รวมคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองจากความเข้าใจผิดที่เจอบ่อยๆ จากกุมารแพทย์คนหนึ่ง

กระทู้สนทนา
1. พบว่าผู้ปกครอง ให้เด็กยาลดไข้ผิดวิธีบ่อยๆ
    ยาลดไข้ควรกินเฉพาะตอนมีไข้  ไม่มีไข้ไม่ต้องทาน  ถ้าตัวรุ่มๆ ควรจะลองเช็ดตัวก่อน
    ถ้าไข้ลงไม่ต้องกินเลยยาลดไข้  และแบบไข้สูง เลยให้กินยาลดไข้ทุก 4 ชั่วโมงต่อเนื่อง ก็ผิด
    ยาลดไข้ป้องกันการเกิดไข้ไม่ได้นะครับ  บางทีเพิ่งกินไป 1ชม. ต่อมาเริ่มไข้ อ้าวกินยาไปแล้วกินยาไม่ได้อีกก็มี
    ยาลดไข้ ถึงจะกินถูกขนาดตามน้ำหนักตัวก็ตาม  แต่การกินต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจจะเกิด
    ระดับยาสะสม ทำให้เกิดพิษต่อตับได้เช่นกัน  (โดยทั่วไป ถ้ากินเฉพาะมีไข้ โรคทั่วไป ไม่ทำให้เกิดพิษต่อตับหรอก)
    เคยรักษาเด็กที่มาด้วยตัวเหลืองตาเหลือง ตับอักเสบจากพิษParacetamol เพราะผู้ปกครองให้กินต่อเเนื่อง อยู่ 2-3เคส
    พบน้อย แต่ป้องกันได้ โดยการใช้ยาที่ถูกต้อง

2. ไข้ไม่ลดซักที จับทีไรก็ตัวร้อนตลอด
    การวัดไข้ด้วยมือ เป็นการประเมินอุณหภูมิร่างกายที่ไม่แน่นอนมากๆ ไม่แนะนำให้ใช้  ถ้าไข้สูงมาก ก็คงจับได้อยู่
    แต่ถ้าใช้มือจับศีรษะ หรือรักแร้ หรือคอ หรือหน้าผาก แล้วรู้สึกร้อน อาจจะเป็นไข้ต่ำๆจริง หรือ แต่อุณหภูมิปกติก็ได้
    เพราะมือเป็นอวัยวะส่วนปลาย อุณหภูมิจะน้อยกว่าอวัยวะแกนกลางตัวเสมอ ยิ่งอากาศเย็นเท่าไหร่ความต่างตรงนี้ก็มากขึ้น
    ปรอทวัดไข้ จึงเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ราคาไม่แพง ที่ผู้ปกครองควรมีเมื่อลูกไม่สบาย  
    ไม่ก็ ให้หน้าผาก สัมผัสหน้าผากของเด็ก เพราะศีรษะกับศีรษะอุณหภูมิน่าจะใกล้เคียงกว่าใช้มือ แต่ปรอทวัดไข้แน่นอนที่สุด
    พบหลายครั้ง ที่มาตรวจเพราะว่าไข้ไม่ลงซักที แต่วัดก็ไม่มีไข้ อาการก็ดี น่าจะหายแล้ว ยิ่งช่วงไข้เลือดออกระบาด
    ถ้าผู้ปกครองบอกว่ามีไข้มาหลายวัน นี่ก็ต้องเจาะเลือด ซึ่งบ่อยครั้งเด็ฏก็เจ็บตัวโดยไม่จำเป็น  การวัดไข้แล้วมาบอกแพทย์
   จะทำให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แม่นยำ ช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

3. ยาฉีดดีกว่ายากิน อยากหายไวๆขอฉีดยา
   จริงๆแล้ว ยากินและยาฉีด ถ้าเป็นกลุ่มเดียวกัน มันก็เหมือนกันแหละ ต่างที่ยากินต้องดูดซึมและมีการเมตาบอลิสซึ่ม
   แต่สุดท้าย จะกลายเป็นระดับยาในเลือด เช่นเดียวกันกับยาฉีดแหละ  ถ้ากินได้ ยากินตัวนั้นดูดซึมดี กินยาแล้วไม่อาเจียนออก กินยาครบ
   ผลลัพธ์เท่ากันแหละ  ถ้าอย่างรพ.ในต่างประเทศ อาจจะเคยเห็นใน series หมอต่างๆ ขนาดนอนรพ. มีน้ำเกลือ พยาบาลก็ยังเอายามาให้กิน
   ยาสำคัญเช่นยาฆ่าเชื้อ พยาบาลจะรอจนคนไข้กินแล้วค่อยออกไปด้วย  
   แน่นอน ถ้ายาคนละกลุ่ม ก็อีกเรื่อง เอามาเทียบกันไม่ได้  
   แต่รู้มั๊ย ยาฉีดที่ฉีดกันตามคลินิค ฉีดอะไรกันบ่อยๆ  ส่วนมาก ยาลดไข้ (กินไปก็เหมือนกัน)  ยาฆ่าเชื้อ (กินไปก็เหมือนกัน)
   หรือพวกยา สเตียร์รอยด์ ซึ่งมีข้อเสียมากมาย ลดไข้ได้ดีมากก็จริง แต่กดภูมิคุ้มกัน กดฮอร์โมน กดการเจริญเติบโต
    ผมเคยเจอเคส เด็กวัยประถมลูกบอลกระแทกขาเป็นแผลมีไข้ ได้ฉีดสเตียรอยด์จากคลินิค  สุดท้ายติดเชื้อลุกลามจนตัดขามาแล้ว

4. ปั่นหูแคะหู กลัวขี้หูตัน
   ขี้หู ear wax จะผลิตเป็นเรื่องปกติ เคลือบในช่องหู และจะค่อยเคลื่อน ออกมาด้านนอก กลายเป็นขี้ไคล
   ห้ามใช้ ไม้พันสำลี cotton bud  ที่แคะหู  ไปแคะไปปั่น  ยิ่งแคะยิ่งปั่น กลับดันขี้หูให้ย้อนกลับ สะสมเป็นก้อน
   ขวางการไหลของผิวตามปกติ  ยิ่งทำให้มีขี้หูมาก และใหญ่จนตันได้ และยังอาจจะนำเชื้อโรคเข้าไป
   จนเป็นหูขั้นนอก หรือชั้นกลางอักเสบ ที่เรียกว่า หูน้ำหนวกอีกด้วย
   อีกทั้งการเราปั่นหรือแคะให้เด็ก จะทำให้เด็กคุ้นเคย กระตุ้นเส้นประสาท ทำให้มีพฤติกรรม "ติด" ได้
   เด็กจะไปแคะเอง เอาอะไรแหย่หู แคะหูปั่นหูตอนเผลอ สุดท้าย ไม่อักเสบ ก็อาจจะมีอะไรติดเข้าหู

5. ดูดนมแล้วต้องดูดน้ำด้วย
    บางคนกลัวเด็กหิวน้ำ  (แม้แต่พ่อแม่ของหมอก็ยังบอกให้หลานกินน้ำเลย)  
    บางคนกลัวว่าถ้าไม่กินน้ำตามแล้วจะเกิดคราบนม หรือเชื้อรา  บางคนกลัวไม่ย่อย
    ต้องบอกว่า  นมเป็นน้ำอยู่แล้ว ไม่ต้องให้น้ำเพิ่มอีก ไม่หิวน้ำหรอกครับ  ส่วนคราบนมหรือเชื้อราในปาก
    การดูดน้ำก็ล้างไม่หมดหรอก  อาจจะใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำพันนิ้ว เช็ดเหงือกลิ้น ให้เด็ก วันละ1-2ครั้ง
    เหมือนการแปรงฟัน จะป้องกันเชื้อราในปากได้  การดูดน้ำเสริม มันทำให้เด็กทานนมได้น้อยลง
    ต่อให้เด็กคนนั้นกินนมเยอะจะพอหรือเกินอยู่แล้วก็เถอะ  ถ้ากินน้ำอีกได้ แปลว่า ก็กินนมอีกได้ กระเพาะมีที่เหลือ
   ซึ่งจะได้สารอาหารต่างๆเพิ่ม  หรือกินน้ำเสริม จนล้นพื้นที่กระเพาะ เพิ่มโอกาสการสำรอกอีกด้วย
    สรุปกินนม ไม่ต้องกินน้ำตาม
  
  (ไว้มาต่อวันหลัง)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  การเลี้ยงลูก แพทย์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่