💗💗มาลาริน/รถไฟไทย-จีน บรรลุข้อตกลงสัญญา 2.3 เร่งลงนามซื้อระบบส.ค.-ก.ย.นี้..พานาโซนิคยังยึดฐานการผลิตในไทยย้ายไปบางส่วน

กระทู้คำถาม
รถไฟไทย-จีน บรรลุข้อตกลง สัญญา 2.3 เร่งลงนามซื้อระบบ 5.06 หมื่นล้านใน ส.ค.-ก.ย.นี้



ศักดิ์สยาม”ประชุม “รถไฟไทย-จีน”บรรลุข้อตกลงสัญญา 2.3 เงื่อนไขซื้อระบบรถไฟความเร็วสูงจีน วงเงิน 5.06 หมื่นล. เร่งชง ครม.เชิญ”นายกฯ”ประธานนัดเซ็นสัญญา ใน ส.ค.-ก.ย. ยันจ่ายเป็นดอลลาร์ 80% หรือ 4.05 หมื่นล.ยึดเลท 30.8 บาทต่อ 1 เหรียญทยอยจ่ายเป็นงวด 63-68 ส่วนเฟส 2 เชื่อมหนองคาย คาดเสร็จปี 68 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยประชุม คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 28 ผ่านระบบ Video Conference กับ นายนิ่ง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน วันนี้ (25 พ.ค.) ว่า ผลการเจรจา ทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติ ร่วมกัน ในส่วนของร่างสัญญา 2.3 (สัญญาการวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท 

โดยทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนภายในของแต่ละฝ่ายเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญา 2.3 ได้โดยเร็ว โดยหลังจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่งร่างสัญญา ต่ออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา คาดว่าจะสรุปร่างสัญญาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินและเงื่อนไข คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยจะลงนามในสัญญานี้ได้ภายในเดือนต.ค. 2563 หรือเร่งรัดให้เร็วที่สุด อาจจะภายในเดือนส.ค. –ก.ย. นี้ โดยจะเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงนาม ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทย เพื่อให้สามารถเริ่มงานภายในปี 2563 เนื่องจากโครงการล่าช้ามานานจากที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโควิด-19 

ทั้งนี้ ข้อสรุปเงื่อนไขสัญญา 2.3 ในเรื่องสกุลเงิน วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท โดยชำระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์ 80% จำนวน1,313,895,273 ดอลล่าร์ (40,506.8 ล้านบาท) เป็นสกุลบาท 20% หรือ 10,126.5 ล้านบาท

โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดในช่วงวันที่ 25 เม.ย. 2562- วันที่ 30 พ.ย. 2562 ที่อัตรา 30.82955 บาทต่อ 1 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนตัวในขณะนี้เนื่องจากการชำระเงินก็เรื่องระบบสัญญา 2.3 นั้นจะชำระเป็นงวดๆ ซึ่งมีการดำเนินโครงการ 5 ปี (2563-2568) ซึ่งขณะนี้ มีเรื่องโรคไวรัส โควิด-19 แต่หากสามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดได้ จะทำให้ค่าเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งในการประชุม ได้กำหนดงวดงานและชำระค่างาน จะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย 

“ก่อนหน้านี้ สัญญา 2.3 กำหนดมูลค่าไว้ที่ 53,633 บ้านบาท แต่ไทย-จีน ได้มีการเจรจาร่วมกันและได้ปรับลด ค่าระบบราง ระบบไฟฟ้าเครื่องกล ค่าตัวรถไฟฟ้า และค่าฝึกอบรมพนักงาน ทำให้สามารถปรับลดวงเงินลงได้กว่า 3 ,000 ล้านบาท”

ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 29 ฝ่ายไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาไม่เกินเดือนตุลาคม 2563

สำหรับโครงการ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย) ระยะที่1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างงานโยธาเมื่อปี 2561 แล้วเสร็จในปี 2566 (ดำเนินการ 5 ปี) 

ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 211,757 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปี 2563 -2568 (ระยะเวลา 5ปี) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้การเชื่อมต่อขนส่งทางราง จากกทม.-หนองคาย และเชื่อมไปยัง สปป.ลาวและประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกัน หลายร้อยล้านคน มีความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง ด้วยค่าบริการที่ต่ำ

https://mgronline.com/business/detail/9630000054435

สุริยะ”ระบุพานาโซนิคยังยึดฐานการผลิตในไทยอีก 18 โรงงาน จ้างงานกว่าหมื่นคน



“สุริยะ”ยืนยัน "พานาโซนิค" ย้ายฐานแค่บางส่วนไปเวียดนาม เพื่อรวมสายการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าไว้ที่เดียวกัน ย้ำยังดำเนินกิจการในประเทศไทย 18 โรงงาน จ้างพนักงานกว่า 10,000 คน พร้อมสั่งอัดโครงการเพิ่มศักยภาพแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง เร่งพัฒนาอาชีพธุรกิจอิสระ ผลักดันเศรษฐกิจชุมชน 4 มิติทั้งผู้ประกอบการ ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน เกษตรและประชาชน คาดช่วยได้กว่า 1.25 ล้านคน
 
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณี มีข่าวปรากฎในสื่อต่างๆ ว่าบริษัท พานาโซนิค ได้ย้ายฐานการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าไปยังประเทศเวียดนาม และจากการรายงานผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมว่ากรณีดังกล่าวเป็นการปรับแผนทางธุรกิจของพานาโซนิคที่วางไว้เดิมอยู่แล้ว เพื่อให้ขนาดการลงทุนมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น (Economy of scale) ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาวัตถุดิบและมีต้นทุนการผลิตลดลง และการย้ายฐานนั้นเป็นการรวมสายการผลิตไว้ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเป็นฐานการผลิตหลักของตู้เย็น และเครื่องซักผ้าของกลุ่มบริษัท พานาโซนิคในอาเซียนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกลุ่มบริษัทพานาโซนิค ยังมีโรงงานอยู่ในประเทศไทยอีก 18 โรงงาน ใช้แรงงานกว่า 10,000 คน โดยมีผลิตภัณฑ์หลักๆเช่น เครื่องเสียง โทรทัศน์ แผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดยังคงเดินสายการผลิตที่ประเทศไทย

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประสานงาน และสอบถามข้อมูลกับ บริษัท พานาโซนิค พบว่า ทางบริษัทมีการปิดฐานการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้า เพื่อไปรวมสายการผลิตฐานหลักที่ประเทศเวียดนาม โดยมีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 800 คน ซึ่งถือว่าเป็นการย้ายฐานไปส่วนน้อยเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาทางบริษัทได้นำเข้าชิ้นส่วนของเครื่องซักผ้าและตู้เย็นชิ้นส่วนมาจากเวียดนามเป็นหลักเพื่อนำมาประกอบในประเทศไทยอยู่แล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บริษัทตัดสินใจย้ายสายงานดังกล่าวไปเวียดนาม”

นายสุริยะกล่าวถึงกรณีของข่าวบริษัทเครื่องปรับอากาศไดกิ้น (Daikin) ที่มีข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น โดยได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่าเป็นการขยายกำลังการผลิตที่ประเทศเวียดนาม และขยายการผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยบริษัท Daikin ได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งการผลิตเครื่องปรับอากาศ และคอมเพรสเซอร์ โดยภาพรวมคือ โมเดลเครื่องปรับอากาศ ส่วนที่ย้ายฐานไปยังประเทศเวียดนามเป็นโมเดลทั่วๆไป ส่วนฐานการผลิตที่ประเทศไทยจะผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้เทคโนโลยีที่ขั้นสูง ซึ่งตรงกับนโยบายรัฐบาลที่เน้นส่งเสริมการลงทุนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพ ธุรกิจอิสระ ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานลดลง ด้วยการผลักดันเศรษฐกิจชุมชน ใน 4 มิติ คือ 

1.มิติผู้ประกอบการ SMEs โดยการปรับธุรกิจให้อยู่รอดในสถานการณ์โควิด-19 และเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้ความปกติวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล เช่น การปรับการตลาดรูปแบบใหม่ การเพิ่มผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม 

2.มิติชุมชนและวิสาหกิจชุมชน โดยการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจากการบ่มเพาะนักพัฒนาชุมชน ผ่านการสร้างและยกระดับการค้า การผลิต และบริการ เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น

3.มิติเกษตร โดยการพัฒนาจากเกษตรเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ผ่านกลไกการสร้างนักธุรกิจเกษตร การใช้ระบบเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเพื่อทำเกษตรสมัยใหม่ (Farming 4.0) และสุดท้ายมิติที่ ..

4.มิติประชาชน แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ โดยการสร้างอาชีพอิสระทั้งในแง่ของการสร้าง และการนำทักษะของแต่ละคนมาประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงการเริ่มธุรกิจค้าขายและบริการตามที่ตนเองถนัด เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ แต่ละมิติจะมีการช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้มีเงินทุนเริ่มทำธุรกิจได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนงบประมาณจำนวน 35% จากงบประมาณคงเหลือของปี 63 นำมาช่วยเหลือและฟื้นฟูใน 4 มิติข้างต้นแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานลดลง จะถูกช่วยเหลือให้มีโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพกว่า 6,000 คน

โดยหลังจากนี้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และขยายผลครอบคลุมให้ทั่วประเทศ จึงได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมการฟื้นฟูทั้ง 4 มิติ ในระยะต่อไป โดยจะเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าจะสามารถช่วยประชาชนได้กว่า 1.25 ล้านคน ตามแนวทางข้างต้นนี้ต่อไป โดยใช้งบประมาณราว 10,000 ล้านบาท ภายใต้ พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท

https://siamrath.co.th/n/157869

ความคืบหน้าของรถไฟไทย-จีนมีมาอีกแล้วค่ะ  

เริ่มขยับเร่งลงนามทำสัญญาเพื่อเดินหน้าไปตามกำหนดแม้จะล่าช้าไปบ้างเพราะโควิด

ส่วนพานาโซนิคก็ไม่ได้ย้ายไปทั้งหมด นับว่าข่าวที่เคยออกมาว่าย้ายไปทั้งหมดมันไม่ใช่ค่ะ

โรงงานยังอยู่อีก 18 โรงงาน และมีการจ้างงานเป็นหมื่นๆคน

รับทราบกับข่าวดีๆนะคะ

แก้ไขข้อความเมื่อ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่