5 กรกฏา วันชี้ชะตาชาวกรีซ : วิกฤติจากอะไร แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

คิดเห็นอย่างไร คุยกันได้ครับ
---------------------------------------------------------------------------------------------------

ประมาณ 11 โมงเช้าตามเวลาในประเทศไทย การโหวตที่จะตัดสินชะตาชีวิตของประชาชนชาวกรีซจะเริ่มขึ้น และน่าจะรู้ผลไม่น่าเกินเที่ยงคืนวันนี้ ว่ากรีซจะเดินไปในทิศทางใด

เกิดอะไรขึ้นกับกรีซ
ย้อนกลับไปปี 1950-1970 ด้วยค่าเงิน Drachma ที่อ่อนค่า และนโยบายในการสร้างเมืองใหม่ ทำให้ประเทศกรีซเป็นประเทศเนื้อหอมของนักลงทุน อัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศกรีซสูงเป็นประวัติการณ์ (ดูภาพที่1ประกอบ) และนั้นคือจุดเริ่มต้น รัฐบาลเริ่มออกนโยบายในลักษณะที่จะนำไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare-State) โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับเงินบำนาญหลังเกษียณ นโยบายนี้ทำให้ประชาชนสามารถเกษียณได้ตั้งแต่อายุ 35 และได้รับเงินคิดเป็น 80 เปอร์เซนต์ของเงินเดือนล่าสุด ส่วนใหญ่ชาวกรีซจะเกษียณเมื่ออายุ 50  (Ref:1)

นโยบายนี้จะไม่เป็นปัญหาถ้ามีคนทำงานมากกว่าเกษียณ แต่ปัจจุบัน กรีซมีผู้สูงอายุมากขึ้น มีประชากรในช่วงทำงานเทียบกับประชากรเกษียณคิดเป็น 4 ต่อ 3 และกลายเป็นรายจ่าย 50 เปอร์เซนต์ของรายได้เข้ารัฐ (Ref:1)  (ดูภาพที่ 2 และ 3ประกอบ)

รายจ่ายของภาครัฐไม่ใช่แค่บำนาญ แต่รวมไปถึงค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ในปี 1995 ถึง 2005 หนี้ของรัฐรวมเบ็ดเสร็จแล้วคิดเป็น 90 ถึง 100 เปอร์เซนต์ของ GDP (ดูภาพที่4ประกอบ)  นั้นหมายความว่า แต่ละปีประเทศนี้หาเงินได้เท่าไหร่ เงินก็หายไปหมด ในช่วงเวลานี้ รัฐเริ่มเห็นปัญหาแล้วแต่ก็ซ่อนมันไว้ใต้พรมตลอดมา แม้กระทั่งตอนเข้าสู่ยูโรโซนในปี 1998  ก็มีการตกแต่งบัญชีเพื่อให้ผ่านกฎขอบังคับของยูโร (Ref:2) การเป็นสมาชิก ทำให้กรีซสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของยูโรได้ กลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาของตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีก แต่กรีซก็ยังอยู่ได้เพราะ การเติบโตของ GDP ยังติดบวกทำให้ยังเป็นประเทศน่าลงทุนอยู่ จนกระทั่งปี 2008 ระเบิดตูมใหญ่ก็มาถึง การเติบโตของ GDP ติดลบ (ดูภาพที่1ประกอบ) นั้นหมายถึง ประเทศกรีซเริ่มหาเงินได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่รายจ่ายทั้งหลายกลับคงอยู่และเพิ่มขึ้นในแต่ละปีจากคนที่เกษียณมากขึ้น ผสมเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย กรีซกลายเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุนและไม่น่าสนใจอีกต่อไป ซ้ำเติมปัญหาของกรีซยิ่งขึ้นไปอีก กรีซต้องขอความช่วยเหลือจากยูโร แต่ความช่วยเหลือต้องแลกกับอิสระภาพทางการเงินของกรีซ กรีซจะถูกตรวจสอบทางการเงินอย่างเข้มข้น และ ถูกบังคับชำระหนี้ ตามกำหนดเวลาที่ระบุเอาไว้ หาไม่แล้ว จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในงวดถัดไป


ภาพที่ 1 กราฟการเติบโตของ GDP ในแต่ละปีของกรีซ หน่วยเป็นเปอร์เซนต์ (Ref:9)


ภาพที่ 2 กราฟแสดงจำนวนประชากรในประเทศกรีซแยกตามเพศและช่วงอายุ ของปี 2000 และ ปี 2050 (Ref:11)


ภาพที่ 3 กราฟซ้ายบอดสัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุเทียบกับจำนวนผู้อยู่ในวัยทำงาน
กราฟขวาบอกถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุเมื่อถึงปี 2050 เทียบกับ GDP หน่วยเป็นเปอร์เซนต์ (Ref:12)


ภาพที่ 4 กราฟแสดงหนี้ต่อGDP หน่วยเป็นเปอร์เซนต์ ในแต่ละปี (Ref:8)

กรีซอึดอัด
นับตั้งแต่ขอความช่วยเหลือจากยูโร กรีซก็ทำทุกวิธีทางที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอด ทั้งการเปลี่ยนอายุเกษียณเป็น 62 ปี และอาจเพิ่มเป็น 67 ปี เงินบำนาญลดเหลือ 60 เปอร์เซนต์ รวมถึงการขายสินทรัพย์ แต่ก็ทำด้วยความยากลำบากเหตุเพราะ ชาวกรีซคัดค้านการตัดงบสวัสดิการต่างๆ ตัวอย่างเช่น การขายสินทรัพย์มูลค่า 50 พันล้านยูโร (50 billion euros) ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2015 แต่ปัจจุบันกลับทำได้แค่ 6 เปอร์เซนต์จากที่ตั้งใจไว้ (Ref:1)

เวลาผ่านไป สถานการณ์ของกรีซกลับแย่ลงเรื่อยๆ หนี้ในปี 2013 คิดเป็น 175.1 เปอร์เซนต์ของ GDP แถมล่าสุด (1 กรกฎา)มูดดีส์ยังจัดเรตให้ประเทศกรีซในระดับ Caa3 (Ref:3)  ซึ่งสูงกว่าเกรดต่ำที่สุดของมูดดีส์เพียงสองชั้น (Ref:4)

ตอนนี้ประเทศกรีซ ไม่สามารถหวังเงินจากนักลงทุนต่างชาติได้ เพราะนักลงทุนยังไม่เห็นการทำกำไรในประเทศนี้ กรีซจะเอาเงินกู้มาลงทุนก็ไม่ได้ เพราะ หนี้มากมายมหาศาลจนไม่เหลือเงินเอาไว้ลงทุน คนในประเทศยังปรับตัวและรับความจริงไม่ได้ ดอกเบี้ยเงินกู้มันก็งอกขึ้นทุกวัน แถมยังถูกเจ้าหนี้ตรวจเข้มเรื่องการใช้จ่ายเงิน กรีซกลายเป็นอัมพาตไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากรออาหารผ่านทางสายยางที่คนอื่นป้อนให้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

การมาถึงของศรีปราชญ์
ต้นปี 2015 กรีซได้นายกคนใหม่ที่ชื่อว่า Alexis "Tsipras" ปัจจุบันถูกนักวิเคราะห์ไทยบางคนเรียนกว่า "ศรีปราชญ์" เพราะเทคนิกการต่อรองหนี้ของพี่แกแพรวพราวเหลือเกิน นโยบายของศรีปราชญ์ตอนหาเสียงเลือกต้ังคือ เจ้าหนี้ต้องยกหนี้หรือลดหนี้บางส่วนให้กรีซ เพื่อให้กรีซมีอากาศหายใจ มิเช่นนั้นก็ ต้องออกจากยูโรโซน นโยบายนี้สร้างความตกใจให้กลุ่มยูโรพอสมควร เริ่มมีการคิดกันว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากกรีซจะต้องออกจากยูโรจริงๆ ศรีปราชญ์พยายามโน้มน้าวเจ้าหนี้ทั้งหลายให้ลดหนี้และ/หรือ ลดดอกเบี้ยบ้าง แต่เจ้าหนี้รายใหญ่อย่างเยอรมันนีไม่ยอม (ดูภาพที่5ประกอบ) หลังจากเจรจาอยู่หลายครั้งและตกลงกันไม่ได้ "ศรีปราชญ์" ตัดสินใจใช้ท่าไม้ตายสุดท้าย จัดให้มีการโหวตครั้งประวัติศาสตร์ว่า จะยอมรับเงื่อนไขของเจ้าหนี้หรือไม่


ภาพที่ 5 กราฟแสดงรายละเอียดมูลหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละราย (Ref:10)

Yes หรือ No
ถ้าประชาชนเลือก Yes ทุกอย่างจะยังคงเหมือนเดิม กรีซยังคงอยู่ในยูโรโซน ใช้เงินสกุลยูโรต่อไป และขอรับความช่วยจากยูโรเหมือนเดิม IMF ได้ออกรายงานเมื่อไม่นานมานี้ คาดการณ์ว่าหากกรีซทำตามขอบังคับของเจ้าหนี้ และ การเติบโต GDP ของกรีซเป็น 1 เปอร์เซนต์ หนี้ของกรีซจะกลับเข้าสู้ 100 เปอร์เซนต์ของ GDP ภายในระยะเวลา 30 ปี (Ref:5) เจ้าหนี้แฮปปี้เพราะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย แต่กรีซจะยอมเป็นง่อย 30 ปีได้ไหม แล้วถ้า GDP ของกรีซไม่ใช่ 1 เปอร์เซนต์ทุกปีละ หนี้ของกรีซจะอยู่ต่อไปอีกนานเท่าใด

หากเลือก No จะเกิดคำถามตัวเท่าประเทศให้ขบคิด เป็นคำถามหลายคำถามที่นักวิชาการหลายคนยังหาคำตอบไม่ได้
1. จะเอาเงินจากไหนมาจ่ายหนี้? : การตอบ No ไม่ได้ทำให้หนี้ของกรีซหายไป หนี้ยังคงอยู่ แต่เมื่อไม่รับความช่วยเหลือจากยูโร แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเจ้าหนี้ ศรีปราชญ์มีคำตอบสำหรับคำถามนี้อยู่บ้างแล้ว คือ หันไปหา รัสเซียหรือจีน ความจริง กรีซหันไปหารัสเซียแล้ว ตั้งแต่ลงนามความตกลงกับรัสเซียเรื่องการให้เช่าสถานที่ที่จะใช้วางท่อก๊าซเข้าสู่ยูโร (Ref:6) รัสเซียพยายามหลายครั้งที่จะขอใช้กรีซเป็นทางผ่านแต่ก็ถูกปฎิเสธ เพราะกรีซเกรงใจยูโรอยู่ แต่วิกฤติทำให้กรีซต้องเปลี่ยนท่าที แต่ต้องอย่าลืมว่า รัสเซียถูกยูโรแซงชันเศรษฐกิจอยู่อันเนื่องจากปัญหายูเครน รัสเซียยังเกือบเอาตัวไม่รอด การช่วยเหลือกรีซยังทำไม่ได้มากนัก (Ref:7) จีนยังเป็นอีกความหวังหนึ่ง แต่โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี กรีซต้องยอมเสียอะไรเพื่อให้ได้มาซึ่งความช่วยเหลือจากจีน ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้

2. ออกจากยูโร? เยอรมันนีส่งสัญญาณมาว่า ถ้าประชาชนกรีซเลือก No นั้นหมายความว่า กรีซเลือกที่จะออกจากยูโรโซน เอาเข้าจริงไม่มีบัญญัติข้อไหนของยูโรที่อนุญาติหรือไม่อนุญาติให้ออกจากยูโรโซนได้ (Ref:1) ระเบียบปฏิบัติในการออกจากยูโรโซนจึงเป็นปัญหาข้อหนึ่งที่ยังไม่มีคำตอบ อีกทั้งยังมีคำถามอีกว่า การออกจากยูโรโซนครั้งนี้จะเป็นการออกอย่างถาวรหรือชั่วคราว

3. ชักดาบไหม? เมื่อไม่มีกฎข้อบังคับจากยูโร  กรีซจะจ่ายหนี้ยังไงก็ได้ เพราะไม่มีใครบังคับ ศาลโลกหรือศาลยูโรก็ไม่ได้มีหน้าที่หรือความสามารถในการบังคับชำระหนี้ระหว่างประเทศได้  แต่กรีซจะหมดความน่าเชื่อถือในสายตาชาวโลกหรืออย่างน้อยก็ประเทศในกลุ่มยูโร ซึ่งจะส่งผลนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในกรีซ จะมีใครยอมลงทุนกับคนที่มีประวัติเสียเรื่องการชำระหนี้ รัสเซีย จีน จะกล้าฤา

4. เงินสกุล Drachma จะมีมูลค่าเท่าใดและส่งผลอย่างไรต่อกรีซ? หากไม่ใช่เงินสกุลยูโร แล้วกลับไปใช้เงินสกุลเดิมคือ Drachma เงินสกุลนี้จะมีมูลค่าเท่าใดในตลาดโลก แน่นอนว่าเงินสกุลนี้จะต้องอ่อนค่าอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้แย่ลงไปอีก แต่เงินที่อ่อนค่าจะส่งผลดีในแง่ที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน

5. ความสัมพันธ์กับประเทศในยูโรโซน? ลูกหนี้จะมองหน้าเจ้าหนี้ติดฤา

สรุปก็คือ ไม่ว่าผลจะออก Yes หรือ No กรีซเจ็บแน่ แต่จะเลือกเจ็บยาว (Yes) หรือ หวังน้ำบ่อหน้า (No) ซึ่งอาจจะดีกว่าหรือแย่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ขอบคุณครับ

Reference
[1] http://nypost.com/2015/07/02/the-greek-welfare-state-road-to-ruin/
[2] http://www.independent.co.uk/news/world/europe/greece-admits-deficit-figures-were-fudged-to-secure-euro-entry-6157967.html
[3] http://www.nation.co.ke/business/Moody-s-cuts-Greece-rating-deeper-into-junk-territory/-/996/2772758/-/2uxlxz/-/index.html
[4] http://www.nasdaq.com/investing/glossary/m/moody-long-term-ratings
[5] http://uk.reuters.com/article/2015/07/02/uk-eurozone-greece-imf-idUKKCN0PB61T20150702
[6] http://money.cnn.com/2015/06/19/news/greece-russia-gas-deal/
[7] http://www.forbes.com/sites/raoulruparel/2015/04/07/could-greece-pivot-to-russia-and-china/
[8] https://www.google.co.th/search?q=greece+debt&es_sm=93&biw=1360&bih=643&source=lnms&sa=X&ei=-WuYVYeAPJGOuATu1qi4BA&ved=0CAUQ_AUoAA&dpr=1
[9] https://www.google.co.th/search?q=gdp+growth+greece&oq=gdp+growth+gre&aqs=chrome.0.0j69i57j0l4.6951j0j7&sourceid=chrome&es_sm=93&ie=UTF-8
[10] http://money.cnn.com/2015/01/28/investing/greek-debt-who-has-most-to-lose/
[11] http://www.businessinsider.com/the-greek-crisis-is-about-demographics-2010-5
[12] http://blog.rivast.com/?p=3312
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่