เชื้อสายของนบีมุฮัมหมัด กับชะตากรรมที่น่าเศร้า

กระทู้คำถาม
ปกติ ที่ผ่านๆมา ผมมักจะเขียนเรื่องราวของโลกมลายูให้อ่านกัน ซึ่งจริงๆ จะอยากเขียนอีกเรื่องราวของโลกมลายูบ้าง
แต่วันนี้ ในฐานะที่โลกมลายู คือส่วนหนึ่งของโลกมุสลิมด้วย และก็แทบจะแยกไม่ขาดกัน ดังนั้นก็เปลี่ยนเรื่องราวในวาระขึ้นปีใหม่
เรื่องราวในวันนี้ จะเล่าเรื่องราวของโลกอาหรับโดยตรง เชื่อว่าเรื่องนี้ มุสลิมทั้งไทย มลายู อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าไม่ได้สนใจ
เป็นเรื่องราวของตระกูลฮาชิม ซึ่งเป็นตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากนบีมุฮัมหมัด พระศาสดาและทูตของพระผู้เป็นเจ้าของอิสลาม
ความพิเศษของสายตระกูลนี้คือ เป็นตระกูลที่สืบเชื้อสายจากนางคอดีญะห์ ภรรยาของนบีมุฮัมหมัดผ่านทางนางฟาติมา และ อะลี

ผู้เริ่มสืบเชื้อสายอย่างเป็นทางการคนแรกคือ ฮะซัน บิน อะลี ผู้เป็นบุตรของอะลี หลังจากนั้น จึงผ่านการสืบทอดมาหลายรุ่น หลายสมัย
ตระกูลของฮะซัน บิน อะลี ปกครองมักกะฮ์และแคว้นฮิญาซ ทางตะวันตกของอาระเบียมายาวนาน จนถึงรุ่นที่ 37 ของ ชารีฟ ฮุสเซน บิน อะลี
ชารีฟ ฮุสเซน บิน อะลี อัลฮาชิมิ วางแผนแยกตัวและประกาศเป็นเอกราชจากออตโตมัน ภายใต้การสนับสนุนของอังกฤษและฝรั่งเศส
แน่นอนว่า ชัยชนะตกเป็นของชารีฟ ฮุสเซน พระองค์ประกาศเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาหรับโดยทันที แต่ทว่า มันก็ส่งผลร้ายแรงในภายหลัง
เมื่อสุลต่านแห่งนัจญ์ นามว่า อับดุลอาซิซ บิน อับดุลระห์มัน อัล ซาอูด หรือรู้จักกันในหมู่ฝรั่งว่า อิบน์ ซาอูด ไม่เห็นด้วยกับการเป็นกษัตริย์

มีการวิเคราะห์กันว่า ชารีฟ ฮุสเซน กับ กษัตริย์ อับดุลอาซิซ ไม่ลงรอยกันเพราะความเชื่อทางศาสนาต่างกัน แถมมันต่างกันแค่สำนักย่อยเท่านั้น
ชารีฟ ฮุสเซน เป็นมุสลิมสายฮานาฟี ขณะที่กษัตริย์ อับดุลอาซิซ เป็นมุสลิมสายฮันบาลี ซึ่งเป็นรากฐานของลัทธิวาฮะบีย์ ที่ยึดถือกันในตระกูลซาอูด
แม้ว่าชารีฟ ฮุสเซน จะเป็นมิตรที่ดีต่อมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม เส้นมิตรภาพก็เริ่มขาดลง เมื่อชารีฟ ฮุสเซน ปฏิเสธที่จะยกปาเลสไตน์และซีเรียให้
ทำให้ในเวลาต่อมา เมื่อพวกนัจญ์ได้เข้ารุกรานแคว้นฮิญาซ อังกฤษและฝรั่งเศส จึงไม่ได้ส่งความช่วยเหลือใดๆ ให้กับแคว้นฮิญาซ
ผลสุดท้าย ทำให้พวกนัจญ์ ยึดครองแคว้นฮิญาซได้ พร้อมๆกับ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอิสลาม ที่เกิดขึ้นตั้งแต่นั้น

พระโอรสของชารีฟ ฮุสเซน ขึ้นครองราชย์ทั้ง 3 พระองค์ องค์โต คือ อะลี พ่ายแพ้ต่อนัจญ์ อีก 2 องค์ คือ อับดุลเลาะห์ และ ไฟซาล
กษัตริย์อับดุลเลาะห์ ปกครองดินแดนจอร์แดนสืบต่อจนถึงปัจจุบัน ส่วนกษัตริย์ไฟซาล ปกครองอิรักมาได้อีก 2 รุ่น ก็เกิดการปฏิวัติขึ้น
การปฏิวัติเกิดขึ้นในวันที่ 14 กรกฏาคม 1958 โดยอ้างว่าเป็นการขับไล่อำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกออกไป รวมถึงการต่อต้านสหพันธรัฐอาหรับ
ผลจากการทำรัฐประหาร ทำให้กษัตริย์ไฟซอลที่ 2 แห่งอิรักถูกสำเร็จโทษ รวมถึงเจ้าชายอับดุลเลาะห์ พระโอรสของกษัตริย์อะลีแห่งฮิญาซด้วย
ความรุนแรงของการปฏิวัติ ว่ากันว่า มีการหั่นพระศพของเจ้าชายอับดุลเลาะห์ พร้อมทั้งให้ประชาชนลากไปมาในถนนและเผาพระศพอีกด้วย

เรื่องราวทั้งหมด อาจจะไม่น่าเชื่อสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับบรรดาผู้สืบเชื้อสายของทูตแห่งพระเจ้าอย่างนบีมุฮัมหมัด ที่มุสลิมทั้งปวงต่างเคารพรัก
แต่มีการวิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นเพราะตระกูลฮาชิม เป็นเชื้อสายของอะลี ซึ่งนับถือกันในกลุ่มชาวชีอะห์มากกว่าชาวซุนนีย์ ที่นับถืออาบูบักร์มากกว่า
ในปัจจุบัน หากนับเฉพาะที่ยังสืบทอดราชบัลลังก์กันอยู่นั้น ก็มีเฉพาะกับกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดนเท่านั้น ที่ยังครองราชสมบัติอยู่
ในโลกมลายูนั้น มีพระมหากษัตริย์และสุลต่านจำนวนไม่น้อยที่สืบเชื้อสายมาจากนบีมุฮัมหมัดเหมือนกัน และส่วนใหญ่ก็มาจากสายอะลีด้วย
ว่ากันว่า เรื่องราวความขัดแย้งทางศาสนา อาจจะมีที่มาที่ไปอย่างที่เราคาดไม่ถึงและอาจจะเป็นเรื่องน่าตกใจในวันหนึ่งเหมือนกัน
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่