[ผู้จัดการ] ตรวจเลือดบริจาคพบติดเชื้อเอชไอวี-ตับอักเสบบีอื้อ เกือบ 100% มาจากเพศที่ 3

กระทู้ข่าว
ตรวจเลือดบริจาคพบติดเชื้อเอชไอวี-ตับอักเสบบีอื้อ เกือบ 100% มาจากเพศที่ 3
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์     6 มีนาคม 2556 16:27 น.     
    
       อึ้ง! ตรวจเลือดบริจาคด้วยวิธี NAT ปี 52-55 กว่า 3.7 ล้านยูนิต พบติดเชื้อเอชไอวี 34 ราย ตับอักเสบบี 1,489 ราย ยันไม่รับบริจาคเลือดเพศที่ 3 เป็นเกณฑ์สากลและปกป้องสิทธิผู้ป่วย เหตุเกือบ 100% ของเลือดติดเชื้อมาจากกลุ่มนี้ วอนเพศที่ 3 และชายจริงหญิงแท้ บริจาคเลือดแบบรับผิดชอบต่อสังคม มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่ควรบริจาค ชี้ตรวจเลือดมาก่อนไม่ได้ผล เพราะมีช่องว่างการไปติดเชื้อเพิ่ม
       
       วันนี้ (6 มี.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวในการประชุมวิชาการงานบริการโลหิตระดับชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2556 ว่า หลังจากประสบปัญหาขาดแคลนโลหิตเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าในช่วงปีใหม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการเข้าบริจาคโลหิตจำนวนมากถึง 12,000 ยูนิต โดยใช้เวลาถึง 2 เดือนในการบริหารจัดการให้มีโลหิตในสต๊อก 4,000-5,000 ยูนิต ซึ่งขณะนี้สภากาชาดไทยมีโลหิตสต๊อกมากถึง 4,000 ยูนิตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตาม จำนวนโลหิตที่สต๊อก ส่วนใหญ่เป็นโลหิตกรุ๊ป B อาจเป็นเพราะคนเลือดกรุ๊ปแข็งแรงและมาบริจาคเยอะ แต่ขาดแคลนโลหิตกรุ๊ป A โดยในจำนวน 4,000 ยูนิต มีกรุ๊ป A เพียง 400-500 ยูนิตเท่านั้น
       
       “โลหิตที่ได้รับบริจาคจะมีการตรวจโดยเทคโนโลยีการตรวจหาสารพันธุกรรมทาางชีววิทยาระดับโมเลกุล (Nucleic Acid Amplification Technology : NAT) เพื่อตรวจหาการติดเชืื้อในโลหิต ซึ่งในส่วนที่ดำเนินการโดยสภากาชาดเพิ่มขึ้นจาก 34% ในปี 2552 เป็น 64% ในปี 2555 ส่วนที่ดำเนินการที่โรงพยาบาล เพิ่มจาก 12% ในปี 2552 เป็น 15% ในปี 2555 เมื่อรวมทั้ง 2 ส่วนสามารถทำการตรวจได้ถึง 80% เพิ่มจากเดิมที่ตรวจได้ 42% อย่างไรก็ตาม ยังมีที่ไม่ได้ตรวจอีก 20% เท่่ากับยังมีความเสี่ยงที่จะมีการระบุว่าผู้ป่วยได้รับเลือดที่เสี่ยง ในอนาคตสภากาชาดพร้อมที่จะรับดำเนินการตรวจให้ได้ 100%” พญ.สร้อยสอางค์ กล่าว

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
       พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวอีกว่า กรณีกลุ่มเพศที่ 3 หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาเรียกร้องสิทธิในการบริจาคเลือดนั้น มีการเรียกร้องมานานกว่า 5 ปีแล้ว ขอย้ำว่าไม่ได้รังเกียจกลุ่มบุคคลเพศที่ 3 แตสภากาชาดไทยต้องรักษาจุดยืนตามเกณฑ์ที่ทั่วโลกปฏิบัติคือ งดรับบริจาคเลือดกลุ่มบุคคลเพศที่ 3 เพราะเป็นเลือดกลุ่มเสี่ยง ที่สำคัญจากสถิติของไทยพบว่า เลือดที่ได้รับบริจาคมาทั้งหมดจะมีเลือดติดเชื้อประมาณ 2% ทั้งเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี จำนวนนี้เกือบ 100% มาจากกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมทางเพศแอบแฝง โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ซึ่งไม่มีปัญหาการตั้งครรภ์แบบผู้หญิง จึงมีการป้องกันน้อย โอกาสในการติดเชื้อระหว่างกันจึงมีสูง
       
       “หากตรวจพบการติดเชื้อในเลือดที่บริจาค ก็จะเรียกเจ้าของเลือดกลับมาตรวจซ้ำพร้อมกับสัมภาษณ์เป็นการส่วนตัว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมทางเพศแอบแฝง ผู้บริจาคหลายคนแอ๊บแมนมา และไม่ตอบคำถาม 30 ข้อก่อนบริจาคเลือดตามความเป็นจริง เพราะคิดว่าให้เลือดมาแล้วใช้ได้ก็ใช้ ใช้ไม่ได้ก็ทิ้งไป ซึ่งไม่อยากให้คิดแบบนั้น เพราะหากมีการติดเชื้อก็เหมือนเอาเลือดในตัวมาเททิ้ง ยิ่งเสียเลือดไปราว 1 ถุง ก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอ นอกจากไม่ได้บุญแล้วยังเป็นการทำบาปต่อตัวเองและสังคมด้วย” พญ.สร้อยสอางค์ กล่าว
       
       พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวอีกว่า การออกมาเรียกร้องสิทธิของกลุ่มเพศที่ 3 เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่อยากให้นึกถึงสิทธิของผู้ป่วยในการได้รับเลือดที่ปลอดภัยด้วย ดังนั้น สภากาชาดไทยซึ่งทำหน้าที่เป็นธนาคารเลือด จึงจำเป็นต้องมั่นคงในการปกป้องสิทธิของผู้ป่วย ทุกคนสามารถใช้สิทธิมนุษยชนได้ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้ป่วย เพราะทุกวันนี้เวลามีปัญหาเรื่องการให้เลือดทุกคนก็จะโยนความผิดมาให้ฝั่งผู้หาเลือด คือโรงพยาบาล และสภากาชาดไทย จึงอยากให้ทุกคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อ ไม่เฉพาะแต่กลุ่มเพศที่ 3 แต่รวมไปถึงชายจริงหญิงแท้ด้วย หากมีพฤติกรรมเสี่ยงก็ไม่ควรมาบริจาคเลือด ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่ง
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ในการตรวจเลือดกลุ่มเพศที่ 3 ก่อนบริจาคเลือด พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวว่า การตรวจตัดกรองเลือดโดยวิธี NAT จะต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง เท่ากับว่าต้องรอผลตรวจเป็นวัน ทำให้ผู้บริจาคเลือดต้องกลับไปก่อน ซึ่งระหว่างนั้นจะไม่รู้เลยว่าผู้มาบริจาคได้ไปมีพฤติกรรมเสี่ยงระหว่างรอผลหรือไม่ เพราะหากไปมีพฤติกรรมเสี่ยงแล้วได้รับเชื้อมาจะไม่สามารถตรวจเจอเชื้อได้ทันที แม้จะใช้น้ำยาตรวจที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถตรวจเจอใน 1 วัน อย่างไวรัสตับอักเสบซี และเอชไอวีนั้น ต้องใช้เวลา 11 วันจึงจะตรวจหาเชื้อเจอ ขณะที่ไวรัสตับอักเสบบีใช้เวลาเป็นเดือน หมายความว่าในระยะเวลา 11 วันต้องมีการเซฟเซ็กซ์อย่างดีที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศมีการอนุญาตให้บริจาคเลือดได้ แต่ต้องหยุดพฤติกรรมชายรักชายไปเป็นเวลา 1 ปี ก็ถือว่าลำบากเช่นกัน
       
       ในงานเดียวกัน มีการนำเสนอ เรื่อง NAT Testing โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ระบุว่าการตรวจคัดกรองโลหิตโดยวิธี NAT ระหว่างปี 2552-2555 ที่ตรวจโดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติแะภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จำนวน 3,758,833 ยูนิต ตรวจพบโลหิตที่ให้ผลบวกอย่างน้อยเอชไอวี จำนวน 34 ราย หรือ 1ต่อ 110,00 ตับอักเสบซี จำนวน 11 ราย หรือ 1 ต่อ 340,000 และตับอักเสบบี จำนวน 1,489 ราย หรือ 1 ต่อ 25,000
       
       ทั้งนี้ จำนวนการตรวจพบการติดเชื้อโดยวิธี NATของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน พบว่าภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ.เชียงใหม่ ตรวจพบเอชไอวีและตับอักเสบบี จำนวนสูงกว่าภาคอื่น ขณะที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติในจังหวัดภาคใต้ มีการติดเชื้อในจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่น และการเพิ่มการตรวจคัดกรองโลหิตบริจาคโดยวิธี NAT มีส่วนสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อจากกรให้โลหิตแก่ผู้ป่วย โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะขยายการให้บริการด้านการตรวจ NAT ไปที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดแก่โลหิตบริจาคทั่ประเทศ

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000027966
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่