สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมีในที่สุด ได้มาพบกัน ...


             พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าอดีตชาติของพระองค์เมื่อครั้งเป็นโชติปาลมาณพ
             เป็นมิตรภาพระหว่างโชติปาลมาณพซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นพราหมณ์และ
เพื่อนรักชื่อฆฏิการะเป็นช่างหม้อซึ่งเป็นอุบาสกผู้เป็นอริยสาวกในพระศาสนาของ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป
             ฆฏิการะช่างหม้อชวนพระโพธิสัตว์ (โชติปาลมาณพ) ไปเข้าเฝ้า
พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ชวนถึง ๗ ครั้งพระโพธิสัตว์ก็ไม่ยอมไป โดยกล่าวว่า
             "จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นพระสมณะศีรษะโล้นนั้น"
             จนในที่สุดฆฏิการช่างหม้อซึ่งมีชาติกำเนิดต่ำ ถึงกับจับผมโชติปาลมาณพ
             โชติปาลมาณพจึงได้เฉลียวใจว่า ...


             ฆฏิการสูตร (บางส่วน)
             ครั้งนั้น โชติปาลมาณพมีความคิดว่า
             น่าอัศจรรย์หนอท่าน ไม่เคยมีมาหนอท่าน ที่ฆฏิการะช่างหม้อผู้มีชาติต่ำ
มาจับที่ผมของเราผู้อาบน้ำดำเกล้าแล้ว
             การที่เราจะไปนี้ เห็นจะไม่เป็นการไปเล็กน้อยหนอ ดังนี้แล้ว
ได้กล่าวกะฆฏิการะช่างหม้อว่า
             เพื่อนฆฏิการะ การที่เพื่อนทำความพยายามตั้งแต่ชักชวนด้วยวาจา
จับที่ชายพก จนล่วงเลยถึงจับที่ผมนั้น ก็เพื่อจะชวนให้กันไปในสำนักพระผู้มีพระภาค
ทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เท่านั้นเองหรือ?


             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  บรรทัดที่ ๖๕๙๖ - ๖๘๒๔.  หน้าที่  ๒๘๘ - ๒๙๗.
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=6596&Z=6824&bgc=aliceblue&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=403&bgc=aliceblue





             จากการชักชวนของเพื่อน ทำให้โชติปาลมาณพได้มีโอกาสฟัง
พระธรรมเทศนาจากพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
             เมื่อได้ฟังจบก็ตัดสินใจออกบวชทันที
             ส่วนฆฏิการะช่างหม้อ มีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ชราและตาบอด
จึงไม่สามารถออกบวชได้

             วิบากของโชติปาลมาณพที่กล่าวคำดูหมิ่นต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในครั้งนี้ ในพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ พระองค์ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยา
นานถึง ๖ ปี

                  ก็ในกาลนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ชื่อโชติปาละ ได้กล่าว
                  กะพระกัสสปสุคตเจ้าว่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ไหน
                  การตรัสรู้เป็นของได้ยากยิ่ง.
                            เพราะวิบากของกรรมนั้น เราจึงต้องทำทุกรกิริยามากมาย
                  อยู่ที่ตำบลอุรุเวลาถึง ๖ ปี จากนั้น จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ.
                  เราไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุดโดยหนทางนั้น เรา
                  ถูกกรรมเก่าห้ามไว้ จึงได้แสวงหาโดยทางผิด.
                             เรามีบุญและบาปสิ้นไปหมดแล้ว เว้นจากความเร่าร้อนทั้ง
                   ปวง ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้น ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน
                   แล.

    
             ว่าด้วยบุพจริยาของพระองค์เอง
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=7849&Z=7924
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=392
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=1&p=10#พรรณนาพุทธาปทาน



             เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ก็ได้พบเพื่อนรักคนนี้อีก (ฆฏิการพรหม)

                [๒๙๒] พ. แน่ นายช่างหม้อ ท่านพูดอย่างใดก็ได้เป็นจริงแล้ว
                          อย่างนั้นในกาลนั้น ครั้งก่อนท่านเป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่
                          ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา เป็นอุบาสกของ
                          พระกัสสปพุทธเจ้า งดเว้นจากเมถุนธรรม ประพฤติพรหม-
                          จรรย์ ไม่มีอามิส ได้เป็นคนเคยร่วมบ้านกันกับเรา ทั้งได้เคย
                          เป็นสหายของเราในปางก่อน ฯ

             พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า
                          สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมี
                          ในที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  บรรทัดที่ ๑๙๐๔ - ๑๙๔๖.  หน้าที่  ๘๖ - ๘๘.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=1904&Z=1946&bgc=lavender&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=287&bgc=lavender



             สหายเก่าทั้งสอง คือ พระผู้มีพระภาค กับท่านฆฏิการพรหม
             เป็นสหายกันมาก่อน คือในสมัยพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
             ผู้มีตนอันอบรมแล้ว คือ อบรมในอธิสิกขาแล้ว คือทั้งสองเป็นพระอรหันต์
             ทรงไว้ซึ่งสรีระมีในที่สุด คือ ทรงอยู่ในสรีระสุดท้ายแล้ว หมดตัณหาอันทำให้เกิดอีก
             ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้ คือ ฆฏิการพรหมมาเข้าเฝ้า แล้วสนทนากันอย่างนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่