"ขาเก่าแกรมมี่"...คุณเสียดายคนไหน?

กว่า 33 ปีแล้วที่ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" จากบริษัทธุรกิจเพลงรายเล็กๆ กลายเป็นบริษัทอภิมหาบันเทิงผู้ทรงอิทธิพลที่ไม่มีใครไม่ยอมรับอย่างแน่นอน เพราะมีศิลปิน นักร้อง นักดนตรี นักแสดง และบุคลากรต่างๆ เดินเข้าๆ ออกๆ กันมากมาย

และปีนี้ก็เป็นปีที่ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี่ และศิลปินนิสัยดีที่เราๆ เรียกด้วยความเคารพรักว่าเป็นพี่ชายที่แสนดีอย่าง "เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์" จะครบรอบ 20 ปีในการจากไปสู่สรวงสวรรค์ของเขา แม้ว่า "พี่เต๋อ" จะไม่กลับมาสานต่อได้อีกยาว แต่เขาก็เป็นส่วนที่ทำให้แกรมมี่เติบโตจนเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่จนถึงทุกวันนี้ มีเพลงเด่นๆ ดังๆ ออกมามากมาย และถือเป็นแบบอย่างในการวางรากฐานของเพลงไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้ฟังได้เป็นอย่างดี

การเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนตัวย่อมเป็นเรื่องธรรมดาของบริษัทธุรกิจบันเทิงยักษ์ใหญ่ ไม่มีใครอยู่ยั้งในที่เดียวกันได้เกินกว่าร้อยปี แม้ตัวจากไป แต่ก็ยังมีทายาทมาสืบทอดให้งานอมตะอยู่ยง เมื่อมีคนเข้า ไม่นานก็ต้องออกไป โดยที่บุคคลคนนั้นได้ฝากสิ่งที่ดีมีคุณภาพมาให้แฟนๆ ได้หลงใหล จนเกิดมาสเตอร์พีซที่หลายๆ คนยังฝังจำและฝังใจไว้ชั่วกาล

วันนี้ เรามาชมกันว่า บุคคลสำคัญท่านใดบ้างที่เติบโตจากแกรมมี่แล้วออกไป จนแฟนๆ ยังคิดถึงกันอยู่


นิติพงษ์ ห่อนาค
ถือว่าเป็นผู้ร่วมบุกเบิกค่ายเพลงแกรมมี่ อดีตสมาชิกกลุ่มศิลปินเฉลียง ที่ฝากผลงานการแต่งเพลงดีๆ ไว้มากมายหลายร้อยเพลง หลายสิบนามปากกา พี่ดี้กลายเป็นนักแต่งเพลงระดับชาติที่จับเรื่องอะไรก็มาเขียนเป็นเพลงให้ไพเราะเมื่อนั้น และเกือบทุกเพลงก็เป็นเพลงดังติดหูของคนทุกคน เขาเป็นคีย์แมนคนสำคัญของแกรมมี่ที่ดำเนินมานานถึง 28 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ตำแหน่งก่อนหน้านี้คือผู้ก่อตั้งค่ายเพลงสหภาพดนตรี  


ชาตรี คงสุวรรณ
เมื่อมีพี่ดี้เป็นคนเขียนเนื้อเพลง ก็ต้องเจอกับคนเขียนทำนองและสร้างดนตรีอยู่มากมาย แต่คนดนตรีที่เรียกว่าเป็นคู่บุญของพี่ดี้ และมีผลงานเพลงที่แต่งร่วมกันได้ไพเราะน่าฟังสุดๆ ก็เห็นจะเป็นพี่โอม ชาตรี มือกีตาร์วง ดิ อินโนเซ้นท์ โดยเข้าร่วมงานกับแกรมมี่ในปี 2529 ในฐานะนักดนตรีบันทึกเสียงให้กับ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ และ เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ จนกระทั่งปี 2533 ได้เป็นโปรดิวเซอร์เต็มตัวของ คริสติน่า อากีล่าร์ ต่อมาเป็นผู้บริหารค่ายเพลงในเครือ และลาออกจากแกรมมี่ในปี 2547 รวมเวลา 18 ปี โดยไปเป็นเจ้าของบริษัท คราฟท์แมน, สหภาพดนตรี และ มิสเตอร์ มิวสิก จนถึงทุกวันนี้


อัสนี-วสันต์ โชติกุล
ศิลปินร็อกดูโอระดับตำนาน ที่ฝากเพลงดีๆ ดังๆ ตามสไตล์ของพวกเขามามากมาย และมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดในการตั้งชื่ออัลบั้มในแต่ละชุด อัสนีร่วมงานบันทึกเสียงให้กับ เต๋อ เรวัต ตั้งแต่เต๋อ ออกเทปชุดแรกในปี 2526 ส่วนวสันต์เข้ามากับอัสนีในอัลบั้ม ผักชีโรยหน้า ในปี 2530 มีผลงานเพลงทั้งงานคู่และงานเดี่ยวมากกว่า 120 เพลง เช่น ลงเอย, ก็เคยสัญญา, ได้อย่างเสียอย่าง, เธอปันใจ, อยากได้ยินว่ารักกัน, บังอรเอาแต่นอน, บังเอิญติดดิน ฯลฯ ทั้งคู่ลาออกจากแกรมมี่ในปี 2554 โดยย้ายไปร่วมงานกับสหภาพดนตรี แต่ยังมีคอนเสิร์ตที่แกรมมี่จัดออกมาให้ขาโก๋หายคิดถึงกันเรื่อยๆ


ทาทา ยัง
หรือ อมิตา มารี ยัง (ชื่อจริงปัจจุบันคือ อมิตา ยัง สีณพงศ์ภิภิธ) คุณแม่คนใหม่ที่เคยได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดร้องเพลงรุ่นเด็กของเวทีสยามกลการในปี 2535 จนกระทั่งในปี 2538 เธอออกอัลบั้มชุดแรกเมื่ออายุเพียง 14 ปีก็ทำยอดขายทะลุล้านตลับ มีเพลงฮิตมากมาย กับน้ำเสียงที่สดใสไพเราะ จนได้รับฉายาว่าสาวน้อยมหัศจรรย์ ต่อมามีผลงานเพลงตามมาอีกหลายชุด อีกทั้งยังฝากฝีมือการแสดงเป็นนางเอกภาพยนตร์เรื่อง จักรยานสีแดง และ รักออกแบบไม่ได้ ของแกรมมี่ฟิล์ม ถือเป็นศิลปินแถวหน้าของแกรมมี่ในยุคทีนไอดอลช่วงนั้น ซึ่งทาทาน่าจะอยู่กับค่ายเพลงยิ่งใหญ่อย่างแกรมมี่ให้ยาวนานเพื่อรักษาความเป็นซูเปอร์สตาร์ แต่อยู่กับแกรมมี่เพียง 4 ปีเท่านั้น เธอก็ออกไปออกอัลบั้มโกอินเตอร์กับค่ายอื่นจนมีชื่ิอเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


วิสูตร พูลวรลักษณ์
เขาคนนี้ไม่ใช่บุคคลในวงการเพลง หากเป็นผู้หยั่งรู้ในตลาดหนังไทยที่คร่ำหวอดมานานกว่า 30 ปี ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและบริหารค่ายหนังในเครือแกรมมี่นามว่า "จีทีเอช" ในปี 2547 ที่สร้างหนังดีๆ โดนๆ ออกมาครองตลาดหนังไทยไว้มากมายหลายเรื่อง แถมตัวเขายังเคยลองกำกับหนังเองในเรื่อง "ห้าแพร่ง" อีกด้วย จนกระทั่งในปี 2558 ก็ปิดฉากอาณาจักรจีทีเอช โดยแยกตัวไปตั้งบริษัทแห่งใหม่ ถือเป็นขาใหญ่รายล่าสุดที่ออกจากแกรมมี่ หลังจากอยู่เคียงมานานถึง 12 ปี

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จในการงานและชื่อเสียงที่สั่งสมมา แต่ด้วยเหตุผลของแต่ละคนที่ต้องออกจากบ้านหลังใหญ่อย่างแกรมมี่ไป พวกเราก็ทำได้เพียงจดจำและทบทวนในสิ่งที่เคยได้เห็นได้ยินกัน จะเรียกว่าเสียดายไหมกับบุคคลเหล่านี้ที่ออกไปตั้งตัวด้วยตัวเอง ในเมื่อแกรมมี่ขาดอะไรไป...สวัสดี.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่