ความล่มสลายของ "ร้านเช่าหนัง"

ความล่มสลายของ "ร้านเช่าหนัง"
http://bit.ly/1aRpclG

15 เมษายน 2558 เวลา 08:06 น.
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ท่ามกลางวัฒนธรรมดาวน์โหลดที่แสนสะดวกง่ายดาย เพียงไม่กี่นาทีก็ได้หนังที่ต้องการมานั่งดูอย่างสบายใจ แถมคุณภาพระดับฟูลเอชดี ภาพคมชัด เสียงใสแจ๋วไม่แพ้ต้นฉบับ ส่งผลให้ร้านเช่าวีซีดี-ดีวีดีเจ๊งกันถ้วนหน้า

เหลียวมองรอบกาย คำถามเกิดขึ้นว่าวันนี้ยังมีร้านเช่าหนังหลงเหลืออยู่สักกี่ร้าน

"ร้านเช่าหนัง"ใกล้สูญพันธุ์?

ย้อนกลับไปราว 30 ปีก่อน "ร้านเช่าหนัง"เปรียบได้ดั่งแลนด์มาร์คมิต่างจากเซเว่นอีเลฟเว่น ถนนทุกเส้นสาย บริเวณปากซอย สี่แยก ทางสามแพร่ง หรือหัวโค้งอันเป็นทำเลทอง จะต้องมีร้านวีดีโอตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่า

"ช่วงหลังปี 2520 เป็นต้นมา แทบทุกอำเภอมีไฟฟ้าใช้ มีการขยายสัญญาณแพร่ภาพไปทั่วประเทศ ทำให้โทรทัศน์สีมีราคาถูกลง รวมทั้งเครื่องเล่นวีดีโอด้วย ทำให้หลายครอบครัวเข้าถึงได้ง่าย นิยมซื้อมาประดับบ้าน จนเกิดร้านเช่าวีดีโอขึ้นมากมายเต็มไปหมด นับเป็นทางเลือกใหม่ของความบันเทิงคนไทยพ.ศ.นั้น"เป็นคำบอกเล่าของ โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) และนักอนุรักษ์หนังคนสำคัญของไทย

ร้านเฟมวีดีโอ ท่าพระจันทร์ ก็ถือเป็นตำนานบทหนึ่งที่คนดูหนังจดจำได้ดี

"ยุครุ่งเรืองของร้านเช่าหนัง ต้องบอกว่าถนนใหญ่ตลอดทั้งเส้น ทุกปากซอยจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งร้าน ร้านดังๆในกรุงเทพฯสมัยนั้นมีกรุงเทพวีดีโอ ประตูน้ำ นิวเวิร์ล วีไอพี เบสวีดีโอ และโฮมวีดีโอซึ่งเป็นร้านเช่าหนังแฟรนส์ไชน์ยุคแรกๆ ต่อมาคือบล็อกบัสเตอร์ สึทาย่า วีดีโออีซี่ ไม่ว่าจะร้านใหญ่ร้านเล็กทุกร้านทำกำไรได้หมด เพราะการเช่าวีดีโอมาดูที่บ้านถือเป็นความบันเทิงราคาถูก เป็นกิจกรรมพักผ่อนของทุกครอบครัว ถึงขนาดคนพูดกันว่าการเข้ามาของร้านเช่าวีดีโอตีโรงหนังซะเจ๊งไปเลย หนังยอดนิยมสมัยนั้นมีตั่งแต่หนังฝรั่งฮอลลีวู้ด หนังไทย ตลกคาเฟ่ โดยเฉพาะหนังฮ่องกงกับหนังชุดจีนกำลังภายใน เรื่องนึงนี่ก๊อปปี้กันร้อยกว่าชุดยังทำออกมาไม่ทัน ลูกค้าบางคนถึงขั้นมาเคาะประตูกลางดึกขอเช่าตอนต่อไป เพราะมันติดงอมแงมจริงๆ"ธานี จิริยะสิน วัย 57 เจ้าของร้านเฟมวีดีโอ ท่าพระจันทร์ หัวเราะให้กับวันเก่าๆ



แน่นอนว่า ธุรกิจใดที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีย่อมมีความเปลี่ยนแปลงผันผวนรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง

"วิกฤตครั้งแรกที่บรรดาร้านเช่าหนังต้องเจอคือ ตอนที่พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ประกาศใช้ วีดีโอทุกม้วนต้องมีสติ๊กเกอร์ที่ผ่านตรวจเซ็นเซอร์ ผมต้องลบวีดีโอที่ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ทิ้งไปเป็นร้อยๆม้วน แต่ยังพอรับได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม แต่วิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดและรุนแรงที่สุดคือ ยุคที่เปลี่ยนจากเครื่องเล่นวีดีโอมาเป็นวีซีดี เพราะเครื่องเล่นวีซีดีมีราคาถูกลง แผ่นซีดีเปล่าก็ไม่แพงเท่าม้วนเทป แถมคุณภาพคมชัดกว่า คนเลยแห่ไปดูวีซีดี ตอนนั้นเองที่ร้านเช่าวีดีโอล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก แต่ผมมองว่ามันเป็นธุรกิจที่ผมรักและสร้างมันมากับมือ จึงตัดสินใจทำต่อเปลี่ยนเป็นวีซีดี และดีวีดี ตามยุคสมัย

ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนมาใช้ระบบ 'ขายขาด' แทนการ 'เช่ายืม-คืน' เพราะมองแล้วว่าไม่เวิร์ค ไหนจะข้อจำกัดเรื่องเวลาไหนจะเรื่องการเดินทาง ถามว่าร้านเช่าหนังจะตายไหม คงไม่ถึงขนาดตายเรียบ แต่อาจจะเหลือน้อยมากๆ อย่างในอเมริกา ในยุโรปก็ยังมีร้านเช่าหนังอยู่ เราต้องใช้เสน่ห์ ใช้ความเป็นเอกลักษณ์ของร้านนั่นคือการเป็นแหล่งรวมหนังเก่าแก่หายาก หนังนอกกระแส หนังรางวัลที่หาจากที่ไหนไม่ได้นี่แหละเป็นจุดขาย"

ณ วันที่ร้านเฟมวีดีโอ ท่าพระจันทร์ ยืนยงคงกระพันมานานถึง 26 ปี ธานียอมรับว่าเป้าหมายทุกวันนี้ขอแค่พออยู่พอกิน ไม่ได้หวังร่ำรวย เพราะเข้าใจว่ายุครุ่งเรืองที่สุดได้ผ่านไปแล้ว



รักแท้แพ้ดาวน์โหลด

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจร้านเช่าหนังตกต่ำย่ำแย่จนแทบล้มละลาย หนีไม่พ้นพฤติกรรมที่ผู้คนหันไปพึ่งเทคโนโลยีการดาวน์โหลด และค่าลิขสิทธิ์ที่แพงหูฉี่

อุดม ยุวนากร อีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ยอมรับว่า การดาวน์โหลดที่ง่ายขึ้นทำให้เขาเลิกเดินเข้าร้านเช่าหนัง ทั้งที่ผูกพันมากว่าค่อนชีวิต

"ผมเป็นคนชอบอยู่บ้าน ไม่ชอบออกไปไหน ว่างๆก็เดินออกไปเช่าหนังที่ร้าน ความสุขอยู่ตรงการที่ได้นั่งเลือกหนังที่เราไม่เคยดู หยิบปกขึ้นมาอ่าน พลิกอ่านอยู่อย่างนั้นได้เป็นชั่วโมงๆ เช่าเสร็จก็กลับบ้านมานอนดูคนเดียว เดี๋ยวนี้ตั้งแต่มีเว็บไซต์ให้โหลดง่ายๆ มีหนังแทบทุกเรื่องในนั้น แถมคุณภาพชัดแจ๋ว ใช้เวลาแป๊บเดียวก็ได้ดูแล้ว หลังจากนั้นเลยเลิกเช่า โหลดดูอยู่บ้านง่ายกว่า ... เอาเข้าจริง ถึงอยากจะเดินเข้าร้าน ก็แทบไม่มีร้านเช่าหนังเหลือแล้วครับ"

ขณะที่อดีตผู้จัดการร้านเช่าวีซีดีรายหนึ่งให้ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับอุปสรรคสำคัญของร้านเช่าหนังว่า

"ค่าลิขสิทธิ์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ยกตัวอย่างร้านใหญ่ที่มีแฟรนส์ไชส์เขาต้องซื้อลิขสิทธิ์จากทุกค่าย เพื่อจะได้มีหนังมาลงในร้านเยอะๆ บางค่ายราคาสูงถึง 3 หมื่นบาทต่อเดือน บางค่าย 2 หมื่น ไหนจะต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าลูกจ้าง สวนทางกับจำนวนลูกค้าที่น้อยลงทุกวัน ก็ขาดทุนเจ๊งไป ส่วนร้านเล็กๆบ้านๆเขาไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้ทุกค่ายหรอก บางร้านซื้อไหวแค่ค่ายเดียว ที่เหลือก็ต้องใช้วิธี 'หลบ'หมายถึงไปซื้อแผ่นผีราคาถูกมาไรท์ให้เช่า แบบนี้ถ้าโดนจับละเมิดลิขสิทธิ์โดนปรับหนัก"



ความทรงจำดีๆที่ยากจะลืม

ยังจำกันได้ไหม?

ความรู้สึกขณะเดินเข้าไปในร้านเช่าหนัง นั่งๆยืนๆสอดสายตาหาหนังน่าสนใจ หยิบขึ้นมาดูทีละปก พลิกอ่านเรื่องย่อ สงสัยอะไรก็ไถ่ถามเจ้าของร้านผู้รอบรู้ไม่ต่างจากเอนไซโคพีเดียด้านภาพยนตร์เคลื่อนที่ จมอยู่ในนั้นได้นานเป็นชั่วโมงโดยไม่รู้สึกเบื่อ

"แถวบ้านผมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อเกือบๆ 10 ปีที่แล้ว มีร้านเช่าหนังชื่อ "วันชัยสตาร์" ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ทุกๆวันตอนหนึ่งทุ่ม ทางร้านจะเปิดหนังให้ดูฟรีที่หน้าร้าน คนที่มาดูก็จะเตรียมเก้าอี้เล็กๆ กระติกน้ำมารอดูหนัง แต่ละวันมีคนมาดูประมาณ 10-20คนได้ วันไหนถ้าเจ้าของร้านใจดีเปิดหนังใหม่หน่อย คนก็จะมาดูเพียบ มีร้านขายขนมมารอขายคนดูหนังด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว"เป็นความทรงจำเก่าๆของ อ้วน นักเช่าหนังวัย 30 ต้นๆที่ยังคิดถึงอดีตอันแจ่มชัดได้ไม่ลืมเลือน

ขณะที่ พูนศักดิ์ เลิศรายา นักโฆษณาหนุ่มใหญ่ บอกว่า ร้านเช่าหนังถือเป็นบ้านอีกหลังของเขาเลยก็ว่าได้

"ประมาณ 8-9 ขวบ จำได้ว่าทุกเย็นหลังเลิกเรียน หรือช่วงวันหยุด ปิดเทอม ผมจะหมกตัวอยู่ในร้านเช่าวีดีโอแถวบ้าน นั่งดูปก ดูเรื่องย่อท้ายม้วน พลางถามโน่นถามนี่พี่เฝ้าร้าน แกก็ตอบได้ไม่เบื่อ จนหลังๆสนิทกันแกก็เปิดหนังฟรีให้ดูตามใจชอบ บางครั้งได้เงินมาเช่าแกก็แถมฟรีเรื่องนึง เก็บหนังใหม่ๆชนโรงไว้ให้ผมคนแรก ยิ่งเรื่องปรับเงินเพราะคืนไม่ตรงเวลานี่ไม่มีแน่นอน พูดง่ายๆโตมากับร้านวีดีโอเลย แต่วันหนึ่งพอเริ่มมีวีซีดีเข้ามา ก็เริ่มโละสต๊อกม้วนวีดีโอทิ้ง จากนั้นอีกไม่ถึงสองเดือน ร้านก็เจ๊ง คิดถึงแล้วก็เสียดาย"



นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ นักเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัล เล่าว่า สมัยก่อนที่ยังเด็กไม่สามารถไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ได้ทุกเรื่อง ร้านเช่าหนังคือสิ่งเติมเต็มที่ขาดไม่ได้

"สมัยเด็กๆ การไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ไม่ใช่ว่าจะดูได้ทุกเรื่อง เพราะทั้งแพง ทั้งไกล พอมีร้านเช่าหนังอยู่ใกล้บ้าน ราคาแผ่นละ 20 บาท แถมยังมีโปรโมชั่นพิเศษแถมอีก มันเลยเป็นทางเลือกให้เราสามารถดูหนังได้บ่อยๆ ทั้งหนังอินดี้ หนังต่างประเทศที่ไม่ได้เข้าโรงใหญ่ ถ้าโลกนี้ไม่มีร้านเช่าหนัง ผมก็อาจจะได้ดูหนังน้อยกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ ความสนุกที่ผมได้สัมผัสคือ การวิ่งแข่งกันไปเช่าหนังใหม่ เราต้องลุ้นว่าไปแล้วจะมีไหม ถ้ามีคนเช่าไปก่อนก็เดินคอตกกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็ต้องรีบมาดูว่าเขาคืนแล้วหรือยัง มันเป็นความทรงจำขำๆที่เราจำได้"

ผู้กำกับชื่อดังยอมรับว่า ไม่ได้เข้าร้านเช่าหนังนานหลายปีแล้ว เนื่องจากร้านใกล้บ้านล้มหายตายจากไปหมด

"มันเป็นอนิจจัง รุ่งเรืองสุดๆได้ก็มีวันตกต่ำได้ พฤติกรรมคนส่วนใหญ่มองว่าอันไหนสะดวกกว่าก็เลือกใช้อันนั้น มันเป็นเรื่องปกติครับสำหรับการเปลี่ยนฟอร์แมท เทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา"

ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกดีๆที่มีต่อร้านเช่าหนัง ซึ่งอาจไม่มีให้เห็นอีกแล้วในวันพรุ่งนี้

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 120
แม่เราก็เปิดร้านเช่าหนังนะ. ทุกวันนี้ก็ยังเปิดอยู่

เปิดตั้งแต่เราอยู่อนุบาล เป็นร้านวีดีโอ จนปัจจุบันเป็นร้าน CD DVD ฯ
ร้านเล็กๆห้องแถว1คูหา ประตูกระจกเก่าๆ ที่เอาโปรเตอร์หนังมาแปะ ซ้อนกันไปกันมาจนหนา แต่แม่ก็ไม่เกะออก
เราจำได้ว่า.. ตอนเด็กๆ เป็นร้านวีดีโอ ร้านเราดังมาก ลูกค้าเยอะ
เราต้องช่วยแม่ทำงานเฝ้าหน้าร้าน ช่วยกรอวีดีโอกลับเมื่อลูกค้าเอามาคืน  เครื่องกรอรูปรถสปอตเยอะมากก
ม้วนไหนมันหนังเก่าแล้ว แม่ก็เอาไปขาย เหลือแต่กล่องมัน
เราจะขอกล่องไปตัด ทำที่คั้นหนังสือ เอาไปขายที่ รร. ตอนประถม ด้านข้างกล่อง 1 บาท ด้านหน้ากล่อง 3 บาท จนคุณครูดุ ห้ามนำของมาขายที่ รร.
วันๆเราก็นั่งดูแต่การ์ตูนที่บ้าน  มีความสุขมาก
ใครๆก็บอกอิจฉาที่บ้านเราเป็นร้านเช่าหนัง

พอเราโตขึ้น ปิดเทอม ก็ออกไปช่วยยายขายของ(โต้รุ่ง)ไม่ไกลจากบ้าน. เราก็จะกลับบ้านดึกหรือเช้ามืด
แล้วบ้านเราเป็นห้องแถว ประตูมันจะเป็นประตูเหล็กเม้วนเปิดขึ้น. แล้วจึงจะเจอประตูกระจก
แม่เราก็จะชอบเอาโปรเตอร์หนังผี เปะไว้ที่ประตูกระจกประจำ. พอเราเปิดประตูเหล็กที่ไรจะ๊เอ๋หน้าผีตลอด! หลอนมาก(บ้านอยู่หน้าวัดด้วย)

แต่ปัจจุบัน ร้านขายไม่ดีเลย ลูกค้าก็เป็นลูกค้าเจ้าเก่าๆ พวกแม่ค้าพ่อค้า หรือคนที่ไม่ค่อยมีเวลา
ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามกาลเวลา.. แม่เราเริ่มเป็นหนี้ เราก็เริ่มทำงานแล้ว
ก็ขอให้แม่เลิกทำ แต่แม่บอกยังทำใจไม่ได้ สร้างมากับมือ อยู่กับมันมาตั้งนาน.
ทุกวันนี้แม่ก็ยังกัดฟันสู้ต่อ เราก็ได้แค่ดูห่างๆ คอยช่วยเท่าที่ช่วยไหว.
รอเวลาที่แม่จะยอมแพ้แล้วปิดตัวลงเท่านั้น

แต่ร้านนี้ก็ทำให้ลูกเรียนจบเมืองนอกได้ มีงานดีดีทำ เสียใจเหมือนกัน ที่ต้องบอกลาความทรงจำดีดีกว่า20ปีที่ผ่านมา
ความคิดเห็นที่ 2
มันไม่ได้มาจากแค่การโหลด

แต่มาจากพวกจานดาวเทียม ที่มีหนังให้ดูฟรีด้วย

ความคิดเห็นที่ 5
คิดถึงความทรงจำจริงๆ ผมเองคลุกคลีกับร้านเช่า VDO มาตั้งแต่เด็ก มีความสุข มากที่ได้เข้าไปเลือกหนังดูวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
จวบจนหาเงินเองได้ ถึงกับต้องซื้อหนัง VDO ลิขสิทธิ์ มาเก็บสะสมไว้ ม้วนนึง 7-800 บาท ด้วยซำ้ (แต่โดยเฉลี่ย อยู่ที่ 3-400 บาท)
เป็นสมาชิกร้าน VDO เป็นสิบร้าน เข้าๆ-ออกๆ อยู่นั่นแหละ ถึงตอนนี้ มีม้วน VSH สะสมกว่า พัน ม้วน เครื่องเล่น VDO SONY สองหมื่นกว่าๆ
สองเครื่อง (ปัจจุบันนี้ยังอยู่ดี เล่นได้ปกติ)
จนกระทั่งมายุค VCD ที่ผมไม่นิยมเอาเสียเลย ขาดเสน่ห์ อย่างมาก แต่ผมก็ยังเลือก VSH เหมือนเดิม สาเหตุที่ไม่ชอบ VCD เพราะ ภาพไม่สวย
รูปลักษณ์ไม่น่าสะสม มีดีแค่ประหยัดพื้นที่จัดเก็บ
จนกระทั่งมายุค DVD นี่เลยที่ใช่ ภาพชัดมาก(ในตอนนั้น) รูปลักษณืสวยงาม งานปราณีต บางกล่องมีแจ็คเกตสวยงาม แต่ราคามหาโหด แผ่นแรกที่ซื้อ US. marshall DVD9 2 แผ่น สองพันสอง แล้วก็ซื้อมาเรื่อยๆ (แต่โดยเฉลี่ย อยู่ที่ 6-700 บาท) เครื่องเล่น DVD Pioneer home theater สามหมื่นกว่าๆ(ปัจจุบันนี้ยังอยู่ดี เล่นได้ปกติ) สะสมมาเรื่อยๆนับเฉพาะ DVD ลิขสิทธิ์ ราวๆ 800 แผ่น มาถึงตรงนี้ อ้าว VHS หายไปไหน ตายไปจากตลาดเรียบร้อย ตอนยุค VCD ยังมี VHS ควบคู่กัน แต่มาถึง DVD ตายสนิท ครับ
ปัจจุบัน เลือกสะสม DVD กับ Blueray บางเรื่อง และ Movies File ใน Harddrive เสียดายม้วน VDO ที่สะสมไว้ เก็บไว้บ้าน เมียเก่า ไม่ได้เอามาด้วย คาดว่าน่าจะเป็นขยะไปเรียบร้อยแล้ว....T_T
วกกลับมา ร้านเช่าหนัง ที่ผ่านมา สังเกตุ ได้อย่างนึงคือ " ราคาเช่า" ที่ก่อนยุดล่มสลาย แข่งขันกันดุเดือดมาก จากก่อน ม้วน และ แผ่นVCD คืนละ 30 บาท ตัดราคากันมา เหลือแค่ 5 บาท ไหนจะค่าลิขสิทธิ์-ค่าน้ำ ค่าไฟ-ค่าเด็ก ฯลฯ
เฮ้อ...ว่าแล้วหยิบ VDO ที่ยังหลงเหลืออยู่ มาฟื้นความทรงจำดีๆ อีกครั้งดีกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่