ประชุม ครม. “บิ๊กตู่” ย้ำนโยบาย บิ๊ก ขรก.เข้มดูงานห้ามอู้ ปรับลดค่าตอบแทน ผช.รมต.ที่ไม่จำเป็น (ขอบคุณ คสช.)

กระทู้สนทนา
“เสธ.ไก่อู” เผยผล ครม. “นายกฯ ตู่” เรียกผู้บริหารระดับสูงย้ำนโยบาย ปรับลดค่าตอบแทน ผช.รมต. สั่งเปลี่ยนชื่อกุนซือไม่เป็นทางการ เป็นคณะทำงาน รมต. ติงอย่าขึ้นคัตเอาต์พีอาร์ตัวเอง ผลาญภาษี เข้มดูงานห้ามอู้ ต้องเขียนรายงานแจงให้ชัด ยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินชายแดนใต้ ชี้คดีฆ่านักท่องเที่ยวเรื่องใหญ่ รับไม่ได้ คนพื้นที่ต้องเตือนอันตราย ฝากสื่อเสนอข่าว จนท.ทำอะไรบ้าง
       
       วันนี้ (16 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในวันที่ 17 ก.ย. นายกรัฐมนตรีได้เรียกผู้บริหารระดับสูง ปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรมมารับฟังนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากนายกฯระบุว่าการแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นการพูดคุยลักษณะข้าราชการการเมือง เกรงว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติจะแปรความหมายไม่ตรงกัน จึงควรทำความเข้าใจอีกครั้ง โดยจะแจกเอกสารเป็นนโยบายแต่ละข้อ รวมถึงข้อย่อยต่างๆ อีกทั้งจะมีการแจกแจงความเกี่ยวพันแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ว่าเกี่ยวกับนโยบายข้อไหนบ้าง และเมื่อปลัดกระทรวง อธิบดีรับฟังคำชี้แจงไปแล้ว ต้องไปทำแผนปฏิบัติการว่านโยบายต่างๆ แต่ละกระทรวง ทบวง กรมจะทำอะไรเป็นมาตรการเร่งด่วน ทำทันที อะไรที่จะทำให้สัมฤทธิผลภายใน 1 ปี และอะไรจะเป็นการวางรากฐานสำหรับรัฐบาลต่อๆไป โดยต้องส่งกลับมาให้ทางรัฐบาล เพื่อที่จะได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจงาน ตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่
       
       พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่าค่าตอบแทนของผู้ช่วยรัฐมนตรี ในสมัยที่ผ่านมามีค่าตอบแทนถึง 63,800 บาท ถือว่าสูงกว่าที่ปรึกษาของนายกฯ และที่ปรึกษารัฐมนตรีที่เป็นทางการ จึงให้กระทรวงการคลังไปพิจารณารายละเอียดว่าค่าตอบแทนเท่าใดจึงเหมาะสม ดังนั้นจึงลดค่าตอบแทนเหลือ 50,000 บาท ประหยัดเงินไปได้ 13,800 บาท มีผู้ช่วยรัฐมนตรีกว่า 30 คน ประหยัดไปได้กว่า 4 แสนบาทต่อเดือน จะได้นำเงินส่วนนี้ไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีการตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีจำนวนมาก ทั้งที่ความจริงมีการตั้งอยู่แล้วอย่างเป็นทางการ แต่ยังมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาแบบไม่เป็นทางการอีก เมื่อเวลาผ่านไปก็จำกันไม่ได้ว่าใครเป็นที่ปรึกษาทางการหรือไม่ทางการ เพราะทุกคนก็พิมพ์นามบัตรว่าเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีหมด ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ซ้ำซ้อน ที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการให้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะทำงานของรัฐมนตรี
       
       “นายกฯ บอกว่าไม่ต้องไปพิมพ์นามบัตรหรอก จะได้ไม่เกิดความสับสน เวลาไปแจกใครเขา เป็นที่ปรึกษาเยอะไปหมด บางคนมีที่ปรึกษา 70-80 คน มันวุ่นวายปวดหัว จึงต้องมาแยกกันให้ชัด” พ.อ.สรรเสริญกล่าว
       
       พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ ยังได้พูดถึงการขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่หลังจากได้รับฟังจากหลายฝ่ายว่า ข้าราชการการเมือง รวมถึงข้าราชการประจำมักขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่โชว์รูปร่างหน้าตาของตัวเอง นายกฯ บอกว่าไม่ต้องโชว์ มันเป็นเงินภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัว และทุกคนทำงานตามอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ต้องโชว์ตัวบุคคล ให้โชว์ว่าทำอะไรไปบ้างจะดีกว่า ถ้าอยากขึ้นป้ายก็ให้ขึ้นเรื่องงาน ที่มีผลรับรู้ต่อประชาชน ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังรับได้ข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการไปดูงานของคณะกระทรวง หรือคณะกรรมาธิการ เมื่อไปดูงานก็ขอลดวาระลง จากเดิมที่เจ้าภาพเตรียมโครงการไว้เต็มที่ ก็ลดเหลือ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นก็หายกันไป แต่ต่อไปนี้ไม่ได้แล้ว เขาจัดให้แบบไหนก็ต้องดูให้ครบตามนั้น และเมื่อไปกลับมาแล้วต้องมีรายงาน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ หากรัฐมนตรีไปรายงานต้องถึงนายกฯ หากปลัดกระทรวงไปรายงานต้องถึงรัฐมนตรี ถ้าต่ำกว่านั้นรายงานต้องถึงหัวหน้าหน่วยงาน โดยต้องเขียนให้ชัดเจนว่าดูอะไรมา เขาเป็นอย่างไรแล้วบ้านเราเป็นอย่างไร ใครมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เราควรปรับแก้ไขอย่างไร ไม่ใช่เอาของเขามาทั้งหมด ซึ่งจะทำให้การดูงานมีผลสัมฤทธิ์มากขึ้น
       
       พ.อ.สรรเสริญยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากการตรวจสอบความคิดเห็นหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ พบว่าส่วนใหญ่ยังเห็นชอบอยากให้มีการประกาศใช้อยู่ ครม.จึงมีมติต่ออายุออกไปตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. ถึง 19 ธ.ค. 2557 ซึ่งเป็นการต่อครั้งที่ 37
       
       พ.อ.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ประชุม ครม.ได้พูดถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี โด ยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันแก้ไข อยากให้ทราบว่ารัฐบาลและประชาชนทุกคนในเมืองไทยรับเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ ทหาร หรือคนหนึ่งคนใด เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เจ้าของพื้นที่ต้องชี้แจงนักท่องเที่ยว นอกจากขายสิ่งที่ดีแล้วต้องเตือนเขาด้วยว่าต้องระมัดระวังอะไรบ้าง อะไรที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จุดไหนที่สุ่มเสี่ยง พวกคุณต้องช่วยกัน มิเช่นนั้นผลกระทบที่ย้อนมาจะเป็นผลเสียต่อทุกคน และวิงวอนฝากสื่อมวลชนด้วยว่า ในการนำเสนอข่าวต้องเสนอใน 2 มิติ คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็เสนอไป แต่ในมุมนี้ทำให้ต่างชาติมองเห็นแต่มุมที่โหดร้าย ดังนั้นต้องเสนอด้วยว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง มีมาตรการอย่างไร ได้แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวอย่างไร เพื่อให้ต่างชาติได้ชั่งน้ำหนักว่าประเทศไทยมีอะไรน่าสนใจ

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000106540
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่