช้กำไลที่มีรหัสสี  พวกเขาได้เรียนรู้ว่าหนูธารน้ำแข็งเดินทางด้วยความตั้งใจอย่างยิ่งและย้ายไปอยู่กับมอสบอลอื่นในลักษณะเหมือนฝูงสัตว์ การค้นพบของพวกเขาได้รับการรายงานในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Polar Biology ในเดือนเมษายน 2020

ในอนาคตนักวิจัยหวังว่าจะใช้กล้องไทม์แลปส์เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของหนูกลุ่มใหญ่ๆเป็นระยะเวลานานขึ้น รวมทั้งสำรวจว่าตะกอนที่อยู่บนธารน้ำแข็งเป็นรูปแบบของเถ้าภูเขาไฟที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับพวกมันจะเติบโตหรือไม่

ในกรณีนี้ ความลึกลับของธารน้ำแข็งยังคงดำเนินต่อไป นักวิจัยหวังว่าจะเข้าใจระบบนิเวศของน้ำแข็งที่อุดมสมบูรณ์ที่น่าประหลาดใจ และให้ความสนใจกับการสูญเสียธารน้ำแข็งอย่างรวดเร็วในแต่ละปีด้วย





Moss Balls of Lake Myvatn และ Lake Akan


Moss Balls หรือ marimo (ภาษาญี่ปุ่น) หรือ "ball seaweed" และยังมีชื่อต่างๆอีกเช่น Cladophora ball และ Lake ball  เป็นสาหร่ายสีเขียวที่มีเส้นใย Aegagropila linnaei ที่เติบโตเป็นลูกบอลนุ่มสีเขียวขนาดใหญ่ ลูกบอลเหล่านี้มีขนาดตั้งแต่ 12 ถึง 30 ซม. ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่พบ   

Marimos นั้นหาได้ยาก และจะเกิดขึ้นเฉพาะในไอซ์แลนด์ สกอตแลนด์ และญี่ปุ่น โดยเฉพาะทะเลสาบ Akan ในญี่ปุ่น และทะเลสาบ Mývatn
ในไอซ์แลนด์  โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ลูกมอสได้ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมากบนหาด Dee Why ในซิดนีย์  ซึ่งเป็นครั้งแรกของการพบสาหร่ายชนิดนี้ในซีกโลกใต้

Marimo ไม่เติบโตรอบๆแกนกลางใดๆเช่น ก้อนกรวด แต่เส้นใยสาหร่ายจะเติบโตในทุกทิศทางจากจุดศูนย์กลางของลูกบอล และแตกแขนงออกไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงมีฐานเป็นรูปทรงกลม  โดยลูกบอลจะมีสีเขียวตลอดทั้งก้อนทั้งที่ส่วนในรับแสงในระยะสั้นๆเท่านั้น  แต่คลอโรฟิลล์ในลูกบอลยังคงอยู่แม้ในความมืด  ถ้าลูกบอลแตกออกจากกันและโดนกับแสงมันก็จะทำงาน 

ยังมี Moss Balls ที่ถูกพบใต้พื้นของทะเลสาบ ที่เกิดจากการกระทำของคลื่นใต้น้ำอย่างช้าๆทำให้พวกมันกลับมาคงรูปของทรงกลมเสมอ ในขณะเดียวกันก็มั่นใจได้ว่าพวกมันจะสังเคราะห์แสงได้ไม่ว่าจะหันด้านใดขึ้นก็ตาม


Marimos ใต้พื้นทะเลสาบ ในฮอกไกโดประเทศญี่ปุ่น 


ในญี่ปุ่น Marimos ได้รับการปกป้อง เป็นที่เคารพนับถือ และเป็นสมบัติทางธรรมชาติอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1920
ที่ทะเลสาบ Akan มีการใช้ความพยายามอย่างมากในการอนุรักษ์ลูกบอลทะเลสาบ ซึ่งรวมถึงเทศกาลสามวันประจำปี marimo festival  ซึ่งมีลูกบอลม้วนขนาดเล็กขายในร้านค้าเป็นของที่ระลึก นอกจากนี้ marimo ยังเป็นส่วนสำคัญในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำญี่ปุ่นหลายแห่ง

ในขณะเดียวกัน Moss Ballsในทะเลสาบ Myvatn กำลังหายไปอย่างช้าๆ  ซึ่งประมาณทศวรรษที่แล้ว Moss Balls ในทะเลสาบ Lake Mývatn มีความหนาสองถึงสามชั้นที่ก้นทะเลสาบ แต่วันนี้ส่วนใหญ่ได้หายไป เป็นผลมาจากมลพิษที่เกิดจากการทำเหมืองในพื้นที่ที่เริ่มในปี 1960 

ฟอสฟอรัสและไนโตรเจนจำนวนมากที่ถูกทิ้งลงในทะเลสาบ ทำให้แบคทีเรียในทะเลสาบที่กินอาหารเหล่านั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจับกลุ่มหนาแน่นมากจนปิดกั้นแสงแดดที่ส่องลงมาถึงก้นทะเลสาบ  เมื่อได้รับแสงแดดน้อยสาหร่ายก็เริ่มตายและมีตะกอนที่ก้นทะเลสาบมากขึ้น  ส่วนลมและคลื่นที่เคยทำให้มอสบอลมีรูปร่างกลม ได้พัดพาตะกอนขึ้นปกคลุมสาหร่ายที่เหลืออยู่ ทำให้พวกมันไม่ได้รับแสงแดด







ที่มา Sources: NY Times / University Centre in Svalbard

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่