ใครที่กำลังคิดจะเลเซอร์กำจัดขน เชิญทางนี้ก่อนค่ะ ดิฉันจะบอกข้อมูลที่ทุกท่านไม่เคยทราบมาก่อน จากนศ.ป.เอก วิศวกรรมการแพทย์

กระทู้สนทนา
สวัสดีค่ะทุกคน เราเป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมการแพทย์
อีกไม่นานก็คงจะจบ (หวังว่านะ) 5555
ตอนนี้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในความสวยความงาม ก็เลยทำเพจด้วยซะเลย
อยากแบ่งปันข้อมูลให้เพื่อนๆได้ทราบก่อนจะไปทำเลเซอร์นะคะ จะได้ไม่โดนคลินิกต่างๆหลอก เวลาหมอพูด จะได้เข้าใจด้วย
ยังไงก็ช่วยเป็นกำลังให้สำหรับการเขียนเรื่องต่อๆไปด้วยนะคะ
เราชื่อคุกกี้
ติดตามได้ที่
www.facebook.com/laserbycookie
ขอบคุณค่ะทุกคน


!!!เลเซอร์กำจัดขน!!!

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่าน คงเคยมีความคิดที่จะกำจัดขนในบริเวณส่วนที่ไม่ต้องการใช่มั้ยคะ
แต่พอไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พบว่าตัวนั้นก็ดี ตัวนี้ก็ใช่
บางคนไปทำแล้วก็ได้ผล แล้วบางคนทำไมถึงไม่ได้ผลกันล่ะ
วันนี้คุกกี้จะมาอธิบายให้ทุกๆท่านเข้าใจกันค่ะ
เริ่มกันเลยยย!!
■เลเซอร์ที่นิยมใช้ในทางการแพทย์สำหรับกำจัดขนถาวรมีอะไรบ้าง
1. Long-pulsed ruby laser
คือ คือเลเซอร์ที่ใช้ตัวกลางในการผลิตแสงเป็นสารผลึกของแข็ง (ผลึกทับทิม) มีลักษณะของคลื่นเป็นแบบพัลส์ยาว
มีความยาวคลื่นอยู่ที่ 694 นาโนเมตร
เนื้อเยื่อเป้าหมายคือ เมลานิน (เม็ดสี)
ระดับความลึก ผิวหนังชั้นในส่วนกลาง (mid-dermis)


2.Long-pulsed Alexandrite laser
คือ คือเลเซอร์ที่ใช้ตัวกลางในการผลิตแสงเป็นสารผลึกของแข็ง (ผลึกอเล็กแซนไดร์) มีลักษณะของคลื่นเป็นแบบพัลส์ยาว (*อธิบายในตอนที่8)
มีความยาวคลื่นอยู่ที่ 755 นาโนเมตร
เนื้อเยื่อเป้าหมายคือ เมลานิน (เม็ดสี), ฮีโมโกบิน(เส้นเลือด), น้ำหมึกที่ใช้ในการสัก(สีดำ)
ระดับความลึก ผิวหนังชั้นในส่วนลึก (deep dermis)

3.Long-pulsed Nd:YAG laser
คือเลเซอร์ที่ใช้ตัวกลางในการผลิตแสงเป็นสารผลึกของแข็ง (ผลึก Yttrium-aluminum garnet ที่มีสารเจือปนคือ Neodymium) เรียกสั้นๆว่า นีโอดีเมียม: แย๊ก มีลักษณะของคลื่นเป็นแบบแบบพัลส์ยาว
มีความยาวคลื่นอยู่ที่ 1064 นาโนเมตร
เนื้อเยื่อเป้าหมายคือ เมลานิน (เม็ดสี)
ความลึก ผิวหนังชั้นในส่วนลึก/ ชั้นไขมัน (Deep dermis/ subcutaneous tissue)

4.Long-pulsed diode laser
คือเลเซอร์ที่ใช้ตัวกลางในการผลิตแสงเป็นสารกึ่งตัวนำ มีลักษณะของคลื่นเป็นแบบพัลส์ยาว
มีความยาวคลื่นอยู่ที่ 800-810, 940, 1,350-1,064 นาโนเมตร
เนื้อเยื่อเป้าหมายคือ เมลานินในรูขุมขน (เม็ดสีบริเวณรากขน)
ความลึก ผิวหนังชั้นในส่วนลึก (deep dermis)

5.IPL คือแสงความเข้มสูง ย่อมาจาก intense pulsed light (ไม่ใช่แสงเลเซอร์)
ซึ่งจะขอกล่าวถึงรายละเอียดในคราวหลังนะคะ

***(เนื้อหาจากตอนที่8) การปล่อยพลังงานแบบพัลส์ (pulse) การปล่อยพลังงานในระดับที่สูงมากๆ เป็นจังหวะในช่วงสั้นๆ
มีสามแบบ คือพัลส์สั้น พัลส์ยาว และ คิวสวิทช์
พัลส์สั้น ปล่อยพลังงานยาวนานในหน่วยของ millisecond ในจังหวะที่ปล่อยออกมาหนึ่งครั้ง
พัลส์สยาว ปล่อยพลังงานยาวนานในหน่วยของ microsecond ในจังหวะที่ปล่อยออกมาหนึ่งครั้ง
คิวสวิทช์ ปล่อยพลังงานยาวนานในหน่วยของ nanosecond ในจังหวะที่ปล่อยออกมาหนึ่งครั้ง***


■แล้วแสงเลเซอร์กำจัดขนได้อย่างไร? มีกลไกอะไรบ้าง?
แสงเลเซอร์จะกำจัดขนโดยการส่งผ่านพลังงานแสงเลเซอร์ไปที่รากขน โดยเมลานิน (เซลล์เม็ดสี) ที่รากขนจะดูดซับพลังงานแสง หลังจากนั้นพลังงานแสงจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน  ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่มีเซลล์เม็ดสีถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว เส้นขน รากขน และเนื้อเยื่อต่างๆที่ทำหน้าที่ผลิตขนก็จะถูกทำลายไปด้วยเช่นกัน รวมถึงเนื้อเยื่อเชื่อมต่อบริเวณรากขนและเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงด้วย (mesenchyme) ทำให้ไม่สามารถผลิต stem cells ที่ทำให้ขนงอกได้  เป็นผลให้วงจรการเกิดขนใหม่จะช้าออกไปเรื่อยๆ เส้นขนที่เกิดใหม่จะมีขนาดที่เล็กลง สีอ่อนลง และจะค่อยๆ ขึ้นน้อยลง และหากเลเซอร์ซ้ำๆ เส้นขนก็จะค่อยๆหมดไปในที่สุด



■ผลข้างเคียงจากการใช้เลเซอร์กำจัดขนคืออะไรบ้าง?
เมื่อแสงเลเซอร์สัมผัสกับเนื้อเยื่อ พลังงานแสงจะถูกแปรเปลี่ยนกลายเป็นพลังงานความร้อน
ผลจากความร้อนนี่แหละ ที่เป็นตัวการสำคัญให้เกิด side effect ต่างๆ ดังนี้
Erythema รอยแดง / Blistering ตุ่มพองน้ำ / Hyperpigmentation รอยคล้ำจากการผลิตเม็ดสีที่มากเกินผิดปกติ

■ซึ่งเราอาจลดความเสี่ยงในการ side effect เหล่านี้ได้ โดย
1. ลดอุณหภูมิผิวหนัง เพื่อทำให้ผิวเย็นขึ้น เช่น ใช้เจลเย็น เครื่องพ่นลมเย็น สเปร์เย็น หรือ วัสดุประคบเย็นต่างๆ
2.การปรับช่วงเวลาปล่อยแสงให้ยาวขึ้น (ปรับพัลส์ (pulse) ให้ยาวนานขึ้น) เพื่อให้ความร้อนในผิวหนังชั้นนอก (epidermis) กระจายตัวลงมายังชั้นอื่นๆ อัตราการไหม้ก็จะน้อยลง ทั้งนี้เนื่องจากผิวหนังชั้นนอกประกอบไปด้วยเม็ดสีผิวเป็นจำนวนมาก ซึ่งเม็ดสีผิวจะดูดซับพลังงาน จึงทำให้เกิดความร้อนบริเวณชั้นนี้
***พัลส์สั้น คือการส่งพลังงานมาแค่ช่วงสั้นๆ ทำให้ความร้อนยังไม่ทันได้กระจายตัว ความร้อนเลยกระจุกอยู่แค่บริเวณนั้น แต่พัลส์ยาว คือการส่งพลังงานในระยะเวลาที่นานขึ้น ทำให้ความร้อนมีการแพร่ผ่านไปยังเนื้อเยื่อบริเวณข้างๆด้วย
3.ควบคุมพลังงานโดยการควบคุมความยาวคลื่น
***ทำไมเราถึงต้องควบคุมความยาวคลื่น? ก็เพราะว่า ความยาวคลื่นสั้นๆ ทำให้เกิดความร้อนสูงกว่า เมื่อเทียบกับความยาวคลื่นยาวๆ (คลื่นสั้นร้อนกว่าคลื่นยาว) ดังนั้นความยาวคลื่นจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องควบคุมเพราะมีผลต่อความร้อนที่เกิดขึ้นในผิวหนัง

■คนผิวขาว และคนผิวเข้ม ให้ผลการรักษาที่เหมือนกันหรือไม่
เมื่อให้แสงเลเซอร์ ในพลังงานระดับเดียวกัน ที่ความยาวคลื่นเท่ากัน คนผิวขาว สามารถรับพลังงานได้สูงกว่า เมื่อเทียบกับคนผิวสีเข้ม เพราะคนผิวขาวมีเม็ดสีน้อย (เม็ดสีทำหน้าที่ดูดซับแสงและแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน) จึงทำให้เกิดความร้อนน้อยกว่า ในขณะที่คนผิวสีเข้ม มีเม็ดสีผิวมากกว่า ดังนั้น จึงดูดซับแสงมากกว่า เมื่อแสงแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน พลังงานที่ได้รับจึงมากกว่าคนผิวขาว และทำให้ร้อนกว่า
**ดังนั้น ถ้าหากใช้พลังงานแสงเลเซอร์ในระดับเดียวกันกับที่ใช้รักษาคนผิวขาว พลังงานที่คนผิวสีเข้มได้รับจะสูงเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้ จึงจำเป็นต้องลดพลังงานลง โดยใช้ความยาวคลื่นที่ยาวขึ้น ทำให้เกิดความร้อนที่ผิวหนังน้อยลง ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงก็จะลดลง แต่ผลการรักษาก็จะน้อยลงตามด้วยเช่นกัน



■การกำจัดขนโดยเลเซอร์จะได้ผลดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง?
1.ขึ้นอยู่กับพลังงานที่สูงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำจัดขน ถ้าพลังงานสูงพอ ก็จะสามารถส่งไปถึงบริเวณรากลึกของขนในรูขุมขน ทำให้สามารถทำลายเซลล์เป้าหมายที่รูขุมขนได้
2.ความลึกของรากขน (ความยาวคลื่นมีระดับการทะลุทะลวง (penetration depth) ลึกไปถึงรากขนหรือไม่)
3.สีผิวและสีขน (สีผิวและสีขนสีเข้ม มีเม็ดสีเยอะ ผิวขาวและขนสีอ่านมีเม็ดสีน้อย จึงเหมาะกันคลื่นที่มีความยาวต่างกัน)
4.ความยาวคลื่น (มีผลต่อพลังงานและความร้อน คลื่นยาวเหมาะกับคนที่มีสีผิวเข้ม คลื่นสั้นเหมาะกับคนผิวขาว)
5.วงจรชีวิตของเส้นขน (มีงานวิจัยพบว่า การกำจัดขนในวงจรชิวิตของขนที่ต่างกัน ให้ผลที่ต่างกัน เลเซอร์แบบ long pulse ที่เราใช้กัน ให้ผลการรักษาได้ดีในเฉพาะระยะเจริญตัว (ระยะanagen) ของเส้นขนเท่านั้น)

■วงรชีวิตของเส้นขน แบ่งเป็น 3 วงจร
1.ระยะเจริญ (anagen) ระยะนี้มีการแบ่งตัวของเซลล์ และมีการสร้างเม็ดสี
2.ระยะเปลี่ยนแปลง (catagen) เซลล์หยุดการแบ่งตัว และหยุดการสร้างเมลานิน บริเวณรากหดตัว เส้นขนถูกดันขึ้น
3.ระยะพักตัว (telogen)
*เส้นขนในบริเวณเดียวกัน อาจอยู่ในระยะที่ต่างกันก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัย ว่าทำไมเลเซอร์แล้วขนจึงขึ้นหยุมหยิมไม่เท่ากันในแต่ละส่วน*



■ทำไมถึงต้องเลเซอร์หลายครั้ง
เพราะเส้นขนในบริเวณเดียวกัน อาจอยู่ในระยะที่ต่างกัน ดังนั้นเส้นขนมีการเปลี่ยนวงจรตลอด แต่มีแค่วงจรระยะเจริญ (anagen)เท่านั้น ที่สามารถตอบสนองการรักษาได้ดีกับ long pulsed laser เราจึงต้องใช้เวลาเพื่อที่จะรอให้เส้นขนในระยะอื่นๆกลับเข้าสู่ระยะเจริญ (anagen) อีกครั้ง เพื่อที่จะกำจัดขนได้ทั้งหมด

*รู้หรือไม่ว่า ตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เลเซอร์และแหล่งกำเนิดแสงที่ใช้ในการกำจัดขนต้องสามารถทำให้ขนลดลงประมาณ 30% ณ เวลา 3 เดือนภายหลังการทำเลเซอร์ 1 ครั้ง
อย่างน้อยข้อกำหนดในบางประเทศก็สามารถทำให้เราเชื่อถือในมาตรฐานของเครื่องมือเลเซอร์ที่จะนำมาให้งานได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ความเชี่ยวชาญของแพทย์ และความเหมาะสมในการเลือกใช้งานเครื่องมือแสงเลเซอร์กับผู้ที่จะทำการรักษาด้วยค่ะ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่