++++++ จะเป็นอย่างไรเมื่อ หยวน อยู่ในตะกร้าเงินสกุลหลัก ++++++

IMF มีมติบรรจุ “หยวน” เข้าตะกร้าสกุลเงินหลัก มีผลอะไรบ้าง ?


    1. คณะกรรมการบริหารกองทุน IMF มีมติเมื่อวานนี้ (30 พ.ย.) ให้เงินหยวนของจีน เข้าตะกร้าสกุลเงินหลักได้ โดยจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2016
    ชื่อทางการของเงินหยวน คือ Renminbi แปลว่า “เงินของประชาชน”

    2. หลังวันที่ 1 ต.ค. 2016 ตะกร้าสกุลเงินหลักจะประกอบด้วย US Dollar 41.73%, Euro 30.93%, Renminbi 10.92%, Yen 8.33%, British Pound 8.09% สังเกตว่า เงินหยวนเข้ามาก็ “ใหญ่” เลย เป็นอันดับ 3 เหนือเยนและปอนด์

    3. การเข้ามาของหยวน เป็นการ “แย่ง” น้ำหนักจากเงิน Euro แบบเต็มๆ เพราะปัจจุบัน Euro มีน้ำหนัก 37.4% หลังมีหยวนในตะกร้า น้ำหนักของสกุล Euro เหลือ 30.93% เท่านั้น

    4. การเปลี่ยนแปลงตะกร้าสกุลเงินหลัก (Special Drawing Rights หรือ SDR Basket) นี่ไม่ได้เกิดขึ้นกันบ่อยๆ นะครับ ครั้งล่าสุดเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1999 โน่น ซึ่งเป็นการเอาสกุลเงินมาร์คเยอรมันและฟรังก์ฝรั่งเศสออก แล้วเอาสกุลยูโรใส่ไปแทนที่

    5. คณะกรรมการชุดนี้ประชุมทุก 5 ปี ครั้งก่อนเมื่อปี 2010 ก็ปฏิเสธการรับสกุลหยวนเข้าตะกร้า อ้างว่าคุณสมบัติยังไม่ครบถ้วน แต่ในระยะหลัง ความนิยมใช้สกุลเงินหยวนมีมากขึ้น ทางการจีนเองก็ทำทุกวิถีทางเพื่อดันให้ IMF อนุมัติให้ได้ ทั้งการเร่งปฏิรูปการเงิน และการผ่อนคลายให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งเรื่องปฏิรูปนี้จีนไม่ได้เพิ่งทำ แต่ทำมานานกว่า 20 ปี

    6. ผลกระทบกับจีน => จีนจะได้ประโยชน์มาก เพราะจีนมีการค้าขายและการลงทุนกับต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมที่ต้องชำระเงินด้วยดอลล่าร์ ก็สามารถเลือกชำระเป็นหยวนได้ ภาครัฐและเอกชนของจีนสามารถออกพันธบัตรสกุลหยวนขายในตลาดโลกได้ นักลงทุนต่างชาติก็สามารถเข้าซื้อพันธบัตรของจีนได้มากขึ้น (ปัจจุบันต่างชาติถือพันธบัตรจีนเพียง 2.4%)

    7. ผลกระทบกับค่าเงินหยวน => ในระยะสั้นคงมีไม่มาก เพราะการยืดเวลาไปมีผลเดือน ต.ค. 2016 ก็เพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ มีเวลาเตรียมระบบรองรับสกุลเงินหยวน โดยคาดว่าเงินหยวนจะถูกเปิดให้เคลื่อนไหวในกรอบกว้างมากขึ้น และมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในปี 2016 แต่คงไม่รุนแรงมากนัก

    8. ผลกระทบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ => ปัจจุบันทุนสำรองเงินตราของธนาคารกลางทั่วโลกมีมูลค่ารวม 424 ล้านล้านบาท อยู่ในสินทรัพย์สกุลดอลล่าร์มากถึง 64% เป็นหยวนเพียง 1% แต่หลังจาก 1 ต.ค. 2016 เป็นต้นไป เราจะเห็นธนาคารกลางต่างๆ ลดสัดส่วนทุนสำรองในรูปดอลล่าร์ แล้วเปลี่ยนเป็นหยวนมากขึ้น ธนาคารกลางจีนเองก็มีทุนสำรองมหาศาล ที่ผ่านมาก็เก็บเป็นดอลล่าร์ซะเยอะ ต่อจากนี้ไปก็สามารถเก็บเป็นสกุลเงินของตัวเองได้ด้วย

    9. ผลกระทบกับตลาดหุ้นจีน => มีความเป็นไปได้ที่การรับหยวนเข้าตะกร้าเงินจะช่วยให้ตลาดหุ้น A Shares ของจีนเปิดตัวเองกับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น จะอาจส่งผลให้ A Shares เข้าไปอยู่ในดัชนี MSCI Emerging Market Index ซะที ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นเรื่องใหญ่และเป็นข่าวดีของตลาดหุ้นจีนมาก เพราะมีกองทุนมูลค่ารวม 61 ล้านล้านบาทที่ลงทุนตาม MSCI EM คาดว่าตลาดหุ้นจีนน่าจะมีน้ำหนัก 20% ของดัชนี ซึ่งแปลว่าเงินลงทุนจำนวน 12 ล้านล้านบาท เตรียมไหลเข้าตลาดหุ้นจีนในอนาคต

โดย วิน พรหมแพทย์, CFA
Chief Investment Officer (CIO)
CIMB-Principal Asset Management Co. Ltd.
http://www.cimb-principal.co.th

*** คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ***

Credited by wininvestingpro

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่