ไอซีทีหนุนกสทช.ประมูล4Gพ.ย.นี้ 'อุตตม'ขอรีวิวสิทธิ์ใช้คลื่น-แผนธุรกิจหลังสัมปทาน

กระทู้ข่าว

          แผนใช้ ม.44 ยื้อคลื่นให้รัฐวิสาหกิจชะงัก "อุตตม" ขอรีวิวใหม่ทั้งหมดก่อนฟันธง ฟาก กสทช.ลุยประมูลตามแผน ไม่เลื่อน ไม่รอ "แคท-ดีแทค" คืนคลื่น ย้ำชัดประมูล 4G แค่ไลเซนส์ละ 12.5 MHz ดีกว่าโดนฟ้องล้มประมูลทั้งกระดาน

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แนวทางที่จะทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 เพื่อจัดสรรคลื่นบางส่วนให้รัฐวิสาหกิจ ตามที่เคยหารือกับ นายพรชัย รุจิประภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ระงับไว้ทั้งหมดแล้ว

          "ทางรัฐมนตรีไอซีทีคนใหม่ยังไม่เคยได้คุยกัน และยังไม่มีกำหนดจะหารือกันในเร็ว ๆ นี้ การขอใช้ ม.44 ทาง กสทช.คงไม่ทำเอง เพราะเดี๋ยวจะหาว่า กสทช.จะไปยึดคลื่นรัฐวิสาหกิจมาอีก ถ้าคลื่นส่วนที่ยังไม่หมดสัมปทาน หรือไม่ได้ถูกชี้ว่าหมดสิทธิ์ใช้งานได้ตามกฎหมาย กสทช.จะไม่เข้าไปยุ่ง"

          จากนี้คงต้องรอดูทางไอซีทีว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะปัจจุบันคลื่นความถี่ตั้งแต่ย่าน 450-2600 MHz มีปัญหากระจุกตัวอยู่กับบางรัฐวิสาหกิจ แต่ในส่วนคลื่นที่หมดสัมปทานแล้ว และ กสทช.เตรียมจะจัดประมูลเดือน พ.ย.นี้ อย่างคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz จะเดินหน้าตามแผนเดิม เพราะ กสทช.ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายระบุไว้ ส่วนกรณีที่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กังวลว่าจะไม่สามารถคืนคลื่น 1800 MHz จำนวน 4.8 MHz มาให้รวมประมูลในครั้งนี้ด้วยได้ทัน 25 ก.ย.นี้ ตามที่ กสทช.กำหนดไว้นั้น นายฐากรกล่าวยืนยันว่า จะไม่มีการเลื่อนกรอบเวลาคืนคลื่นให้แคทกับดีแทคแน่นอน เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง หากคืนไม่ทันก็จะประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 12.5 MHz แทน

          "เลื่อนไม่ได้แล้ว เพราะ 30 ก.ย. คือวันแรกที่เปิดให้ยื่นซองประมูล ซึ่งแต่ละรายต้องยื่นเช็คธนาคารเพื่อเป็นเงินวางหลักประกันการประมูลด้วย ซึ่งมูลค่าไม่เท่ากัน ถ้าประมูล 12.5 MHz ต้องวาง 663 ล้านบาท ถ้าประมูล 15 MHz ต้องวางเงิน 796 ล้านบาท และไม่ใช่เรื่องที่จะให้วางเงินไปก่อนแล้วค่อยคืนทีหลัง เพราะถ้าเริ่มกระบวนการประมูลแล้ว แต่เงื่อนไขยังไม่ชัดเจน ต้องมีการฟ้องร้องแน่ เพราะเงื่อนไขแต่ละส่วนย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้เข้าประมูล ซึ่งการฟ้องร้องจะกระทบกับการจัดประมูล สร้างความเสียหายให้รัฐมาก เงินลงทุนที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจก็จะชะงักหมด รวม ๆ ไม่ต่ำกว่าแสนล้าน"

          ส่วนกรณีคลื่น 900 MHz ที่ บมจ.ทีโอที เจ้าของสัมปทานต้องการจะใช้คลื่นต่อและให้ระงับการประมูลนั้น กสทช.ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องคืนเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อให้ กสทช.ไปจัดสรรใหม่

          "การคืนคลื่นมาจัดสรรใหม่ ก็ไม่ใช่คืนมา เพื่อเป็นทรัพย์สินของ กสทช. แต่เป็นทรัพย์สินของประเทศ กฎหมายให้อำนาจ กสทช.แค่เป็นผู้จัดสรรใหม่ แต่ถ้ารัฐบาลมีคำสั่งอื่นออกมาเป็นแนวทางอื่น นอกจากที่ พ.ร.บ.กำหนด เราก็จะทำให้ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องประมูล ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า กสทช.เอื้อประโยชน์ให้ทีโอที ให้เอไอเอสผู้รับสัมปทาน ทั้งยังอาจจะมีประโยชน์ทางอ้อมไปยังทรูก็ได้ ซึ่งใครจะรับผิดชอบถ้า กสทช.ถูกสอบ"

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที เผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประมูล 4G ทั้งคลื่น 900 และ 1800 MHz จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. ตามแผนของ กสทช.แน่นอน เพราะถือเป็นหนึ่งในแผนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยังเดินต่อ ส่วนการใช้คลื่นของรัฐวิสาหกิจต้องขอเวลาศึกษารายละเอียดทั้งหมด ทั้งแผนธุรกิจหลังสัมปทาน การขอใช้คลื่นว่าสมเหตุ สมผลหรือไม่

          "การนำคลื่นความถี่ทั้งสองมาประมูล เพื่อนำไปให้บริการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่เมื่อมองในแง่กฎหมายก็ต้องดูว่า การนำคลื่นที่รัฐวิสาหกิจทั้งสองถืออยู่มาประมูลได้แค่ไหน ส่วนเรื่องขั้นตอน หรือวิธีการจัดประมูล ก็ให้ กสทช.จัดไปตามแผนที่วางไว้"

ขอขอบคุณแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่