ย้อนยุคดู"7สี คอนเสิร์ต"เทปแรก พ.ศ.2529 รายการดังในตำนานก่อนลาจอ


updated: 20 มี.ค. 2558 เวลา 22:00:40 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ไม่ว่าจะขาเพลงพ็อพ ร็อก ลูกทุ่ง ลูกกรุง สากล หรือแนวไหนๆ ในยุทธจักรวงการ เพลงไทยช่วงหลังปี 2529 จนถึงช่วงก่อนปี 2540 แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้จัก "7 สี คอนเสิร์ต"


เพราะเป็นช่วงปีที่รายการเวทีแสดงสดในตำนานนี้โด่งดังถึงขีดสุด และถือเป็นอีกหนึ่งรายการอยู่คู่กับผังช่อง 7 สีมายาวนานถึง 29 ปี จนเป็นที่รู้กันว่า ทุกเที่ยงวันเสาร์ คอเพลงต้องมานั่งหน้าจอ

หรือถ้าเป็นตัวจริง ก็ต้องไปถึง "ลานเพลิน 7 สี" ย่านหมอชิตเก่า ไปดูไปแดนซ์ถึงที่ จะขี่คอเพื่อน ปีนกำแพง ปีนต้นไม้ หรืออะไรก็ช่าง ขอให้ได้ดูคอนเสิร์ตแสดงสด ดูศิลปินดังในยุคนั้นๆ กันตัวเป็นๆ



นันทิดา บนเวที 7 สี คอนเสิร์ต


เป็นที่น่าเสียดายที่ "7 สี คอนเสิร์ต" จะปิดตัวลง เนื่องจากช่อง7 มีการปรับผังรายการใหม่ให้รายการเชฟกระทะเหล็กมาแทนที่ และ "7 สี คอนเสิร์ต" จะเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นเวทีฟรีคอนเสิร์ตเป็น "7 สี ออนทัวร์" ด้วยการเดินสายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แทนรูปแบบเดิม

แน่นอนว่า ระดับรายการเพลงแสดงสดในตำนาน 29 ปี ย่อมไม่ธรรมดา มีศิลปิน นักร้อง ทั้งไทยและต่างประเทศมาแจ้งเกิดและแสดงสดที่นี่มากมาย

นอกจากนี้ บรรดาศิลปินหลายร้อยชีวิตที่ผ่านเวทีนี้แล้ว ยังมีอะไรอีกบ้างที่น่าจดจำใน "7 สี คอนเสิร์ต" มาลองย้อนดูสักนิด

รายการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตรายการนี้ ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2529



พิธีกรเปิดตัวรายการในตำนาน "เบิร์ด ธงชัย-ตั๊ก มยุรา"



ด้วยพิธีกรคู่ขวัญ ที่เปล่งประกายของยุค "ตั๊ก มยุรา" และ "เบิร์ด ธงชัย" ด้วยความเป็นธรรมชาติของทั้งคู่ เวที 7 สี คอนเสิร์ต สนุกสนานและพิธีกรเข้าขากันอย่างมาก มยุราปล่อยมุขกระจาย สร้างเทปเปิดตัวรายการได้สนุก และถือว่าอลังการมาก เพราะมีศิลปินดังๆ ในยุคนั้นมาร่วมเปิดเวที อาทิ

พุ่มพวง ดวงจันทร์,  นันทิดา แก้วบัวสาย, วงคีรีบูน , วงสาว สาว สาว, สุชาติ ชวางกูร, มาลีวัลย์ เจมีน่า, ชรัส เฟื่องอารมย์ , มณีนุช เสมรสุต ,  ศิรินทรา นิยากร, กิตติคุณ เชียรสงค์, อ๊อด บรั่นดี (โอภาส ทศพร)  และจารุณี สุขสวัสดิ์


ความน่ารักของ เทปเปิดตัวแรกของ 7 สีคอนเสิร์ต ที่ดึงขึ้นมาเป็นจุดขาย นอกจากนำศิลปินดังๆ มาแสดงสดแล้ว ยังมีการให้ท่านผู้ชมรายการร่วมสนุกเล่นเกมบนเวทีจากการจับหางเลขบัตรเข้าชมคอนเสิร์ต โดยไฮไลท์ของเกมอยู่ที่การประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (เอาคอมพิวเตอร์มาตั้งบนเวทีกันเลยทีเดยว) วัดความดังของเสียงเป็นตัวเลข เพื่อตัดสินเกมที่มให้ผู้ร่วมสนุกแข่งกันตะโกนให้เสียงดังที่สุด เรียกว่าเกม "แข่งกันดัง"  และ อีกเกมคือให้ผู้ร่วมชมคอนเสิร์ตแข่งกันร้องเพลง และวัดเสียงดังของผู้ที่ปรบมือให้เรียกว่า "แข่งกันร้อง"

ลองดูคลิปย้อนหลังจะเห็นว่า ดูเหมือนยังเป็นยุคที่ผู้ร่วมสนุกของรายการไม่มีการเตี๊ยม ทุกคนต่างเขินและเป็นธรรมชาติสุดๆ บนเวที


คอมพิวเตอร์วัดความดังของเสียงถือว่า ไฮเทคไม่เบาในยุคนั้น


และที่ฮอตฮิตจนเป็น "แบรนด์ดิ้ง" อีกอย่างของ 7 สีคอนเสิร์ต คือ ทีเซอร์รายการที่ขึ้นต้นเพลงมาแบบจังหวะรัวเร้าใจที่ร้องว่า

"เจ็ดสี๊สีสีสีสีสีสีสีสีสีสีสีสีสีสีสี เจ็ดสีสสสสสสสสสสสสสสส สี   คอนเสิร์ตตตตตตตตตตตตตตตตตตตตตตตตตตตตต์"

ไม่เพียงเท่านั้นโลโก้รายการก็ติดตาไม่น้อย เป็นรูปตัวโน้ตสองขาสีทอง มีตราสัญลักษณ์ช่อง 7 สีอยู่ภายใน หรือกระทั่งแฟนรายการบางคนยังจำโพเดี้ยมพิธีกรที่เป็นรูปคีย์บอร์ดได้ติดตา


โพเดี้ยมตัวโน๊ตในตำนาน


7 สีคอนเสิร์ต กลายเป็นรายการดังเปรี้ยง มีดาราและศิลปินต่างชาติมาแสดงสดบนเวที อาทิ  ไมเคิล เลิร์นส ทู ร็อก, ริคกี้ มาร์ติน, แมนดี มัวร์, หลิน จื้ออิ่ง, เฉินหลง เป็นต้น

หลังจาก เบิร์ด ธงชัย เป็นพิธีกรชายที่รายการนี้ได้ 1 ปี ก็เปลี่ยนมาเป็น "แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี" ที่มารับบทบาทพิธีกรคู่ในตำนาน ร่วมงานกันตั้งแต่ปี 2530 - 2336 จาก

นั้นก็เปลี่ยนมาเป็น พิธีกรรุ่นสอง คือ "หนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์" คู่กับ "นัท-มีเรีย" ช่วงปี 2536-2538

ถัดจากนั้นมาสู่พิธีกรรุ่นสาม "เอ-อนันต์ บุนนาค" คู่กับ "ต้อม-รชนีกร พันธุ์มณี"  พิธีกรคู่สุดท้าย  ก่อน 7สี คอนเสิร์ตจะมาสู่ยุคคอนเสิร์ต ฮอลล์ ย้ายจาก "ลานเพลิน 7 สี" มาที่ "พระปิ่นเกล้าฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า"

หลังปี 40 เรื่อยมา 7สี คอนเสิร์ต ยังดำเนินรายการเรื่อยไป แต่ไม่ใช่ยุคที่เปรี้ยงของรายการนี้อีกต่อไป กระทั่งเมษายนนี้ที่จะไม่มี 7 สี คอนเสิร์ตอีกต่อไป กลายเป็น  "7สี ออนทัวร์" แทน


ชมคลิปเปิดตัวรายการ 7 สี คอนเสิร์ต ครั้งแรก
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ขอบคุณคลิปจากคุณ Alhazard IV เว็บไซต์ ยูทูบ




ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1426847783
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่