ใครไม่รู้จัก เรื่องราวและที่มาของดนตรียุค 90’s ยุคแสดงตัวตนของคนหนุ่มสาว ของแนวดนตรีที่ชื่อว่า"Alternative Rock"

เราคนนึงเลยค่ะเป็นคนที่หลงไหลเพลงสากลทุกยุค แต่ต้อง 90's ลงไปนะ เพลงสมัยใหม่เราไม่ค่อยปลื้ม เรารักและชื่นชมเพลงในยุค 90's เป็นอะไรที่เท่สุดแล้วสำหรับเรา ส่วนใหญ่เราฟังแนวนี้ Alternative , Grunge , Punk เป็นต้น Rock & Roll ก็ฟัง เอาเป็นว่าฟังทุกแนว 55555
Tags: 90’s,alternative,Music,Nirvana,Oasis,Radiohead,Smashing Pumpkins,Rage again the machine,system of a down,papa roach,incubus,Blur โอ้ยยยยยยยยยย และอีกมากมาย ชอบหมดตั้งแต่ 90's ลงไป

เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่าค่ะ

สังเกตไหมว่าช่วงหลังๆมานี้ เราได้ยินกระแสเรื่องดนตรียุค 90 กลับมาเป็นที่พูดถึงกันเหลือเกิน ไม่ว่าจะไทยหรือเทศต่างก็มีข่าวการกลับมาแสดงของศิลปินในยุคนั้น วันนี้เราเลยจะมาพูดกันว่า ยุค 90’s ในแง่ดนตรีนี่มันคือยังไง และมีดีอะไรกันแน่

ถ้านับย้อนหลังไปสมัยก่อน (ปี 90’s) เทียบกับสมัยนี้วงการดนตรีคงต้องมองกันเป็นเหมือนหนังคนละม้วน คำว่าค่ายเพลงอินดี้หรือค่ายเพลงนอกกระแสไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การที่วงแต่ละวงจะทำเพลงออกมาขายและเป็นที่โด่งดังได้จำเป็น ต้องอยู่ในค่ายเพลงใหญ่ๆเท่านั้น แน่นอนว่าเวลาที่ศิลปินเข้าไปอยู่ในค่ายเพลงใหญ่ๆ สิ่งที่ต้องตามมาคือเรื่องของการตลาด ถ้าเพลงเหล่านั้นไม่เป็นมิตรกับหูคนฟังวิทยุ เพลงขายไม่ออก ผลงานก็จะไม่ได้ทำออกมา (หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “เพลงตลาด”) จนมาในช่วงยุคปลาย80’s ที่เหล่าเพลง Pop ในยุคนั้น เป็นผลผลิตจากปลายยุค Disco (ปี 70’s) นึกง่ายๆหลักๆคือ Madonna และ Micheal Jackson ที่โด่งดังอย่างพลุแตก ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นเอง มีการเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆของกลุ่มศิลปินที่ทำเพลงกันใต้ดิน และมีกลุ่มแฟนเพลงเฉพาะกลุ่มอยู่ เรียกรวมๆด้วยการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาว่า Alternative Rock ดนตรีทางเลือกที่ศิลปินทำเพลงกันเอง แสดงตัวตนออกมา โดยไม่แคร์ถึงยอดขายที่จะทำได้ และไม่เอาใจคนฟังในตลาด พอเริ่มเกิดเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา ก็เริ่มมีค่ายเพลงนอกกระแส (Independent Label) หรือค่ายเพลงอินดี้โผล่ตามมาเรื่อยๆ

วงที่เป็นแถวหน้าแห่งวงการ Alternative Rock ในยุคแรกเริ่ม (ต้น 80’s) และถือเป็นวงบุกเบิกเลยก็คือ R.E.M วงร็อคจากเมืองเล็กๆในรัฐ Georgia ประเทศอเมริกา (ที่ไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวยุบวง เป็นที่เสียใจของแฟนๆอย่างมาก) ช่วงแรกๆตอนนั้นคำว่า Alternative Rock เป็นคำพูดที่รู้จักกันในวงแคบ ได้ยินกันแบบปากต่อปาก จากการเล่นสดตามผับ จากการเปิดเพลงของพวกเขาใน College Radio (คลื่นวิทยุที่เปิดเพลงตามใจฉันและเป็นขวัญใจวัยรุ่นมหาลัยในสมัยนั้น) จนมีจำนวนแฟนเพลงขยายมากขึ้นเรื่อยๆ โด่งดังจากใต้ดินทะลุขึ้นมาบนดิน ได้เซ็นสัญญาทำเพลงกับค่ายเพลง  เพลงในยุคแรกๆของพวกเขา เรียกกันในแนว Jangle Pop เป็นเหมือนเพลงที่มีการตีคอร์ดง่ายๆแบบ Pop กระแสหลักที่ผสมผสานกลิ่นอายดิบๆของ Punk และ Rock เข้าไว้ด้วยกัน มีเพลงดังๆติดหูออกมามากมาย เช่น Losing my Religion, Radio Free Europeนอกจากนั้นยังมีวงอื่นๆในช่วงบุกเบิกด้วยกันเช่น Sonic Youth วงนักร้องนำหญิงที่เล่นเบสด้วยและร้องนำได้ด้วยเป็นแรงบันดาลใจของวงดนตรีรุ่นหลังๆมากมาย

พอเริ่มเข้าสู่ยุค 90’s วงการเพลง Alternative Rockของอเมริกันก็พุ่งไปถึงจุดพีคสูงสุด ด้วยการมาถึงของ สามหนุ่มจากเมือง Seattle วง Nirvana มีมือกีตาร์และนักร้องนำคือ Kurt Cobain ที่เป็น Idol ของใครหลายๆคน (Idol เราด้วย อิอิ) ที่มาของแฟชั่นยีนส์ขาดๆกับรองเท้าConverse ด้วยอัลบั้ม Nevermind ของพวกเขา หน้าปกเด็กแก้ผ้าว่ายน้ำอันเป็นตำนาน กับแนวดนตรี Grunge ที่ตอนนั้นกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่นเมือง Seattle เอกลักษณ์เด่นๆคือเสียงกีตาร์เปิดเอฟเฟ็ค Distorted และเสียงร้องที่กึ่งร้องแหบๆกึ่งแหกปาก มีเพลงหลักๆที่จะไม่พูดถึงไปไม่ได้เลยก็คงจะเป็นเพลง Smell Like Teen Spirit ที่มีเนื้อหาประชดประชันเข้าถึงหัวอกวัยรุ่นในสมัยนั้นเต็มๆ  มีการเดินคอร์ดแบบที่คิดมาให้คนฟังโยกหัวกันกระจายโดยเฉพาะ  ผลลัพธ์ของอัลบั้มนี้ทำให้ Nirvana กลายเป็นวงดนตรีรุ่นใหญ่ไปในชั่วข้ามคืน ด้วยยอดขายชาร์ต Billboard ที่พุ่งแซงหน้าทะลุอัลบั้ม Dangerous ของราชาเพลงป๊อป Micheal Jackson ถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าตกใจอย่างมาก ส่งผลให้เหล่าค่ายเพลงทั้งหลาย เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับวงดนตรีนอกกระแสเหล่านี้มากขึ้น ไม่นานทางฝั่งอเมริกาก็มีวงต่างๆผุดขึ้นมาในวงการเพลงกันอีกเพียบ  ที่ดังๆตามกันมาก็คือ Smashing Pumpkin มีเพลงเพราะๆติดหูคือเพลง 1979ฟังสบายๆเป็นเพลงดังของวง ส่วนแนว Grunge จาก Seattle เองก็ยังผลิตวงดนตรีคุณภาพออกมาอีกสองวงก็คือ Soundgarden และ Pearl Jam อีกสองเสาหลักแห่งดนตรี Alternative ยุค 90′ จนทำให้ภายหลังเมือง Seattle ถูกกล่าวขวัญให้เป็น “Liverpool ใหม่ของอเมริกัน” (เปรียบเทียบกับเมือง Liverpool ของอังกฤษ ที่ผลิตวงดนตรีประวัติศาสตร์อย่างคณะสี่เต่าทอง The Beatles) ทำให้อเมริกาในยุค90’s กลายเป็นยุคทองแห่งดนตรีทางเลือกใหม่และเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหม่แห่งยุคสมัยของกลุ่มวัยรุ่นอีกด้วย

ด้านฝั่งเกาะอังกฤษ ที่ก่อนหน้านี้ในช่วงต้น 80’s แม้จะเป็นดนตรีทางเลือกเหมือนกันกับอเมริกา แต่วงอย่าง The Cure และ The Smithกลับไม่ได้รับความนิยมแบบที่ควรจะเป็น วงโด่งดังกันในหมู่คนฟังเล็กๆ มีผลงานเพลงดีๆฝากเอาไว้ ที่ช่วงหลังๆมานี้ หนังอินดี้ส่วนใหญ่ชอบหยิบเอามาประกอบหนังมากมาย พอมาในช่วงยุค 90’s ในขณะที่ฝั่งอเมริกาเขามีแนว Grunge โด่งดังกันยกใหญ่ข้ามทวีป เช่นวง NIRVANA ในอังกฤษก็ไม่น้อยหน้า เกิดดนตรีแนวใหม่ภายใต้สับเซต Alternative Rock เช่นกันที่เราเรียกกันว่าแนว Brit Pop (Pop ของอังกฤษ) ที่มีวงใหญ่ๆอย่าง OASIS, Radiohead, Blur เป็นแนวหน้าของวงการ มีเพลงดังๆเพราะๆที่ยังคงครองใจแฟนๆออกมากันเพียบ ต่างไปจากความดิบแหกปากใน Grunge ของอเมริกา Brit Pop จะมีเมโลดี้ที่ไพเราะและเสียงร้องที่ฟังสบาย อย่างเช่นในเพลง Don’t Look Back In Anger ของ Oasis วงดนตรีสองพี่น้องสุดกวน ที่ชาวอังกฤษจัดให้เป็นวงที่ดีที่สุดของพวกเขาในช่วง 10 ปีหลังๆที่ผ่านมา ส่วนถ้าอยากได้เสียงกีตาร์ดิบๆ Distorted และความหนักนั้น ผู้ดีอังกฤษเขาก็มีลูกบ้าไม่แพ้ฝั่งอเมริกากันเลยทีเดียว ใครที่นึกไม่ออก ให้ลองฟังเพลงชาติของเหล่าเด็กวัยรุ่นมีปัญหา ที่ฟังกันจากยุคนั้นจนถึงวันนี้ กับเพลง Creep ของ Radiohead ที่มีดนตรีหนักหน่วง และเนื้อหาที่แสดงอารมณ์ก้าวร้าวออกมา โลดแล่นอยู่บนการแต่งเพลงเมโลดี้สวยๆแบบฉบับเกาะอังกฤษอย่างลงตัว

หากเทียบกับเพลงไทย ในยุคที่ห้อมล้อมไปด้วยค่ายเพลงใหญ่ๆ มีศิลปินดังๆมากมาย บ้านเราก็มีวงอัลเทอร์เนทีฟ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวขณะนั้นออกมาเช่นกัน มีวงเด่นๆที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนฟังเพลงออกมา อย่างเช่น อรอรีย์, Siam Secret Service (S.S.S), พราว และวงน้องใหม่ในยุคนั้น หมาสมัยใหม่ “Modendog” ที่ฟังแล้วได้อิทธิพลจาก Brit Pop ฝั่งเกาะอังกฤษมาเต็มๆ สำหรับในยุคนี้ถ้าใครอยากหามาฟังคงต้องไปหาเครื่องเล่นเทป (Cassette) เอามาเปิดด้วย แต่รับประกันเลยว่าถ้าฟังแล้ว คงจะเหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ ที่จะรู้สึกว่าวงการเพลงไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกเลยทีเดียว

สรุปแล้วเพลง Alternative เป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งการปลดแอกความรู้สึกทางดนตรี ที่เก็บกลั้นมานานของคนหนุ่มสาวในยุค 90’s ถูกห้อมล้อมด้วยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ประโคมเปิดเพลงตลาดกรอกหูกันตามวิทยุ คงต้องขอบคุณศิลปินเหล่านั้นจริงๆ เพราะพวกเขาทำให้ประวัติศาสตร์ของวงการเพลงทั้งโลก เปลี่ยนจากหน้ามือไปเป็นหลังมือ ผมคนหนึ่งคงนึกภาพไม่ออกเลยว่า วงการเพลงจะเป็นอย่างไรถ้าเราขาดยุคนั้นไป ซึ่งจริงๆแล้วที่กล่าวๆมาวันนี้ยังไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ ยังมีวงเจ๋งๆอีกมากมายที่โด่งดังในตอนนั้น แม้ท้ายที่สุดแล้วดนตรีทางเลือกนอกกระแส Alternative ได้ถูกกลายกลืนไปเป็นกระแสหลัก และจบตัวเองลงด้วยการตายของ Kurt Cobain แห่ง Nirvana ในช่วงเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเป็นโลกสมัยใหม่ ยุคที่การฟังวิทยุเริ่มถูกให้ค่าเป็นของแปลก ยุคที่คนไม่ต้องซื้อแผ่นซื้อเทปกันอีกต่อไป ยุคที่ internet เข้ามามีบทบาทกับชีวิต แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าในอนาคตอาจจะมีแนวทางดนตรีใหม่ๆที่ระเบิดออกมาอีกก็ได้ คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะตอนนี้เราก็เพิ่งอยู่ในช่วงย่างเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ยุค 2010 เท่านั้นเอง.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.dooddot.com/alternative-rock90/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่