อดีตผู้พิพากษา ชี้"พร้อมพงศ์-เกียรติอุดม"ไม่ใช่คดีแรกที่ถูกเชือด-เทียบอดีตไม่ได้

กระทู้สนทนา


ภายหลังจากที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลังศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา คดีที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นฟ้อง ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ได้มีแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน เดินทางเข้าเยี่ยมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

โดยหนึ่งในนั้นคือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ ซึ่งให้ความเห็นว่า ก่อนศาลตัดสินไม่ได้คาดว่าทั้งคู่จะถูกจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ถือเป็นคนแรกที่ถูกตัดสินลักษณะนี้ เพราะที่ผ่านมาหลายคดีจะรอลงอาญา ถือเป็นจุดที่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ผู้พิพากษา ต้องนำไปศึกษาเพิ่ม เพราะอาจเป็นบรรทัดฐานในอนาคตได้ นักกฎหมายก็ต้องนำมาศึกษา เพื่อใช้ในการสอนนักศึกษารุ่นต่อไป รวมทั้งเป็นแนวทางในอนาคตที่ใครหรือนักการเมืองหากจะพูดสิ่งใดต้องระมัดระวังมากขึ้น

http://www.matichon.co.th/online/2015/07/14378166971437818775l.jpg
ต่อมา นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา กล่าวถึงประเด็นข้างต้นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ระบุว่า กรณีกลุ่มนักการเมืองพรรคเพื่อไทยไปเยี่ยมนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และมีบางคนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า "ไม่คิดว่า คดีนี้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ เพราะคดีลักษณะนี้ศาลรอการลงโทษให้ตลอดมา ต่อไปนักการเมืองจะพูดอะไรต้องระมัดระวังให้มากขึ้น" นั้น เท่ากับเป็นการยอมรับว่า จำเลยทั้งสองคนกระทำการหมิ่นประมาทโจทก์จริง แต่ศาลน่าจะรอการลงโทษให้ เพราะเคยรอการลงโทษให้จำเลยคนอื่นๆ มาแล้ว


อยากจะบอกว่า การที่ศาลจะรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่บัญญัติว่า

ผู้ใดกระทําความผิดซึ่งมีโทษจําคุกและในคดีนั้นศาลจะลงโทษจําคุกไม่เกินสามปีถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจําคุกมาก่อนฯลฯเมื่อศาลได้คํานึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรมสุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควรศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือกําหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กําหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกําหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าการที่ศาลจะรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ซึ่งเป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคนไม่ใช่ศาลจะต้องรอการลงโทษให้จำเลยทุกคน แม้ในคดีเดียวกันจำเลยบางคนอาจรอการลงโทษให้ แต่บางคนอาจไม่รอการลงโทษให้ก็ได้

ส่วนที่ว่าความผิดลักษณะนี้ ศาลเคยรอการลงโทษให้ทุกคน ก็ไม่เป็นความจริง นายสมัคร สุนทรเวช ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นายสมัครถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาจึงไม่ได้มีคำพิพากษา

คดีที่ศาลรอการลงโทษให้ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ประชาชนพิพาทกันเอง หรือนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ หรือกล่าวหานักการเมืองด้วยกันเอง

แต่กรณีจำเลยทั้งสอง เป็นเรื่องการนำความเท็จมาใส่ความกล่าวหาประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเจตนาให้ประชาชนทั่วไปขาดความเชื่อมั่นในสถาบันศาลที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของจำเลยและพรรคการเมืองที่จำเลยสังกัดอยู่ พฤติกรรมเช่นนี้ไม่เคยมีนักการเมืองคนใดหรือใครกระทำมาก่อน มีเพียงจำเลยทั้งสองเท่านั้น

นักกีฬาฟุตบอลเล่นนอกเกม ฝ่าฝืนกฎกติกา อาจโดนใบเหลือง ใบแดง โดนปรับเป็นเงิน หรือถูกห้ามลงเล่นในระยะเวลามากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับว่ากระทำนั้นๆ ร้ายแรงมากน้อยเพียงใด

เมื่อเร็วๆ นี้ นักฟุตบอลคนหนึ่งทำร้ายกรรมการผู้ตัดสิน จึงถูกสมาคมฟุตบอลลงโทษห้ามลงเล่นแข่งขันฟุตบอลตลอดชีวิต การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่ต่างไปจากการกระทำของนักฟุตบอลคนดังกล่าว

นักกีฬาเล่นกีฬาไม่ฝ่าฝืนกฎ กติกา นักการเมืองนำสิ่งที่เป็นความจริงสิ่งที่ถูกต้องมาเสนอให้ประชาชนทราบ ก็ไม่ต้องหวั่นไหวหรือหวั่นเกรงใดๆ ว่าจะถูกลงโทษหนักหรือศาลไม่รอการลงโทษให้เลย ครับ

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1437816697
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่