ทำไมคนเยอรมันใช้เวลาทำงานน้อย แต่ได้ปริมาณงานมากกว่า?

วันนี้ระหว่างที่อ่านข่าวจากเพื่อน ๆ ใน facebook ก็ไปสะดุดบทความหนึ่งของชาวอเมริกัน ที่ตั้งคำถามว่า Why Germans work fewer hours but produce more: A study inculture http://knote.com/2014/11/10/why-germans-work-fewer-hours-but-produce-more-a-study-in-culture/ ลองอ่านแล้วก็รู้สึกว่าตรงกับชีวิตการทำงานตอนอยู่ที่เยอรมนีหลาย ๆ เรื่อง เลยอดไม่ได้ที่จะต้องมาพิมพ์เล่าเรื่องราวซะหน่อย หลังจากอู้งานเขียน ไปทำงานประจำมา 7 สัปดาห์ ฝ้ายก็จะเอาบางส่วนของบทความนี้มาแปล แล้วก็เสริมด้วยประสบการณ์ตรงที่เจอมานะคะ


เมื่อพูดถึงประเทศเยอรมนี คนส่วนใหญ่ก็จะนึกภาพสงครามโลกครั้งที่ 2 และผู้นำจอมเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ ซึ่งภาพเหล่านี้ บางทีมันก็ชัดมากจนทำให้คนลืมไปว่า จริง ๆ แล้วเยอรมันเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรม และเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปทั่วโลก หลัก ๆ ก็คือรถยนต์ เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม ยารักษาโรค ไปจนถึงเบียร์นั่นเอง

ในช่วงวิกฤติยูโรโซน 2012 เยอรมันคือเสาหลักที่พยุงให้ทั้งทวีปยังขับเคลื่อนไปได้ แต่ทั้งนี้ ชาวเยอรมันก็ไม่ได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ และยังมีสวัสดิการการทำงานที่ดี ชั่วโมงการทำงานของชาวเยอรมันก็ไม่ได้มากมายอะไร เมื่อเทียบกับชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของหลาย ๆ ประเทศในซีกโลกตะวันออก

คำถามก็คือ ทำไมประเทศที่ประชากรทำงานประมาณ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (พร้อมวันลาพักร้อนประจำปีโดยเฉลี่ย 24 วัน) สามารถรักษาระดับผลงานหรือผลผลิตให้อยู่ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง?



เวลาทำงาน = เวลาทำงาน

ในวัฒนธรรมการทำงานของชาวเยอรมัน เมื่อพนักงานทำงาน พวกเขาไม่สมควรทำอะไรอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น อ่าน facebook, คุยเล่นกับเพื่อนร่วมงาน, นั่งอ่านเว็บไซต์อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน แล้วพอหัวหน้างานเดินมา ก็ดึงหน้า spreadsheet มาบังหน้า แกล้งทำเสมือนว่ากำลังทำงาน เหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ และเป็นเรื่องที่รุนแรงมากในสังคมการทำงานของชาวเยอรมัน

ในสารคดีของ BBC เรื่อง “Make me a German” หญิงสาวชาวเยอรมันอธิบายถึง culture shock ของเธอตอนไปทำงานแลกเปลี่ยนที่ประเทศอังกฤษว่า ...

“ตอนที่ชั้นไปทำงานแลกเปลี่ยนที่ประเทศอังกฤษ ชั้นอยู่ในสำนักงานและพนักงานต่างพากันพูดคุยเรื่องส่วนตัวของพวกเขาตลอดเวลา” เธอค่อนข้างประหลาดใจกับบรรยากาศการทำงานแบบสบาย ๆ ของชาวอังกฤษ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

นอกจากนี้ ชาวเยอรมันยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า facebook ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในที่ทำงานและยังห้ามใช้อีเมล์ส่วนตัวในการทำงานอีกด้วย


ทำงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา

วัฒนธรรมการทำงานของชาวเยอรมันคือการจดจ่ออยู่กับงานที่ทำและการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา การพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ไม่เคยมีอยู่ในการประชุมของชาวเยอรมัน ตอนฝ้ายทำงานและต้องเข้าประชุม หัวหน้าจะกล่าวสวัสดี ทักทายนิดหน่อย แล้วเริ่มไล่เรื่องตามวาระการประชุมต่อทันที พร้อมทั้งคุมไม่ให้การพูดคุยเยิ่นเย้อเกินเวลา พอเห็นว่าเริ่มจะเป็นการพูดคุยลงรายละเอียดการทำงานระหว่างพนักงานสองสามคน หัวหน้าก็จะตัดบทให้ไปคุยกันต่อนอกรอบ เพราะคนอื่นในที่ประชุมไม่จำเป็นต้องมานั่งฟังเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับพวกเขา และเป็นการเสียเวลาการทำงานของทุกคนไปโดยเปล่าประโยชน์

พนักงานชาวเยอรมันจะพูดคุยกับหัวหน้าอย่างตรงไปตรงมา เรื่องการประเมินผลการทำงานของพวกเขา ไม่มีการละลายพฤติกรรมในการประชุมเชิงธุรกิจ และใช้ประโยคคำสั่งโดยไม่มีการปรับการพูดให้นุ่มนวล เช่น คนอเมริกันจะพูดว่า “มันคงจะดีมาก ถ้าคุณสามารถเอางานมาส่งให้ฉันได้ตอนบ่ายสามโมง” ในขณะที่คนเยอรมันจะพูดว่า “ฉันต้องการงานชิ้นนี้ตอนบ่ายสามโมง” ซึ่งตรงนี้ ฝ้ายเห็นว่า ก็คงต้องดูเป็นคน ๆ ไปด้วยอ่ะค่ะ บางคนอาจจะรับการสื่อสารแบบนี้ไม่ค่อยได้ ดังนั้น ก็ต้องระมัดระวังในการใช้งานในสังคมไทยด้วย (ที่พูดนี่คือเตือนตัวเองนะ)

เรื่องการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมานี่ มีตัวอย่างจากเพื่อนนักเรียนไทยที่เรียนปริญญาเอกอยู่เรื่องหนึ่ง วันนั้น มี Prof. เข้ามาดูการทำวิจัยของนักศึกษาป.เอกชาวเยอรมันกับชาวไทยอยู่สองหนุ่ม (Prof. เป็นชายชาวเยอรมัน)

Prof. “คุณลองทำแลปอันนี้ที่ผมบอกไปรึยัง?”
นักศึกษาชาวเยอรมัน “อ่อ ลองทำแล้ว แต่มันทำไม่ได้หรอก ผมลองทำสองครั้งแล้ว คิดว่าต้องหาวิธีอื่น”
Prof. “ลองทำอีกครั้งสิ ผมว่ามันต้องทำได้นะ”
นักศึกษาชาวเยอรมัน “ไม่ได้หรอก ผมลองทำแล้ว แล้วก็ทดสอบวิธีนี้แล้ว ยังไงก็ไม่ได้”
Prof. “แต่ผมว่า ลองทำอีกครั้งสิ ผมว่ามันต้องทำได้นะ”
นักศึกษาชาวเยอรมัน ฮีตบโต๊ะค่ะ แล้วก็ขึ้นเสียง “บอกแล้วไงว่า ทำไม่ได้ ก็ไม่ได้สิ” แล้วก็เดินออกจากห้องไป
ทิ้งให้นักศึกษาไทย และ Prof. ยืนอึ้ง

สรุป วันต่อมา ก็มาเจอกันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และ Prof. ก็เลิกเซ้าซี้

ป.ล. ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนะคะ แค่เล่าสู่กันฟัง ว่าเค้าทำแบบนี้ได้ด้วย ฝ้ายคงไม่กล้าอ่ะค่ะ เพราะตอนเรียนนี่ค่อนข้างเกรง Prof. อยู่มาก ไม่กล้าเข้าไปคุย ถ้าไม่ได้เตรียมตัวมาดี ๆ

แต่ส่วนตัวฝ้ายชอบการทำงานที่ไม่ต้องเวิ่นเว้อมาก บอกว่าเลยว่า “ต้องการอะไร” และ “จะเอาเมื่อไหร่” ที่เหลือเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารจัดการเอง หากเราประเมินแล้วว่าไม่ได้แน่ ๆ ต้องใช้เวลามากกว่านี้ เราก็จะบอกไปตรง ๆ เหมือนกัน ว่าทำไม่ได้ และจะสามารถส่งงานให้ได้เมื่อไหร่

เมื่อชาวเยอรมันทำงาน จะจดจ่ออยู่กับงานที่ทำมาก จะไม่ค่อยวอกแว่ก เรื่องทำงานไป ก้มดูมือถือไปนี่ แทบไม่เกิดขึ้นเลย ยิ่งหากทำงานกับ Benz หรือ BMW มือถือไม่ให้เอาติดตัวเข้าที่ทำงานด้วยซ้ำ





ชาวเยอรมันทำงานหนัก แต่ก็ใช้ชีวิตหลังเวลาเลิกงานอย่างคุ้มค่าเช่นกัน เพราะในระหว่างการทำงาน พวกเขาจดจ่อและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หลังเลิกงาน คือ “เลิก” งานจริง ๆ และเนื่องจากบรรยากาศการทำงานที่ค่อนข้างเป็นทางการ (ตัวอย่างเช่น การเรียกชื่อ เวลาเค้าเรียกชื่อเรา เค้าจะเรียก คุณ ตามด้วยนามสกุลเสมอ ดังนั้น คุณหัวหน้าเลยต้องฝึกออกเสียงและจำนามสกุลฝ้าย ที่ยาวประมาณ 4 พยางค์ จนขึ้นใจ เพราะต้องเรียกแบบนี้เสมอ ส่วนเพื่อนร่วมงานทีมเดียวกัน เค้าก็จะถามก่อนว่า เราโอเคมั้ย ถ้าเค้าจะเรียกชื่อต้นเราแทนเรียกนามสกุล) พนักงานก็จะไม่ค่อยใช้เวลาหลังเลิกงานด้วยกันเท่าไหร่ คือประมาณว่าเพื่อนร่วมงานคือเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่เพื่อนที่รู้ใจกัน คุยกันถูกคอ ประมาณนี้น่ะ ชาวเยอรมันจะแยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวอย่างชัดเจน เช่น งานแต่งงานนี่ คนที่ถูกเชิญไปคือเพื่อน ญาติ ไม่ใช่เพื่อนร่วมงานหรือแม้กระทั้งเจ้านาย ก็ไม่เกี่ยวนะ และไม่ต้องมีประธานในพิธีอะไรแบบนี้ด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมันยังแบน (กึ่ง ๆ ห้าม) นายจ้างส่งเมล์หาลูกจ้างหลังเวลาหกโมงเย็น เพื่อไม่ให้นายจ้างละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกจ้างหลังเวลาทำงาน

ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างที่มีอยู่ค่อนข้างมากไปกับสมาคมหรือชมรมต่าง ๆ และชื่นชอบการพบปะคนอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเอง คือ ข้อนี้ขอบอกว่า เป็น culture shock ของเราเลยตอนมาที่นี่ใหม่ ๆ คนเยอรมันทั้งชายและหญิงพูดมากมากมาก คือ เทียบกับผู้ชายไทยแล้ว ผู้ชายเยอรมันพูดเยอะจนลิงหลับ และนิยมที่จะแสดงความคิดเห็นในทุก ๆ เรื่อง รวมทั้งชอบที่จะโต้เถียงในเรื่องการเมือง วิทยาการ ธุรกิจ โดยไม่เก็บมาคิดเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น เย็นวันหนึ่ง เค้าคุยกันเรื่องนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการรับแรงงานต่างด้าว เสียงก็จะแบ่งเป็นสองฝ่าย ต่างก็ยกเหตุผลของตนมาอ้าง แต่เค้าไม่มีการใส่อารมณ์ ถึงแม้อีกฝ่ายจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของตนเอง คือบางครั้งฝ้ายจะมีอารมณ์ร่วมด้วย หรือแอบไม่พอใจ และ take it personal เค้าก็จะสอน ๆ ว่า มันเป็นเรื่องปกตินะ ในการพูดคุยกัน ก็ต้องมีคนเห็นต่างอยู่แล้ว ซึ่งเวลาที่เค้าโจมตีเรา เค้าโจมตี “ความคิดเห็น” ของเรา ไม่ใช่ "ตัวตน" ของเราซักหน่อย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจน ว่าหลังจากการเถียงแบบเคร่งเครียดจบลง เค้าก็กอดคอกันไปเล่นบอลโต๊ะหรือดื่มเบียร์ต่อได้

สิ่งที่พวกเขาชอบทำหลังเลิกงานหรือยามว่างก็จะมีทั้งออกกำลังกาย ร้องเพลง เล่นดนตรี เดินป่า เข้าชมรมสัตว์เลี้ยง เต้นรำ หรืออย่างเพื่อนร่วมงานเรา หลังเลิกงานก็จะไปเรียนทำอาหาร ทั้งซูชิ อาหารไทย แหนมเนือง เธอทำได้หมด คือพวกเขาจะค่อนข้างเคลื่อนไหวหรือชอบเจอคน มากกว่าจะกลับบ้านมานั่งดูทีวี

นอกจากนี้ วันลาพักร้อนของเค้าก็สูงมาก ประมาณ 25-30 วันต่อปี (กฏหมายกำหนดไว้ที่ 20 วัน) ตอนที่ฝ้ายเริ่มงานก็ได้วันพักร้อนมา 28 วัน สามารถพาครอบครัวขับรถเที่ยวถนนสายโรแมนติคได้ 10 วันสบาย ๆ ช่วงเวลาลาพักร้อนที่ยาวนานนี้ ทำให้คนของเค้ามีโอกาสใช้เวลากับครอบครัวได้มากกว่าปกติ แล้วเจ้านายก็ไม่มาจู้จี้ว่าทำไมลาทีเดียวรวด? ทำไมไม่แบ่งลา? ไม่ลาไม่ได้เหรอ? จะขอแค่อย่างเดียวคืออย่าลาพร้อมกันทีเดียวหมด แล้วให้เจ้านายทำงานคนเดียว -_- แค่นั้นเอง



ธุรกิจให้ความเคารพต่อการเป็นพ่อแม่ของพนักงาน

เยอรมนีจะมีระบบให้ลาหยุดสำหรับการคลอดบุตรและการเลี้ยงดูบุตร ที่จะไม่มีทางเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่เมื่อไม่นานมานี้ มีสถานประกอบการบางแห่งประกาศห้ามพนักงานหญิง “ตั้งครรภ์” พร้อมบังคับให้ลงรายมือชื่อรับทราบอีกด้วย --- เหลือเชื่อจริง ๆ

นโยบายลาคลอดหรือเลี้ยงดูบุตรของประเทศนี้ใจกว้างมาก ๆ แต่ผลเสียก็อาจทำให้บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะจ้างพนักงานหญิง เรื่องนี้ แอบมีประสบการณ์ตรง เพราะตอนที่เราเข้าทำงานที่บริษัทที่ปรึกษาในเยอรมนีนั้น พนักงานคนใหม่ที่เริ่มงานเดือนมกราคมตั้งครรภ์ ซึ่งเธอก็บอกว่าตอนที่สัมภาษณ์งานกับที่นี่นั้น ยังไม่ทราบว่าตั้งครรภ์และยังติดสัญญางานกับที่เก่าอยู่ พอได้รับการจ้างงานที่ใหม่แล้ว เพิ่งทราบก่อนมาเริ่มงานไม่นานว่าตั้งครรภ์ เธอก็ยังบอกว่าค่อนข้างกระอักกระอ่วนอยู่ เพราะตามกฎหมายแล้ว เธอจะต้องลาคลอดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งบริษัทยังต้องจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้เธอเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นทางรัฐจะเป็นฝ่ายจ่ายเงินจำนวนหนึ่งแทน จนกว่าเธอจะกลับไปทำงานอีกครั้ง สรุปคือเธอมาทำงานประมาณ 4 เดือน แล้วก็ต้องลาคลอดตามกฎหมาย โดยที่นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนให้เธอช่วงที่เธอลาคลอด ประมาณ 3 เดือนแรก

ทั้งพ่อและแม่มีสิทธ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้สูงสุดสามปี (ตรงนี้เด็กไทยที่นั่นบางคน มากระซิบบอกว่า ตอนมาใหม่ ๆ แล้วเห็นหนุ่ม ๆ เข็นล้อเข็นเด็กอ่อน ป้อนข้าวป้อนนม พาไปสนามเด็กเล่น ก็ยังเข้าใจว่าเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ชีใช้คำว่า gay nanny เลยด้วยซ้ำ พออยู่ไปนาน ๆ ถึงรู้ว่าเป็นบรรดาพ่อของเด็ก ๆ ทั้งนั้น เพราะคุณแม่ไปทำงานให้คุณพ่อหยุดอยู่บ้านเลี้ยงลูก) เด็ก ๆ เยอรมันทุกคนจะได้รับเงินค่าขนมจากทางรัฐจนถึงอายุ 20-25 ปี ตามแต่เงื่อนไขของตัวเด็กและครอบครัว เพราะตอนที่เรียนเกอเธ่ ได้รู้จักกับเพื่อนร่วมเรียน ที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ก็ยังได้รับเงินค่าขนมจากทางรัฐอยู่ ถึงแม้เค้าจะอาศัยอยู่ที่ไทยมาตลอด เพราะคุณพ่อชาวเยอรมันเสียชีวิตไปนานแล้ว


***มีต่อค่ะ***



กระทู้นี้ต่อเนื่องมาจาก >>>>> ๗ ปี ใต้ปีกอินทรีเหล็ก: เรียน เที่ยว ทำงาน และเข้าโรงพยาบาลในเยอรมนี (http://pantip.com/topic/32254502)
ที่มาของเนื้อหา http://chronicleofphaiy.blogspot.de
หรือติดตามได้ที่เพจ https://www.facebook.com/sevenyearsingermany ค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่