อาตมาขอสอบถามผู้รู้บาลี และพุทธธรรมเนียมปฏิบัติ

อาตมาเป็นพระนวกะ เพิ่งบวชเมื่อก่อนเข้าพรรษานี้ มีเรื่องอยากสอบถามผู้รู้บาลีและธรรมเนียมปฏิบัติ
จากการที่อาตมาต้องการทำแบบคำสวดไว้ให้ญาติโยมไว้ใช้ตอนมาถวายสังฆทานหรือทำบุญ
เพื่อที่พระจะได้ไม่ต้องว่านำซึ่งอาตมาเกรงว่าจะผิดวินัยที่ว่า ห้ามกล่าวธรรมพร้อมอนุปสัมบัน อีกทั้งญาติโยมบางท่านก็ว่าตามไม่ค่อยถูกต้อง
และอยากจะใช้คำบาลีให้ถูกต้องถึงแม้จะทราบว่าปัจจัยสำคัญคือเจตนา แต่การที่ทำให้ถูกต้องทั้งกาย วาจา และใจ ย่อมดีกว่า (ปัจจุบันใช้การพูดภาษาไทยร่วมด้วย)

แต่เนื่องจากอาตมาไม่มีความรู้บาลี ประกอบกับที่วัดก็ไม่มีผู้แตกฉานจึงอยากสอบถามผู้รู้ทั้งหลาย
อาตมาได้จัดทำตัวอย่างไว้ดังนี้ รบกวนผู้รู้ช่วยแก้ไขจุดผิดพลาดด้วย
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ข้อที่อยากถามเป็นพิเศษมีดังนี้
๑.คนว่านำ(มัคนายก) ควรจะสวดว่า "มิ" หรือ "มะ" หรือว่าถ้าให้คนว่าตามก็ใช้ "มิ" แต่ถ้าว่าแทนใช้ "มะ" หรือถ้าว่าพร้อมกันใช้ อะไรก็ได้ (ยกตัวอย่างตอนทำวัตร "อิเมหิ สักกาเรหิ ยะถาระหัง อาโรปิเตหิ อะภิปูชะยามะ" แต่ตอน "อะระหัง สัมมา..." ลงด้วย "มิ" หมดเลย)

๒.ในบท "อะระหัง สัมมา..." ทำไมการเคารพพระพุทธ(อภิวาเทมิ) พระธรรม(นมัสสามิ) พระสงฆ์(นะมามิ) ถึงใช้คำต่างกัน แต่ใช้การกราบเหมือนกันหมด ที่จริงต่างกันหรือไม่ แล้วบางครั้งก็มีคำว่า "วันทามิ" แต่อาตมาก็ใช้กราบหมดเพราะแสดงการนอบน้อมสูงที่สุด

๓.คำถวายข้าวพระพุทธ ทำไมใช้ "อิมัง" ของหลายอย่างน่าจะใช้ "อิมานิ" แล้ว ทำไมถึงต้องมี "สาลีนัง" "โภชะนัง" ก็น่าจะรวมสาลีนังไปแล้วหรือไม่(โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ) หรือควรจะใช้ประโยคอื่นใด

๔.คำถวายข้าวพระสงฆ์หรืออุทิศผู้ตาย หรือตอนทำบุญ อาหารวางอยู่ไกลตัว(เกินหัตถบาส) ควรจะใช้ "เอตานิ" แทน "อิมานิ" ใช่หรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เห็นใช้ "อิมานิ" นำกันหมด ยกเว้นบทถวายสลากภัต

๕.ตรงท่อน "อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุอาทีนัญจะ, ญาตะกานัง" ถ้ามาถวายคนเดียวควรจะเปลี่ยนเป็นอย่างไร

เจริญธรรม

ปล.ในฉบับจริงจะมีคำแปลทุกบท เพื่อให้ญาติโยมเข้าใจความหมายที่ตนเองเอ่ยและที่พระสวดด้วย
ปลปล.โยมบางท่านอาจจะคิดว่าเป็นพระทั้งทีไม่รู้ แต่อาตมาก็ไม่เคืองหรอก เพราะถ้ามันจะช่วยให้ญาติโยมได้ความรู้ที่ถูกต้อง และบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไปได้
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
กราบนมัสการพระคุณเจ้า
ผมเองแม้จะความรู้น้อย แต่พอทราบบ้าง
จึงขอไขข้อข้องใจ แค่ในข้อแรกและบางข้อนะครับ.....
"มิ" เป็นคำที่ใช้แทนตัวเรา (เป็นเอกพจน์)
มิ เป็นวิภัตติ ตัวหนึ่ง ในภาษาบาลี ใช้ลงท้ายคำกริยา ของประธาน เอกพจน์ บุรุษที่1 ซึ่งก็คือ "ข้าพเจ้า , ผม, ฉัน,ดิฉัน ฯลฯ"
ใช้ในกรณีที่เรากล่าวกับพระรัตนตรัย คนเดียว
ถ้าให้แผลงเป็นไทย อาจจะคล้ายๆ "ผม"
เช่น เสสังมังคลา ยาจามิ (ข้าพเจ้า ขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคล)

แต่ถ้า....."มะ" นั้นจะเป็นคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกับว่า
"พวกเรา" (พหูพจน์) ....ส่วน "มะ" ใช้เป็น ฝ่ายพหูพจน์ครับ
เช่น เสสังมังคลา ยาจามะ (พวกข้าพเจ้า ขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคล)

สรุปสั้นๆ คือ
"มิ" เป็นการกล่าวแทนตนเอง

"มะ" เป็นการกล่าวแบบหมู่คณะ

ส่วนการทำวัตรนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่นำสวดมนต์ ได้กล่าวนำแก่สงฆ์ให้กล่าวพร้อมกัน ก็จึงเป็นดังเหตุผลด้านบน .......แต่อรหัง นั้น เป็นบทออกมาให้ใช้ได้ยืดหยุ่น จึงลงท้ายด้วย "มิ" (ตรงนี้ความเห็นส่วนตัวของผมครับ)

จึงเรียนมาเพื่อให้พระคุณเจ้าพิจารณา และโมทนาบุญด้วยในการตั้งใจประพฤติตนในพระวินัยอันดี
แต่อย่างไรก็ตาม อาบัตินี้เป็น "ปาจิตตีย์" ซึ่งสามารถปลงได้ทุกวัน....ไม่เป็นปัญหาแก่การประพฤติพรมจรรย์ครับ

นมัสการมาด้วยความเคารพ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่