นักวิชาการมั่นใจดีลซื้อคืนเทสโก้โลตัสไม่ผูกขาด ชี้การแข่งขันยังดุเดือด

กระทู้ข่าว
ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย เชื่อหลังปิดดีลซื้อเทสโก้ โลตัส ตลาดค้าปลีกไทยยังคึกคัก ไม่เพียงแค่คู่แข่งรายเดิม เพิ่มเติมเจ้าใหม่ ๆ จากตลาดออนไลน์และดิลิเวอรี่ ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว แต่ผู้บริโภครับประโยชน์ไปเต็ม ๆ 

“เทสโก้โลตัส” ถือกำเนิดในประเทศไทยจาก “โลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์” โดยเจ้าของผู้ประกอบการไทย คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี แต่ด้วยวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ทำให้กลุ่มซีพีต้องตัดใจขายโลตัสให้กับเทสโก้ของอังกฤษ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เทสโก้โลตัส จนถึงในปัจจุบัน 
 

เมื่อไม่นานมานี้ เทสโก้ อังกฤษไม่สามารถยืนหยัดต่อสู้ในตลาดค้าปลีกได้ต่อไป จึงตัดสินใจประกาศขายเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย ซึ่งกลุ่มซีพีได้ยื่นประมูลแข่งกับกลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มทีซีซี โดยเสนอวงเงินสูงกว่า 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 338,445 ล้านบาท จึงทำให้ชนะการประมูลไป
 

แต่ดูเหมือนว่า เงินอย่างเดียวยังไม่อาจทำให้กลุ่มซีพีนำลูกรักกลับคืนสู่อ้อมอกได้ เพราะวันนี้ดีลการซื้อคืนเทสโก้โลตัสยังไม่จบ และซับซ้อนยุ่งยากมากกว่าตอนสร้างโลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ เสียอีก เมื่อการซื้อคืนครั้งนี้ได้กลายเป็นประเด็นลุกลาม จนต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ว่าจะเข้าข่ายการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่ 
 


ในเรื่องนี้นักวิชาการ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย มองว่า ปัจจุบันตลาดค้าปลีกของไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โมเดิร์นเทรด ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 60% และร้านค้าแบบดั้งเดิม ครองส่วนแบ่งการตลาด 40% ซึ่งทั้งสองแบบต่างต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันที่รุนแรง ที่มีสถานการณ์โควิด-19 และการตลาดแบบออนไลน์เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ 
 

สำหรับกรณีของเทสโก้โลตัส ที่จัดอยู่ในโมเดิร์นเทรด ประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตนั้น แม้ปัจจุบันจะมีคู่แข่งเพียงรายเดียว คือ บิ๊กซี (จากเดิมมีคาร์ฟูร์ด้วย แต่ถูกควบรวบกิจการไปอยู่กับบิ๊กซีแล้ว) แต่หากไม่มีการฮั้วแบบผูกขาด ก็เชื่อว่าจะทำการแข่งขันกันอย่างเหมาะสม เช่น แข่งขันกันลดราคา หรือยอมขาดทุน ซึ่งผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ แต่หากรายใดรายหนึ่งใช้อำนาจกดดันซัพพลายเออร์ ทำให้ซัพพลายเออร์ล้มเหลวในการทำธุรกิจ ก็จะเป็นผลร้ายต่อบริษัทเอง เพราะจะไม่มีซัพพลายเออร์นำสินค้ามาขายให้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากลไกของธุรกิจมีการสอดประสานกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ จากการที่บิ๊กซีซื้อกิจการคาร์ฟูร์ก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้แข่งขันในตลาดไฮเปอร์มารเก็ตลดลง จาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย แต่กฎหมายก็ไม่มีการป้องกันให้มีไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 ราย แสดงว่ากฎหมายก็เห็นว่าระบบนี้ยังแข่งขันได้ 
 

แม้กลุ่มซีพีจะมีธุรกิจแม็คโครและ 7-11 อยู่ในมือ แต่การดำเนินธุรกิจ แยกตลาดกันอย่างชัดเจน โดยแม็คโครเน้นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ส่วน 7-11 เน้นตลาดสะดวกซื้อ และแต่ละกลุ่มก็ยังมีคู่แข่งที่ชัดเจน ดร.ธนวรรธน์ จึงเชื่อว่า ในทางปฏิบัติกลุ่มซีพีไม่สามารถผูกขาดตลาดได้ นอกจากนี้ ทุกบริษัทในเครือซีพีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีการกำกับดูแลเรื่องความโปร่งใส และธรรมภิบาลในการดำเนินธุรกิจ 
 

“ในอนาคตกลุ่มซีพีอาจจะมีวิธีการบริหารจัดการต้นทุนการกระจายสินค้า ทำให้ต้นทุนการดำเนินการลดลง ราคาสินค้าอาจจะถึงมือผู้บริโภคในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะผลักดันให้ตลาดค้าปลีกมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค” ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ กล่าว
 

ธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง ไม่ใช่แค่กับคู่แข่งรายเดิม ๆ แต่ตลาดใหม่ ๆ อย่าง ค้าปลีกออนไลน์ บริการส่งถึงบ้าน ก็เป็นตัวแปรสำคัญมากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต แม้จะมีคู่แข่งเพียงสองราย แต่ต่างต้องพลิกตำราหากลยุทธ์กันไม่หยุด เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความอยู่รอด ดูยังไงผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์
 

 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ขอบคุณข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย TNN16 
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่