JJNY : ไฉน"พิธา"ตั้งฉายา"มหาประยุทธภัย"ให้ตู่/ส.ส.พท.หวั่นแย่งน้ำที่พิษณุโลก/ทั่วโลกติดเชื้อพุ่ง10.8ล./ติดเชื้อเพิ่ม6

กระทู้ข่าว
ไฉน "พิธา" จึงตั้งฉายา "มหาประยุทธภัย" ให้ "บิ๊กตู่" กลางสภา
https://www.matichon.co.th/politics/news_2251094
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท ในวาระแรก ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการทรวงกลาโหม ชี้แจงหลักการ และเหตุผล ไปเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) เป็นวันแรก
 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะติดลบร้อยละ 5-6 สาเหตุหลักจากสงครามทางการค้า และผลกระทบการระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 4-5 ของจีดีพี เทียบกับปี 2563
 
มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศภายหลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 ผ่อนคลายลง รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ
 
แต่ต่อมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ปี 2564 นอกจากเป็นปีที่ประชาชนทุกข์อย่างแสนสาหัสแล้ว ยังเป็นปีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ 20 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศจากการยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2557
 
เป็นนายกฯที่ใช้งบประมาณต่อเนื่องมากที่สุด ที่น่าแปลกใจคือ เงินจำนวน 20 ล้านล้านบาท สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้น้อยมาก เพราะเศรษฐกิจไทยดื้อยาอย่างหนัก เป็น “มหาประยุทธภัย” ที่ยิ่งเพิ่มงบประมาณเท่าไหร่ ความเชื่อมั่นยิ่งลดลง ถมงบลงเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็ไม่กระเตื้อง
 
“เพราะสิ่งที่พวกเราเผชิญอยู่เป็นมหาวิกฤตที่โลกกำลังปรับตัว ไทยจะถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน แม้เวลานี้รัฐบาลไทยกุมทรัพยากรของประเทศมหาศาลอันเป็นเงินภาษีของประชาชนสูงถึง 7.5 ล้านล้านบาท สำหรับการแก้ไขวิกฤต ถ้ารัฐบาลใช้เป็น เราจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หรืออย่างน้อยก็น่าจะทุเลาความทุกข์ของคนไทยได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดาย คือการจัดงบประมาณก้อนนี้ ทำเหมือนไทยไม่มีวิกฤต เพราะจัดงบประมาณไม่ได้ต่างกับงบประมาณปี 2563 ไม่มีอะไรเปลี่ยน”
 
จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่การจัดงบแบบเดิมแล้วจะหวังผลลัพธ์แบบใหม่ได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีประชาชนกว่า 30 ล้านคน เป็นเดิมพัน โดยงบประมาณรายจ่ายก้อนนี้จะชี้ชะตาพวกเขาว่า จะจมหายไปกับวิกฤตครั้งนี้หรือไม่
 
นายพิธา กล่าวอีกว่า สำนักงบประมาณของรัฐสภา ประเมินไว้ว่า รายได้ของรัฐจากการเก็บภาษีในปี 2563-2564 จะหลุดเป้ารวมถึง 7 แสนล้านบาท ฟังแล้วขนหัวลุก เพราะวันนี้ตัวเลขจริงการของเก็บภาษีของ 8 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ เก็บภาษีหลุดเป้าจริงไปแล้วถึง 2 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อรายได้หลุดเป้า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่รัฐบาลจะต้องกู้เพิ่มอีก จากการประมาณการว่าปีนี้จะขาดดุลกว่า 6 แสนล้านบาท ถ้ารายรับปี 2563-2564 หลุดเป้า ดีไม่ดี รัฐบาลอาจจะต้องเตรียมตัวกู้เพิ่มอีกมากถึง 1.3 ล้านล้านบาท
 
“วันนี้ไม่ใช่เวลาของเรือดำน้ำ รถหุ้มเกราะ กระสุนปืน หรือไม่ใช่เวลาของการสร้างถนน ทำป้าย หรือติดกล้อง แต่เป็นเวลาของวัคซีน การสร้างงาน ความมั่นคงทางสาธารณสุข อาหาร และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลคือความหวังสุดท้ายของประชาชน ประเทศจะรอดได้ รัฐบาลต้องใช้เงินเป็น หาเงิน และกู้เงินเป็น ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นและคุ้มค่า ประชาชนถึงจะมีความหวัง” นายพิธากล่าว
 

 
ส.ส.เพื่อไทย หวั่น สงครามแย่งน้ำที่พิษณุโลก ซัดรัฐเมินช่วยชาวบ้าน
https://www.thairath.co.th/news/politic/1880817
 
"นพดล" ส.ส.พิษณุโลก เพื่อไทย หวั่นเกิดสงครามแย่งน้ำ ที่พิษณุโลก ชี้ภัยแล้งปีนี้หนักสุด ซัด รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ที่มีอำนาจแก้ไข เมินช่วยชาวบ้านหมดหวังไร้ทางออก
 
วันที่ 2 ก.ค. นายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดพิษณุโลกในปีนี้ถือว่า กระทบมาก แหล่งน้ำต้นทุนตามธรรมชาติประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ส่งผลกระทบพื้นที่เกษตรกรรมทั้งจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอพรหมพิราม ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของจังหวัด ถูกภัยแล้งโจมตี เกษตรกรไม่มีน้ำทำนา และไม่สามารถทำการเกษตรได้
 
แม้จังหวัดพิษณุโลก จะมีเขื่อนนเรศวร เป็นเขื่อนคอนกรีตทดน้ำขนาดใหญ่สร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน ทั้งนี้ระดับน้ำไม่มีปัญหา แต่ชลประทานไม่ระบายน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ แม้จะอยู่ในเขตพื้นที่ของกรมชลประทาน อยากถามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรว่า ทำไมเลือกที่จะทิ้งเกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก ให้ประสบปัญหาโดยที่กรมชลประทาน ไม่เคยมาอธิบายหรือเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น
 
นายนพพล กล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นหากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหา พืชผลทางการเกษตรคงยืนต้นตาย แม้ที่ผ่านมาจะมีการลดพื้นที่ทำการเกษตรลงตามคำแนะนำจากทางราชการ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ชาวพิษณุโลกท้อใจแม้แม่น้ำน่านไหลผ่านหน้าบ้าน แต่เกษตรกรไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะกรมชลประทานไม่อนุญาตให้ใช้
 
“หากยังไม่มีการแก้ไข เชื่อว่าปัญหาชาวบ้านขัดแย้งกัน เกรงว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดสงครามแย่งน้ำในพื้นที่อย่างแน่นอน รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตร มีอำนาจมีกำลังมีทุกอย่างแต่กลับเพิกเฉย ไม่พยายามที่จะหาทางช่วยพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง หากเป็นเช่นนี้ประชาชนคงหมดหวังต่อรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวเกษตรกร” นายนพพล กล่าว
 


โควิด: ทั่วโลกติดเชื้อพุ่ง 10.8 ล้านคน โคลอมเบียรั้งอันดับ 20 ป่วยทะลุแสนคน!
https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_4424714
 
โควิด: ทั่วโลกติดเชื้อพุ่ง 10.8 ล้านคน - วันที่ 2 ก.ค. เวิลด์โอมิเตอร์ส เว็บไซต์รวบรวมสถิติในสหรัฐอเมริกา รายงานความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโครโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิด โรคโควิด-19 ว่า
 
ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 10,789,835 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 517,974 ราย และรักษาหายแล้ว 5,929,036 คน
 
สหรัฐเมริกายังมีผู้ป่วยสะสม 2,776,521 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา 48,668 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 130,767 คน
 
บราซิลมีผู้ป่วยใหม่รายวัน 44,884 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,453,369 คน เสียชีวิตแล้ว 60,713 คน รัสเซียมีผู้ป่วยใหม่รายวัน 6,556 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 654,405 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9,536 คน
 
อินเดียมีผู้ป่วยสะสม 605,216 คน เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 19,424 คน เสียชีวิตแล้ว 17,848 คน สหราชอาณาจักรมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 313,483 คน เป็นผู้ป่วยใหม่ 829 คน เสียชีวิตแล้ว 43,906 คน
 
 สเปนพบผู้ติดเชื้อสะสม 296,739 คน เสียชีวิต 28,363 คน เปรูมีผู้ป่วยสะสม 288,477 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,264 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 9,860 คน ชิลีพบผู้ป่วยใหม่ 2,650 คน ส่งผลให้ผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 282,043 คน เสียชีวิตแล้ว 5,753 คน
  
อิตาลีมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 182 คน รวมผู้ป่วยสะสมที่ 240,760 คน เสียชีวิตแล้ว 34,788 คน อิหร่านมีผู้ป่วยใหม่รายวัน 2,549 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 230,211 คน เสียชีวิตแล้ว 10,958 คน
 
เม็กซิโกมีผู้ป่วยสะสม 226,089 คน เป็นผู้ป่วยใหม่ 5,432 คน เสียชีวิต 27,769 คน ปากีสถานมีผู้ป่วยสะสม 213,470 คน เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 4,133 คน เสียชีวิตรวม 4,395 คน ตุรกีมียอดผู้ป่วยเพิ่มเป็นอย่างน้อย 201,098 คน เสียชีวิต 5,150 คน
 
 เยอรมนีมียอดติดเชื้อสะสม 196,324 คน เป็นผู้ป่วยใหม่ 492 คน เสียชีวิตแล้ว 9,061 คน ซาอุดีอาระเบียมีผู้ติดเชื้อใหม่อีก 3,402 คน ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยรวมอยู่ที่ 194,225 คน เสียชีวิตแล้ว 1,698 คน ฝรั่งเศสติดเชื้อสะสม 165,719 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 918 คน เสียชีวิตแล้ว 29,861 คน
 
แอฟริกาใต้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,124 คน ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 159,333 คน เสียชีวิตแล้ว 2,749 คน บังกลาเทศมีผู้ติดเชื้อใหม่ 3,775 คน ยอดผู้ป่วยรวม 149,258 คน เสียชีวิตแล้ว 1,888 คน
 
แคนาดามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 67 คน ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 104,271 คน เสียชีวิตแล้ว 8,615 คน และโคลอมเบียขึ้นแท่นเป็นอันดับ 20 ของโลก และมียอดผู้ป่วยสะสมทะลุแสนคน หลังพบผู้ติดเชื้อใหม่ 4,163 คน ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 102,009 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 3,470 คน
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่