ไม่แน่



หลวงพ่อชา สุภัทโท
http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks

ถาม
ถ้าหากว่าเรารู้ว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะอะไรแล้ว เรายังไปยึดเหนี่ยวมันอยู่ อย่างนี้เราก็จะไม่พ้นทุกข์ใช่ไหมค๊ะ ?

ตอบ
ใช่.....แต่ให้รู้น๊ะ.....รู้ไม่ยึด พูดง่าย ๆ ซ๊ะ.....รู้ไม่ยึด มันก็เกี่ยวกับภพชาติ อย่างแก้วใบนี้มันมีอยู่แต่ว่าไม่ใช่ภพ ถ้าแก้วใบนี้มันแตก เราก็เกิดทุกข์.....เกิดชาติ ไม่สบายใจ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ เรียกว่า.....ชาติ มันไปเกิดในภพ ภพนั้นคืออุปาทาน.....มั่นหมายในแก้วใบนั้น ถ้าเราไม่มั่นหมายในแก้วใบนั้น เมื่อมันแตก.....ความทุกข์ก็ไม่มี ๆ ก็คือชาติไม่เกิดในที่นั้น อย่างนี้เป็นต้น คือมันหมดเหตุ หมดปัจจัย เพราะว่าอะไร ? เพราะเรารู้แล้วว่า แก้วใบนี้แตก มันจะเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่เรารู้ว่าสภาวะของแก้วใบนี้ เป็นของไม่แน่นอนอยู่แล้ว เราชัดเจนแล้ว เราก็ดับเหตุอันนี้ ทุกข์มันก็เกิดขึ้นไม่ได้.....อย่างนี้ เหตุผลมันก็มีอยู่เรื่อย ๆ ไป แต่ไอ้ความรู้แจ้งนี้น่ะ สำคัญมากเรื่องนี้

ถาม
ถ้าเรายังมีชีวิตเป็นฆราวาสอยู่ และต้องผูกพันอยู่กับการงาน ซึ่งทำให้เราต้องบังเกิด ความพัวพันกับการงาน การหวังผลประโยชน์แบบนี้น๊ะค๊ะ แต่ว่าใจของเรารู้อยู่ว่า อันเหตุเหล่านี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แต่โดยหน้าที่แล้ว จำเป็นจะต้องปฏิบัติต่อไปอย่างนี้เราควรจะทำอย่างไรดีค๊ะ ?

ตอบ
เราจะต้องรู้จักภาษา.....คำพูดอันนี้ คำที่ว่า “ยึด” นี้ ยึดเพื่อไม่ยึด ถ้าคนไม่ยึดแล้ว ก็พูดไม่รู้เรื่องกัน ไม่รู้จักทำงานอะไรทั้งนั้น “เหมือนกับมีสมมติ มันก็มีวิมุติ ถ้าไม่มีเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะทำกันจึงให้รู้จัก“สมมติ” และ “วิมุตติ” คำที่ว่า “ยึดมั่น” หรือ “ถือมั่น” นี่น่ะ เราถอนตัวออก อันนี้เป็นภาษาที่พูดกัน เป็นคำที่พูดกัน แต่ตัวอุปทาน.....คือสิ่งทั้งหลาย เช่นว่า เรามีแก้วอยู่ใบหนึ่งน๊ะ เราก็รู้อยู่แล้วว่า จำเป็น เราจะต้องใช้แก้วใบนี้ อยู่ตลอดชีวิต แต่ให้เรามาเรียนรู้ว่า แก้วใบนี้น่ะ ให้มันชัดเจนซ๊ะ สำหรับแก้วใบนี้จนจบเรื่องของแก้ว จบยังไง....ก็คือเห็นว่า แก้วใบนี้ “มันแตกแล้ว” ถึงแก้วที่ไม่แตกเดี๋ยวนี้ เราก็เห็นว่า “มันแตกแล้ว” เมื่อปัญญาเห็นว่ามันแตกแล้ว เราก็ใช้แก้วใบนี้ไป ใส่น้ำร้อน น้ำเย็น แต่ว่าเมื่อแก้วใบนี้ มันแตกเมื่อไรเป็นต้น ทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้....ทำไม? .....เพราะว่าเราเห็นความแตกของแก้วใบนี้ก่อนแตกแล้ว ไอ้ที่มันแตกเดี๋ยวนี้มัน “ของทีหลัง” เพราะปัญญาเรารู้ว่ามันแตกแล้ว แตกปัจจุบันนี้ เป็นของแตกทีหลัง เราเห็นแตกก่อนแตกเสียแล้ว แก้วใบนี้มันก็แตกไป ปัญหาอะไรก็ไม่มีเกิดขึ้นเลย ทั้ง ๆเราใช้แก้วใบนี้อยู่......อย่างนี้ เข้าใจอย่างนั้นไม๊ ?

ถาม
ค่ะ

ตอบ
นี่.....มันเป็นอย่างนี้ มันหลบกันใกล้ ๆ เลย ทุกอย่างที่เราใช้ของอยู่ ก็ให้มีความรู้อย่างนี้ไว้ มันก็เป็นประโยชน์ เรามีไว้มันก็สบาย ที่มันจะหายไป มันก็ไม่เป็นทุกข์ คือไม่ลืมตัวของเรา เพราะรู้ท่านสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ นี่เรียกว่า ไอ้ความรู้ที่มันเกิดขึ้นในที่นี้ มันคุมสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ อยู่ในกำมือของมัน เราก็ทำไปอย่างนี้แหละ ถ้าว่าความดีใจ หรือความเสียใจ มากระทบอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้ เราก็รู้อารมณ์ว่า ไอ้ความดี.....มันไปถึงแค่ไหน มันก็ “ไปถึง” เรื่องอนิจจังเท่านั้นแหละ.....เรื่องไม่แน่นอน ถ้าเราเห็นเรื่องไม่แน่นอนอันนี้ เรื่องสุข.....เรื่องทุกข์นี้ มันก็เป็นเพียง เศษ.....เป็นกากอันหนึ่งเท่านั้น ในความรู้สึกนึกคิดของเรา เป็นธรรมดาของมันเสียแล้ว เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นมา มันก็จักว่า มันก็ “อย่างนั้นเอง” เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมา หรือสุขเกิดขึ้นมา มันก็ “อย่างนั้นเอง” ไอ้ความที่ว่า....อย่างนั้นเอง มันกันตัวอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่คนไม่รู้น๊ะ ไม่ใช่คนเผลอน๊ะ เพราะว่าเรามีสติรอบคอบอยู่เสมอ ในการงานทุกประเภท.....ทุกอย่างบางแห่ง เคยเข้าใจว่า มันเป็นฆราวาสอยู ฉันได้ทำงานอยู่ ประกอบกิจการงาน เป็นพ่อบ้าน แม่บ้านอยู่อย่างนี้ ฉันไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นคำที่เข้าใจผิด ของบุคคลที่ยังไม่รู้ชัด ความเป็นจริงนั้น ถ้าหากว่าเราปฏิบัติหน้าที่การงานอยู่ มีสติอยู่ มีสัมปชัญญะอยู่มีความรู้ตัวอยู่......อย่างนี้กาารงานมันยิ่งจะเลิศ ยิ่งจะประเสริฐ ทำการงาน จะไม่ขัดข้องจะมีความสงบ มีความจริญงอกงาม ในการงานอันนั้นดีขึ้น

เพราะว่า.......การปฏิบัตินี้ อาตมาเคยเทียบให้ฟังว่า เหมือนกับลมหายใจเรา ทีนี้เราทำงานทุกแขนงอยู่ เราเคยบ่นไหมว่า เราไม่ได้หายใจ มันจะยุ่งยากสักเท่าไร ก็ต้องพยายามหายใจอยู่เสมอ เพราะมันเป็นของจำเป็นอยู่อย่างนี้ การประพฤติปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน เมื่อเรามีโอกาสหายใจอยู่ ในเวลาที่เราทำงาน เราก็มีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ อยู่ทั้งนั้น ในชีวิตฆราวาสของเรา ก็เพราะว่าการประพฤติปฏิบัตินั้น คือความรู้สึกในใจของเรา ความรู้ในใจของเรา ไม่ต้องไปแยกที่ไหน ทำอยู่เดี๋ยวนี้ ก็รู้เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น มันก็เหมือนกันฉันนั้น ลมหายใจกับชีวิต กับคุณค่าการปฏิบัตินี้มันเท่ากัน ถ้าเราไปคิดว่า เราทำงานอยู่เราไม่ได้ปฏิบัติ ก็เรียกว่า.....เราขาดไป ก็เพราะว่าการปฏิบัตินั้น อยู่ที่จิด ไม่ใช่อยู่ที่การงาน ไม่ใช่อยู่ที่อื่น เราลอดทำความรู้สึกเข้าแล้วเป็นต้น มันก็มีไปทางตา หู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางจิตหมด เป็นฆราวาสอยู่ก็ได้ แต่ว่าทำปัญญาให้รู้เรื่องของมัน.....รู้เหตุทุกข์จะเกิด

ดูเหมือนว่า ในครั้งพุทธกาลนั้น ฆราวาสที่ประพฤติธรรม ก็ไม่ใช่น้อย.....เยอะเหมือนกันน๊ะ อย่างนางวิสาขา ประวัติของท่านน่ะ เป็นโสดาบันบุคคล มีครอบมีครัวอยู่น๊ะ.....นี่เป็นต้น มันคนละตอนกันอย่างนี้ อันนี้ก็ไม่ต้องสงสัย แต่ว่ากิจการงานของเรานั้น ต้องเป็นสัมมนาอาชีวะ นางวิสาขานั้น อยู่ในบ้าน ก็ไม่เหมือนเพื่อนเค๊า ความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนเพื่อน มันเป็นสัมมาอาชีวะ มีความเห็นที่ถูกต้องอยู่ การงานมันก็ถูกต้องเท่านั้น

ถ้าจะเอาแต่พระจะได้หรือ พระมีกี่องค์ในเมืองไทยนี้ ถ้าโยมไม่เห็นบุญ.......ไม่เห็นกุศล เห็นเหตุ.....เห็นปัจจัยแล้ว มันก็ไปไม่ได้ ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติของพระ และฆราวาสนั้น มันจึงรวมกันได้ แต่ว่ามันยากสักนิดหนึ่ง กับบุคคลที่ยังไม่เข้าใจ เป็นฆราวาสก็คือ มันไม่เป็นทางที่จะปฏิบัติโดยตรง แต่ว่าพระออกบวชมาแล้วน่ะ มุ่งโดยตรง ไม่มีอะไรมาขัดข้องหลายอย่าง แต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ก็เท่ากันน่ะแหละ ถึงไปอยู่ในที่สงบ มันก็ทำตัวเราให้สงบไม่ได้ ถึงอยู่ในที่คนหมู่มาก ว่ามันไม่สงบ ผู้มีปัญญาก็ทำความสงบก็ได้ มันเป็นอย่างนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่