ยาลดความอ้วน Sibutramine ที่เราควรรู้

กระทู้สนทนา
ไม่รู้ว่าจะสายเกินไปรึเปล่านะครับที่มาเขียนเรื่องนี้
เรื่องยาลดความอ้วน ไซบูทรามีน (Sibutramine)
ที่เป็นข่าวอยู่ในตอนนี้
สื่อหลายๆแขนง หรือ จ่าพิชิต ดราม่าแอดดิก ก็นำเสนอข้อมูลได้ดีมากอยู่แล้ว ขอบคุณจ่ามา ณ ที่นี้

ในฐานะที่ผมทำงานในสาขาที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับยากลุ่มนี้ ไม่มากก็น้อย
ขออนุญาตขยายความต่ออีกทีนะครับ และอยากให้ทุกท่าน
ที่อยากผอมและอาจหลงเชื่อคำโฆษณาได้อ่านกระทู้นี้กัน

อย่าไปคิดว่ามันดูเป็นความรู้ทางการแพทย์ เข้าถึงยาก
อ่านเถอะครับ จะเข้าปี 2015 แล้ว ถึงไม่ได้เป็นแพทย์ก็ควร
มีความรู้เรื่องพวกนี้ เพราะมันอาจจะใกล้ตัว หรือ ถึงตัวเราเมื่อไหร่ก็ได้
ผมจะพยายามเขียนให้อ่านง่ายที่สุดนะครับ



ทำไมหลายๆคนถึงไม่ไปหาหมอในรพ. ซื้อยาพวกนี้กินทำไม?
คำตอบง่ายมากครับ เพราะคุณหมอในรพ. ไม่จ่ายยาพวกนี้ให้และแนะนำให้ออกกำลังกายกับคุมอาหารเท่านั้น
ขณะที่โฆษณายาพวกนี้ตอบโจทย์ครับ ผอมแน่ แค่คุณกินยา

การที่คุณหมอในรพ.ไม่จ่ายให้ เพราะ มันอันตรายครับ
ยาแต่ละตัวกว่าจะได้รับอนุญาตให้เริ่มใช้โดย องค์กรอาหารและยา (อย. หรือ FDA) มันโหดมากนะครับ ต้องผ่านการศึกษาตั้งแต่ในห้องทดลอง ในสัตว์ทดลอง ทดลองใช้ในขนาดต่างๆ ออกมาเป็นเฟสต่างๆ จนสุดท้ายศึกษาในมนุษย์ รูปแบบการศึกษาต้องน่าเชื่อถือ พบว่าปลอดภัยและได้ผลการรักษาที่ดี อย. จึงอนุมัติให้ใช้
หลังจากนั้นก็ยังต้องมี คณะกรรมการกลั่นกรองทบทวนบทบาทของการใช้ยาในกรณีใดๆบ้างอีกครั้ง หรือ ที่เรามักได้ยินว่า Clinical Guideline หรือ Consensus แม้กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีการตามผลการศึกษาต่อไป หากพบว่ามีผลเสีย หรือ ผลข้างเคียงในระยะยาว ยาก็สามารถถูกระงับใช้โดย อย. ได้ทันที

ดังนั้นการปรึกษาคุณหมอในรพ. ดีที่สุด อาจจะดูน่าเบื่อหน่อย ตาดำๆเหมือนไม่ได้นอนตลอดเวลา เดินเซแท่ดๆๆๆ แต่เชื่อเถอะครับ หมอทุกคนถูกเทรนมาให้คำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นอันดับแรก



ยา Sibutramine คือยาอะไร?
เป็นยาที่มีสูตรเคมีใกล้เคียงกับ amphetamine (สารที่เป็นส่วนประกอบของยาบ้า) ออกฤทธิ์ ยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาทชื่อว่า  serotonin และ norepinephrine ที่บริเวณสมองส่วนไฮโปธาลามัส ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น รวมทั้งสามารถกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายได้ น้ำหนักจึงลดลง ฟังดูดีมากนะครับ

ต้องบอกว่า Sibutramine ถือเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของยาลดความอ้วน ถ้าเป็นพวกยารุ่นพี่ ดิบๆเลย
จะกระตุ้นการหลั่ง serotonin และ norepinephrine โดยตรงเช่น Amphetamine และ Phentermine อันตรายมาก

ตัวแรก amphetamine ถูกห้ามใช้ในอเมริกาตั้งแต่สมัยสงครามโลก มีการลักลอบเข้ามาในไทยเมื่อ 30 - 40 ปีก่อน มาทำเป็นยาบ้าที่เรารู้จักดี

ส่วนเจ้า Phentermine ถูกห้ามใช้เพราะทำให้ลิ้นหัวใจผิดปกติ คนเรียนแพทย์หลังปี 1990 จะคุ้นเคยกันดี กับ ยาที่มีชื่อเล่นว่า fen-phen เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคลิ้นหัวใจ fen-phen ก็คือ Phentermine ที่เติมยาอีกตัวที่เร่งการผลาญไขมันเข้าไป ฮิตมากในสหรัฐอเมริกา ในช่วงยุค 80s เพราะทำให้ไม่หิว แถม burn fat ได้มากขึ้นอีกต่างหาก



ก็ฟังดูดีนี่นา แล้วมันอันตรายยังไง?
มันอันตรายมากครับ เพราะการเพิ่มระดับ norepinephrine ในร่างกายจะทำให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักขึ้น โอกาสเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไฟลัดวงจร หรือหยุดทำงานฉับพลันมีมากขึ้นโดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วหรือแบบซ่อนเร้นหมายถึงดูแข็งแรงดี หรือ อายุน้อยแต่มีการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติซ่อนอยู่ norephinephrine ที่สูงกว่าปกติก็เหมือนน้ำมันที่ราดเข้าไปในกองฟืนที่มีเชื้อไฟ อีกอย่างคือ การเพิ่มระดับ serotonin ก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้ (serotonin syndrome) หากได้รับยาบางประเภทอยู่ก่อน



อันตรายแบบนี้ แล้ว อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่แต่ทีแรกทำไม?
ยากลุ่มนี้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อรักษาคนอ้วนมากๆ มากขนาดเป็นโรค (Morbid Obesity) โดยใช้เป็นตัวเสริมกับการรักษาอื่นๆ เช่น ผ่าตัด การรักษาโรคร่วม การคุมอาหารและออกกำลังกาย และ เล็งเห็นว่า หากควบคุมระดับยา ความดัน การติดตามทางคลีนิกอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประโยชน์ที่ได้จะมากกว่าโทษ



สุดท้าย Sibutramine มาชะตาขาดเพราะอะไร?
จริงๆก็มีเคสรีพอร์ท กวนใจ FDA อยู่เรื่อยๆ ก่อนปี 2010
แต่ยังไม่มี การศึกษาที่ชัดเจนถึงอันตรายที่เกิดขึ้น

จนบริษัทยาในสหรัฐ ตัดสินใจถอนยาออกจากตลาด หลังการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ที่ชื่อว่า SCOUT ย่อมาจาก The Sibutramine Cardiovascular Outcomes Trial ซึ่งการศึกษานี้นำผู้ป่วยจาก 16 ประเทศในยุโรป อเมริกา และ ออสเตรเลีย ช่วงปี 2003 - 2009
รวมทั้งสิ้น 10,744 คน ที่อ้วนและมี 1 ใน 2 อย่างต่อไปนี้

1. โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคหลอดเลือดแขนขาอุดตัน

2. ไม่ได้เป็นโรคแบบข้อ 1 แต่เป็นเบาหวานและมีปัจจัยเสี่ยงเช่น
สูบบุหรี่ ความดันสูง ไขมันสูงเป็นต้น

แบ่งเป็นสองกลุ่มเท่าๆกัน กลุ่มนึงกิน Sibutramine อีกกลุ่มกินแป้ง (ยาหลอก หน้าตาเหมือน Sibutramine โดยคนไข้ไม่รู้)

พอติดตามไป 2-4 ปีพบว่า
กลุ่มที่กินยา Sibutramine เป็นโรคหัวใจ หรือ ตายจากโรคหัวใจ หรือ เป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่ากลุ่มที่กินเม็ดแป้ง







การศึกษานี้มี impact สูงมาก จนบริษืทยาต้องถอนยานี้ออกจากตลาด
ไล่มาทีละประเทศจนถึงประเทศไทย อย่างที่ทราบกัน



แต่การศึกษานี้ทำในคนที่มีโรคหลอดเลือดอยู่ไม่ใช่เหรอ อ้าว แล้วหนุ่มๆสาวๆแข็งแรงทำไมต้องห้ามใช้ Sibutramine?
ตอบโดยไม่ต้องคิดเลยว่า พวกคุณไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากลุ่มนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะอันตรายจากยามันมากกว่าประโยชน์ได้รับ คุณอาจจะน้ำหนักลดจริง แต่ต้องแลกกับ ความตาย โรคหัวใจ หรือ อัมพาต

แต่คำถามนี้น่าสนใจ เพราะหลัง SCOUT ตีพิมพ์ออกมา
ก็มีการโต้เถียงกันพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเบาหวานอย่างเดียวในการศึกษา ไม่ได้ตายมากกว่ากินแป้ง เรายังคงใช้ในคนไข้อ้วนมากๆ แต่ไม่มีโรคหลอดเลือดได้หรือไม่?

ความเห็นส่วนใหญ่ไปทาง ไม่ควรใช้ แม้เป็นโรคอ้วน เพราะมีคนไข้จำนวนหนึ่งที่มีโรคหัวใจแต่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย แม้กระทั่งหนุ่มๆสาวๆ ก็อาจเสียชีวิตได้ หากมีภาวะบางอย่างในหัวใจซ่อนอยู่



Sibutramine เหตุเกิดไปแล้ว ย้อนอดีตไม่ได้ แต่จากนี้ไป?
เราต้องระวังให้มากๆ
ไม่เฉพาะแค่ยาลดความอ้วน
ยาอะไรก็ตามที่บอกว่าดีๆ ไปหมด แม้มี อย. รับรองก็เถอะ
ไม่แน่ใจ ปรึกษาแพทย์ในรพ. ทุกครั้งครับ
อย่างยาผิวหนังอะไรไม่มั่นใจ ปรึกษาหมอรักษาโรคผิวหนัง ในรพ. เสมอ


ฝากไว้ด้วยนะครับ ขอโทษที่ยาวไปหน่อยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่