ปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง ตุ่มน้ำใส จากโรคงูสวัดกับผู้สูงอายุ

กระทู้สนทนา
“งูสวัด” เป็นโรคที่หลายคนคงเคยได้ยินชื่อโรคนี้กันมาบ้างแล้ว แต่รู้ไหม? ครับว่าโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นตามอายุ และอาการปวดรวมถึงภาวะแทรกซ้อนในผู้สูงวัยก็มักจะรุนแรงและมีอาการยาวนานกว่าคนทั่วไปอีกด้วยนะครับ...

โรคงูสวัดเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทใต้ผิวหนังแฝงตัวอยู่เป็นเวลานานหลายสิบปี โดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะจากการที่อายุมากขึ้นเชื้อไวรัสที่แฝงอยู่จะแพร่กระจายไปตามแนวเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย และแสดงอาการของโรคงูสวัดออกมานั่นเองครับ



อาการของโรคงูสวัดจะเริ่มจากมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง หลังจากนั้น 2-3 วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแสบ แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส โดยผื่นมักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท มักเกิดบริเวณชายโครง ใบหน้า แขน ซึ่งปกติผื่นจะหายเองได้ภายในสองสัปดาห์ แต่เมื่อผื่นหายแล้วอาจจะยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาท ซึ่งอาจจะปวดได้อีก 3-12 เดือน และในบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วยครับ

ผื่นที่เกิดจากโรคงูสวัดสามารถหายเองได้และไม่ได้น่ากลัว แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลของโรคงูสวัดคือภาวะแทรกซ้อน ซึ่งผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง ยิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนานขึ้น เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง มักจะมีอาการปวดลึกๆ ปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา อาจปวดแม้ถูกสัมผัสเพียงเบาๆ หรือหากเกิดขึ้นบริเวณดวงตา ผู้สูงอายุบางท่านอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนอาจทำให้ตาบอดได้ และยิ่งไปกว่านั้นหากเชื้องูสวัดแพร่กระจายออกนอกแนวเส้นประสาท เชื้อไวรัสอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ตับ ปอด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบซึ่งอาจทำให้ชีวิตได้เลยนะครับ

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคงูสวัด คือการฉีดวัคซีน แนะนำให้ผู้สูงอายุทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีนถ้าไม่มีข้อห้าม รวมถึงคนที่เคยเป็นงูสวัดแล้วก็ควรได้รับวัคซีน เพราะวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพของเราให้ดี ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานเชื้อโรคนั่นเองครับ...

แก้ไขข้อความเมื่อ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่