ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อไป นี้เป็นความชอบในวินัยของพระอริยเจ้า

.
             สามัญญผลสูตร (บางส่วน)
             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และ
พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

             โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด หม่อมฉันได้ปลง
พระชนมชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่

             ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันโดยเป็นความผิดจริง
เพื่อสำรวมต่อไป

             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า จริง จริง ความผิดได้ครอบงำมหาบพิตรซึ่งเป็น
คนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด มหาบพิตรได้ปลงพระชนมชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชา
โดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่

             แต่เพราะมหาบพิตรทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริงแล้ว ทรงสารภาพ
ตามเป็นจริง ฉะนั้น อาตมภาพ ขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร

             ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริง
รับสังวรต่อไป นี้เป็นความชอบในวินัยของพระอริยเจ้าแล

             
             เนื้อความพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=1072&Z=1919&bgc=ivory&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=91&bgc=ivory
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/tipitaka_seek.php?text=ความเจริญในวินัยของพระอริยะ

             พระเจ้าอชาตศัตรู ตั้งแต่เวลาที่ปลงพระชนม์พระบิดาแล้ว ก็ไม่ได้บรรทมหลับเลยทั้งกลางคืนกลางวัน
             แต่หลังจากที่ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้ว และทรงถึงไตรสรณคมน์ ก็ทรงบรรทมหลับได้
             "ชื่อว่าผู้ที่ประกอบด้วยศรัทธาระดับปุถุชนที่เสมอเหมือนพระราชานี้ไม่.
             ก็ในอนาคต จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าชีวิตวิเสส จักปรินิพพาน"
             (พระองค์ไม่สามารถบรรลุมรรคผลในอัตภาพนี้ เพราะปลงพระชนม์พระบิดา)

             จากพระพุทธพจน์ ความเจริญในอริยวินัย มีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการคือ
             ๑. เห็นโทษโดยความเป็นโทษ เห็นการทำผิดอย่างนั้น เป็นความผิด            
                 [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

             ๒. กระทำคืนตามธรรม คือแสดงโทษนั้นตามที่เหมาะสม เช่น กล่าวขอโทษ หรือชดใช้

             ๓. ถึงความสำรวมต่อไป สำรวมระวังเพื่อที่จะไม่ทำผิดอีก ด้วยการให้คำมั่นว่าจะไม่ทำอีกเป็นต้น


ตัวอย่างของผู้เห็นโทษโดยความเป็นโทษและสำนึกผิด ในชาดกต่อไปนี้

             พญาช้างฉัททันต์
             พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุณีสาวรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีดังนี้.

             ... นางภิกษุณีนั้นเป็นธิดาของตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี เห็นโทษในฆราวาสแล้วออกบวชในพระศาสนา
             วันหนึ่งไปเพื่อจะฟังธรรมพร้อมกับพวกนางภิกษุณี เห็นพระรูปโฉมอันบังเกิดขึ้นด้วยบุญญานุภาพหาประมาณมิได้
กอปรด้วยพระรูปสมบัติอันอุดมของพระทศพล ซึ่งประทับเหนือธรรมาสน์อันอลงกต กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนา จึงคิดว่า
             เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ ได้เคยเป็นบาทบริจาริกาของมหาบุรุษนี้หรือไม่หนอ?

             ในทันใดนั้นเอง นางก็เกิดระลึกชาติในหนหลังได้ว่า เราเคยเป็นบาทบริจาริกาของมหาบุรุษนี้ ในคราวที่ท่านเป็น
พญาช้างฉัททันต์ เมื่อนางระลึกได้เช่นนั้น ก็บังเกิดปีติปราโมทย์ใหญ่ยิ่ง ด้วยกำลังแห่งความปีติยินดี นางจึงหัวเราะออกมาดังๆ
             แล้วหวนคิดอีกว่า ขึ้นชื่อว่าบาทบริจาริกาที่มีอัธยาศัยมุ่งประโยชน์ต่อสามีมีน้อย มิได้มุ่งประโยชน์แลมีมาก
             เราได้มีอัธยาศัยมุ่งประโยชน์ต่อบุรุษนี้ หรือหาไม่หนอ

             นางระลึกไปพลางก็ได้เห็นความจริงว่า แท้จริง เราสร้างความผิดไว้ในหทัยมิใช่น้อย
             ค่าที่ใช้นายพรานโสณุดรให้เอาลูกศรอาบด้วยยาพิษ ยิงพญาช้างฉัททันต์ สูงประมาณ ๑๒๐ ศอก ให้ถึงความตาย
             ทันใดนั้นความเศร้าโศกก็บังเกิดแก่นาง ดวงหทัยเร่าร้อน ไม่สามารถจะกลั้นความเศร้าโศกไว้ได้
             จึงร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยเสียงอันดัง


             พระศาสดาทรงนำอดีตนิทาน มาตรัสดังต่อไปนี้

             ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพญาช้างฉัททันต์ เป็นหัวหน้าช้าง อัครมเหสีของพระโพธิสัตว์นั้นมีสอง คือ
             จุลลสุภัททา และ มหาสุภัททา

             นางจุลลสุภัททาคิดว่า พญาช้างรักใคร่นางมหาสุภัททามากกว่าตน จึงจองเวรพระโพธิสัตว์เรื่อยมา
             จนเมื่อนางเสียชีวิตลง ได้ไปบังเกิดในพระครรภ์แห่งพระอัครมเหสีของพระราชา ในแคว้นมัททรัฐ
             และเมื่อประสูติออกมาแล้ว ชนกชนนีพาไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี

             นางเป็นที่รักใคร่ โปรดปรานของพระเจ้าพาราณสี จนได้เป็นประมุขแห่งนางสนม
             ทั้งได้ญาณเครื่องระลึกชาติหนหลังได้ พระนางสุภัททานั้นทรงดำริว่า
             ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว คราวนี้จักให้ไปเอางาทั้งคู่ของพญาช้างนั้นมา

             วันหนึ่ง พระนางทูลพระราชาว่า พระนางแพ้ท้อง
             "เราฝันเห็นช้างเผือกผ่อง งามีรัศมี ๖ ประการ เราต้องการงาช้างคู่นั้น เมื่อไม่ได้ชีวิตก็เห็นจะหาไม่"

             เมื่อได้เห็นพรานป่าคนหนึ่ง ชื่อโสณุดร เคยเป็นคู่เวรของพระมหาสัตว์ จึงทรงดำริว่า
             ผู้นี้จักสามารถทำตามคำของเราได้
             จึงชี้บอกที่อยู่ของพญาช้างและวัตรปฏิบัติอันเป็นปกติของพญาช้างแก่พรานป่า

             นายพรานใช้เวลาเดินทางหลายปี จนมาถึงที่อยู่ของพระมหาสัตว์
             เมื่อไปถึงแล้ว ก็ได้ตระเตรียมแผนปลงชีวิตพญาช้าง ...

             พญาช้างถูกยิงแล้ว ก็ร้องก้องโกญจนาท นัยว่า ลูกศรนั้นทะลุไปตรงนาภีประเทศของพญาช้าง ทำลายอวัยวะ เช่นไต
เป็นต้นให้แหลกละเอียด ตัดไส้น้อยเป็นต้น เรื่อยไปจนทะลุออกทางเบื้องหลังของพญาช้าง แล่นเลยไปในอากาศ แผลเหวอะหวะ
คล้ายถูกคมขวานฉะนั้น เลือดไหลออกทางปากแผลนองไป ดุจน้ำย้อมไหลออกจากหม้อ บังเกิดทุกขเวทนาเหลือกำลัง
พญาช้างไม่สามารถจะอดกลั้นทุกขเวทนาได้ก็ร้องก้องสนั่นไปทั่วสกลบรรพต บันลือโกญจนาท อื้ออึงถึงสามครั้ง

             พญาช้างก้มมองดูทางช่อง เห็นนายพรานโสณุดร ก็เกิดโทสจิตคิดว่า เราจักฆ่ามัน จึงสอดงวงอันงามราวกะพวงเงิน
ลงไปลูบคลำดู ได้มองเห็นผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
             พญาช้างจึงยกนายพรานขึ้นมาวางไว้เบื้องหน้า
             ลำดับนั้น สัญญา คือความสำนึกผิดชอบได้เกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์ ซึ่งได้รับทุกขเวทนาขนาดหนักดังนี้ว่า
             ขึ้นชื่อว่า ธงชัยแห่งพระอรหันต์ ไม่ควรที่บัณฑิตจะทำลาย ควรสักการะเคารพอย่างเดียวโดยแท้

             พระโพธิสัตว์ทรงสอบถามนายพรานว่า ฆ่าเราทำไม เมื่อนายพรานเล่าให้ฟัง พระโพธิสัตว์ก็ทราบว่า
             นี้เป็นการกระทำของนาง จุลลสุภัททา
             สู้อดกลั้นเวทนาไว้ กล่าวว่า พระนางสุภัททานั้น ใช่จะต้องการงาทั้งสองของเราก็หามิได้ แต่เพราะประสงค์จะให้ท่านฆ่าเรา
พระนางเป็นคนพาล โกรธเคือง ผูกเวร ต้องการจะฆ่าเรา.

             ดูก่อนนายพราน ท่านจงลุกขึ้นเถิด จงหยิบเลื่อยมาตัดงาคู่นี้เถิด ประเดี๋ยวเราจะตายเสียก่อน
             ท่านจงกราบทูลพระนางสุภัททาผู้ยังผูกโกรธว่า พญาช้างตายแล้ว เชิญพระนางรับงาคู่นี้ไว้เถิด.

             นายพรานโสณุดรได้ฟังคำของพญาช้างแล้ว ลุกขึ้นจากที่นั่งถือเลื่อย เข้ามาใกล้ๆ พญาช้าง คิดว่า
             เราจักตัดเอางาไป ก็พญาช้างนั้นสูงประมาณ ๘๐ ศอก ยืนเด่นคล้ายภูเขาเงิน ด้วยเหตุนั้น พรานโสณุดรจึงเอื้อมเลื่อยงาไม่ถึง

             ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงย่อกายนอนก้มศีรษะลงเบื้องต่ำ ขณะนั้น นายพรานจึงเหยียบงวงเช่นกับพวงเงิน
ของพระมหาสัตว์ ขึ้นไปอยู่บนกระพอง เป็นเหมือนขึ้นยืนอยู่บนเขาไกรลาส แล้วเอาเข่ากระตุ้นเนื้อ ซึ่งย้อยอยู่ที่ปาก
ยัดเข้าข้างใน ลงจากกระพองแล้วสอดเลื่อยเข้าไปภายในปาก นายพรานเอามือทั้งสองเลื่อยชักขึ้นชักลง อย่างทะมัดทะแมง
ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์เป็นกำลัง ปากเต็มไปด้วยโลหิต


             เมื่อนายพรานเลื่อยชักไปชักมาอยู่ ก็ไม่สามารถจะเอาเลื่อยตัดงาให้ขาดได้
             ทีนั้นพระมหาสัตว์เจ้าจึงบ้วนโลหิตออกจากปาก สู้อดกลั้นทุกขเวทนาได้ ถามนายพรานว่า
             สหายเอ๋ย ท่านไม่สามารถจะตัดงาให้ขาดได้ละหรือ?
             พรานโสณุดรตอบ ใช่แล้วนาย
             พระมหาสัตว์ดำรงสติมั่นกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงยกงวงของเราขึ้น ให้จับเลื่อยข้างบนไว้ เราเองไม่มีกำลังจะยกงวงของเราได้
             นายพรานก็ปฏิบัติตามเช่นนั้น

             พระมหาสัตว์เอางวงยึดมือเลื่อยไว้ แล้วชักขึ้นชักลง ส่วนงาทั้งสองก็ขาดประดุจตัดตอไม้ฉะนั้น

             ทีนั้นพญาช้างจึงให้นายพรานนำงาเหล่านั้นมาถือไว้ แล้วกล่าวว่า
             สหายพราน เราให้งาเหล่านี้แก่ท่าน ใช่ว่าเราจะไม่รักของเราก็หามิได้ ทั้งเรามิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ เป็นมาร
เป็นพรหมเลย    
             แต่เพราะงาคือพระสัพพัญญุตญาณนั้น เรารักกว่างาคู่นี้ตั้งร้อยเท่า พันเท่า
             ขอบุญนี้จงเป็นปัจจัยแห่งการได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ

             ครั้นพระมหาสัตว์ส่งนายพรานไปแล้ว ก็ทำกาลกิริยาล้มลงในเวลาที่พวกช้าง และนางมหาสุภัททายังมาไม่ถึง

             นายพรานไปเข้าเฝ้าพระเทวี กราบทูลว่า
             ขอเดชะพระแม่เจ้า ได้ทราบว่า พระแม่เจ้าก่อความขุ่นเคืองเหตุเล็กน้อย ไว้ในพระทัยต่อพญาช้างใด ข้าพระพุทธเจ้าฆ่าพญาช้าง
นั้นตายแล้ว โปรดทรงทราบว่า พญาช้างตายแล้ว ขอเชิญพระแม่เจ้าทอดพระเนตร นี้คือ งาทั้งสองของพญาช้างนั้น แล้วได้ถวาย งาไป

             พระนางสุภัททาจึงเอางวงตาลทำด้วยแก้วมณี รับคู่งาอันวิจิตร มีรัศมี ๖ ประการ ของพระมหาสัตว์เจ้า
มาวางไว้ที่อุรุประเทศ
             ทอดพระเนตรดูงาแห่งสามีที่รักของพระองค์ในปุริมภพ พลางระลึกว่า
             นายพรานโสณุดรฆ่าพญาช้างที่ถึงส่วนแห่งความงามเห็นปานนี้ให้ถึงแก่ชีวิต ตัดเอางาทั้งคู่มา
             เมื่อทรงอนุสรณ์ถึงพระมหาสัตว์ ก็ทรงบังเกิดความเศร้าโศกไม่สามารถที่จะอดกลั้นได้
             ทันใดนั้น ดวงหทัยของพระนางก็แตกทำลายไป ได้ทำกาลกิริยา (สิ้นชีวิต) ในวันนั้นเอง
.

             ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คราวครั้งนั้นเรายังเป็นพญาช้างฉัททันต์ อยู่ที่สระฉัททันต์นั้น
             เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.
        
             ก็แลคนเป็นอันมากฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเป็นต้น
             ส่วนนางภิกษุณีนั้น เจริญวิปัสสนาแล้วภายหลังได้บรรลุพระอรหัตผล ฉะนี้แล.
             เนื้อความพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=9415&Z=9524&bgc=ivory&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถาได้ที่
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2327&bgc=ivory
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่