'มาร์ค' ขอคสช. ขยายความอำนาจพิเศษ ม.44 ให้ชัด

"มาร์ค" ชี้ไม่เหนือคาดหมาย รธน. ชั่วคราว ยก ม.44 เทียบ ม.17 สวนทาง ม.3 จี้ คสช.แจงเหตุจำเป็น ขยายอำนาจพิเศษ 

วันที่ 23 ก.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในหัวข้อ "สู่ระยะที่ 2 ของคสช.รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44" ตอนหนึ่งว่า เดิมตั้งใจจะเขียนถึงประเด็นการปฏิรูปด้านต่างๆ แต่เมื่อวานนี้ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 เมื่อได้อ่านรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีประเด็นอะไรที่เกี่ยวกับโครงสร้างของสภานิติบัญญัติ สภาปฏิรูป และคณะรัฐมนตรี ที่อยู่เหนือความคาดหมายในส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องยอมรับว่ามาตรา 35 ได้บัญญัติประเด็นของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่จะแก้ปัญหาระบบการเมืองไว้ ค่อนข้างจะตรงประเด็น ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน การที่นักการเมืองถูกครอบงำ หรือปัญหาของการที่หลักนิติธรรมนิติรัฐถูกทำลายในอดีต ติงม.44 ให้อำนาจพิเศษ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า มีบทบัญญัติมาตราหนึ่งที่อาจถูกมองว่า ผิดปกติ คือ มาตรา 44 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าคสช. และ คสช. ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษ โดยเป็นการเขียนในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า การตราธรรมนูญการปกครองก็ดี หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยปกติเป็นการส่งมอบอำนาจ รัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่คณะรัฐประหารใช้ กลับเข้าสู่การใช้อำนาจอธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ ผ่านสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี และศาล การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารจะมีการคงไว้อยู่บ้างในลักษณะของการบริหารเพื่อ แก้ไขสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง เมื่อปี 2549 ประธาน คมช. อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง คมช. กับครม. ได้ในปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ

ในปี 2534 ประธาน รสช. โดยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมระหว่างสภา รสช. กับนายกรัฐมนตรี อาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงได้

นายอภิสิทธิ์ ระบุต่อว่า ในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งสังคมไทยจะกล่าวถึงเสมอ คือ มาตรา 17 ที่ถือว่าเบ็ดเสร็จที่สุด ก็จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการสั่งการ หรือ กระทำการเพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง ความแตกต่างในครั้งนี้ คือ ในมาตรา 44 อำนาจพิเศษนั้น เป็นของหัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของคสช. โดยไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี และมาตรา 44 ยังบัญญัติโดยชัดแจ้งว่า การใช้อำนาจนี้ อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ และทางตุลาการได้ โดยไม่มีกระบวนการที่จะโต้แย้ง หรือ ตรวจสอบ นั่นหมายถึง ความสามารถที่จะออกกฎหมายและ/หรือการกลับคำพิพากษาได้ ขอบเขตของการใช้มาตรา 44 นี้ ยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกันระงับ หรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่สามารถใช้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป หรือ การส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย บทบัญญัติในมาตรานี้ทั้งหมด จึงอาจถูกมองได้ว่า ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ มาตรา 3

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่า สังคมยอมรับสภาพการคงอำนาจพิเศษในกรณีที่จะเกิดปัญหาความปั่นป่วน วุ่นวายขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการขยายอำนาจพิเศษให้ครอบคลุมอำนาจ นิติบัญญัติและอำนาจตุลาการก็ดี หรือการอ้างอิงเหตุผลในการใช้อำนาจเพื่อผลักดันการปฏิรูปหรือการส่งเสริม ความสมานฉันท์ก็ดี มีความจำเป็นอย่างไร เพราะโดยโครงสร้างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปก็มีที่มาจาก คสช.อยู่แล้ว และการระงับการกระทำที่เป็นปัญหาต่อความมั่นคงก็จะเป็นการใช้มาตรการทางบริหารเป็นหลัก จึงหวังว่า หัวหน้า คสช. จะช่วยอธิบาย ถึงความจำเป็นและสิ่งที่ท่านคิดอยู่ในใจว่า จะใช้อำนาจในมาตรา 44 นี้ ในกรณีไหนอย่างไรโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หรือ ความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่