*** รู้ยัง? วันนี้ ...ครบรอบ 121 ปี กำเนิด Food sample by Iwasaki Takizou ***

รู้ยัง? วันนี้ ...ครบรอบ 121 ปี กำเนิด Food sample by Iwasaki Takizou

ภาพจาก Google.com

เวลาไปร้านอาหารโดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น จะเห็นชามราเมงมีตะเกียบตักลอยอยู่เหนือชาม ข้าวปั้นซูชิสีสดใส วางโชว์เรียงรายสวยงามน่าทาน ล่อตาล่อใจให้เข้าไปชิมกัน ทราบมั๊ยว่า วันนี้เมื่อ 121 ปีก่อน Food sample หรือ โมเดลอาหาร ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น


ตอนผมไปเรียนที่ญี่ปุ่น เห็นครั้งแรกก็คิดว่าเอาของจริง ทำเสร็จแล้วเอามาวางโชว์ในตู้หน้าร้าน แต่เอะ ทำไมมันสวยงามไม่แห้งเหี่ยว หรือดูจืดชืดตามกาลเวลา จนรุ่นพี่ก็เข้ามาเฉลยว่ามันเป็นแค่โมเดล ตอนนั้นผมรู้จักแค่ พลามโมเดล(Plastic model) ที่เป็นเครื่องบินรบเท่านั้นเอง

กลับมาที่หัวข้อ Food sample อีกที ... ทุกวันนี้โมเดลอาหาร มีวางโชว์ตามภัตตาคาร ร้านอาหารทั่วโลก แต่คงมีไม่กี่คนที่ทราบว่าคนที่คิดค้นให้กำเนิดโมเดลอาหารนี้ แท้ที่จริงคือคุณลุงใจดี ชาวญี่ปุ่น ชื่อ คุณ Iwasaki Takizou โดยผลงานชิ้นแรกที่เขาคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาก็คือ โอมเรส หรือ ข้าวห่อไข่ ที่ภรรยาของเขามักทำให้ทานเป็นประจำนั่นเอง ในปี โชวะที่ 7 หรือ ค.ศ.1932 เมืองโอซาก้า คิตะคุ เขาได้ก่อตั้งเป็นโรงงานผลิตโมเดลอาหาร ภายใต้ชื่อเขานั่นเอง  

ประวัติชีวิตของคุณลุง ก็เกิดปีเมจิที่ 28 หรือ ค.ศ.1895 ตอนเด็กซุกซนจนหน้าไปถูกเตาไฟเป็นรอยแผล แต่ด้วยความเป็นคนที่ไม่ยอมพ่ายแพ้อะไรง่ายๆ ไม่เคยอับอายที่เสียโฉม ตั้งใจทำมาหากินมาโดยตลอด จนช่วง ค.ศ.1905 เกิดสงครามญี่ปุ่นกับรัสเซีย ทำให้คุณลุงอยากออกไปต่างประเทศเพื่อทำงานหาเงิน ประสบความสำเร็จในชีวิต ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้า พอจบชั้นประถมศึกษา ก็เข้าทำงานที่ร้านค้าพาณิชย์ในโอซาก้า แต่ด้วยร่างกายที่อ่อนแอ เจ็บป่วยกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิดพักนึง พอหายดีแล้วก็ไม่ยอมแพ้โชคชะตา ออกเดินทางไปทำงานทั่วญี่ปุ่น สุดท้ายก็ล้มเหลวทุกงานไป

หลังจากที่แม่คุณลุงจากไป ตอนนั้นอายุเพียง 27 ปี ก็ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นที่เมืองโอซาก้าเปิดร้านขาของ ร้านกาแฟเหมือนที่บูมกันในบ้านเราตอนนี้ แต่การแข่งขันที่เข้มข้นของร้านกาแฟในเมืองใหญ่ยิ่งทำให้คุณลุงต้องปรับตัว หาจุดเด่นของร้านตนเองให้ได้ รวมทั้งด้วยพลังขับดันส่งเสริมของศรีภรรยา ก็ช่วยทำให้เขาได้รู้จักกับเทียนพาราฟินเป็นครั้งแรกจากญาติที่แนะนำให้เขาลองใช้ (...ผมก็ชอบเล่นฝาที่ปิดกะปิตอนเด็กๆ แต่ไม่รู้ว่ามันเอามาทำโมเดลอาหารได้...อะครับ) โดยญาติเขาอยากได้โมเดลอาหารไว้ใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน

คุณลุงสนใจเรื่องนี้มารีบทดลองโดยไปขอเทียนจากศาลเจ้า มาลองหยดลงบนน้ำในถัง สร้างเป็นกลีบดอกเหมย สีขาว จนได้ดอกไม้คล้ายจริงที่งดงามมาก คุณลุงประทับใจมาก จนนำไปสู่ความที่อยากจะลองทำโมเดลอาหารวางโชว์หน้าร้านกาแฟของตนเอง และไอเดียนี้จุดประกายสู่การสร้างโรงงานรับทำโมเดลอาหารตามมาอีกด้วย  แต่ความสำเร็จไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่คาดคิดไว้ ทดลองทำแล้วทำเล่าก็ล้มเหลวกว่าจะสำเร็จก็ผ่านไป 1 ปีพอดี จึงก่อตั้งโรงงานผลิตโมเดลอาหารอิวาซากิขึ้นที่เมืองโอซาก้า เป็นครั้งแรก

โมเดลอาหารของคุณลุงได้รับการยอมรับอย่างดีของร้านอาหาร ภัตตาคารดในญี่ปุ่น สร้างกำไรงดงามให้ร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าพึงพอใจได้เห็นน่าตาของอาหารที่จะสั่ง และแล้วก็แพร่หลายเป็นที่นิยมมาวางกันหน้าร้านทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

ด้วยความสำเร็จของคุณลุง มีลูกศิษย์ นักประดิษฐ์เกิดขึ้นมากมาย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้โมเดลอาหาร มีความน่าทานยิ่งขึ้น เหมือนจริงมากขึ้น จึงมีการพัฒนารูปแบบมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจริงๆ (บางครั้งที่เมืองไทยเรา ...ก็โดนมันหลอกกันได้ง่ายๆ เพราะ ตอนเข้าไปสั่ง ได้ออกมามันไม่เหมือนโมเดลที่โชว์ เลยอะครับ...)

ผ่านไป 70 ปีไวเหมือนหนังอินเดีย อิวาซากิกรุ๊ป มีกิจการสาขาทั่วโลกประสบความสำเร็จอย่างงดงามจนถึงปัจจุบัน  ด้วยความรู้สึกที่อยากทดแทนบุญคุณบ้านเกิดของคุณลุง เขาก็กลับไปบ้านเกิด Gujougun Hachimanchou จังหวัด Gifu จนเขาได้ถ่ายทอดความรู้และสามารถอบรมสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ เพาะบ่มประสบการณ์ของคุณลุง และสามารถทำการผลิตได้ทีละมากๆ เป็นโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่บ้านเกิดคุณลุงนั่นเอง

*ช่วงระหว่าง 1970 – 80 ได้ปรับเปลี่ยนจากการใช้พาราฟินมาใช้การฉีดพลาสติกทดแทน จึง Mass production ได้ครับ

อ้างอิง http://www.gifumono.jp/company/data/iwasakimokei.html
          http://www.iwasaki-bei.co.jp/foodsample/history.html
          http://th.japantravel.com/gifu/the-shrine-to-replicated-food/557
          https://gurutabi.gnavi.co.jp

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่