ม็อคค่าปาท่องโก๋ : แหล่งที่มา “พี่มาก...พระโขนง” {แนะนำหนังสือ The Making of พี่มาก...พระโขนง}

สวัสดีครับ

      ขออนุญาต นำคอลัมน์ "ม็อกค่าปาท่องโก๋" ที่ผมเขียนประจำในเนชั่นสุดสัปดาห์นั้น มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน เพื่อขอคำแนะนำ คำติชม เพื่อปรับปรุงงานเขียนต่อไปในอนาคตเรื่อยๆครับ ขอบคุณครับ

เนชั่นสุดสัปดาห์ เล่มที่ 1144


     ส่วนใหญ่แล้ว ในต่างประเทศ นอกจากการออก Blu-ray หรือ DVD แบบพิเศษ ที่เล่าถึงเบื้องหลังของการทำหนังแล้ว ก็จะมีการออกหนังสือ ที่เล่าถึงเรื่องราวในขั้นตอนการสร้างหนังเรื่องนั้นๆ

     อย่างในหนังไตรภาค Star Wars ก็มีหนังสือ The Making of Star Wars / The Making of The Empire Strikes Back / The Making of Return of the Jedi ออกมา หรืออย่าง Avatar ก็มี The Making of Avatar ออกมาให้ได้อ่านกัน

         ส่วนของหนังไทย ก็เคยมีออกมาบ้างครับ เช่น บันทึกกองถ่าย พี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง หรือ นางนากของพี่อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ***[เพิ่มเติม The Making of ตำนานสมเด็จพระนเรศวร อีก 1 เล่มครับ]*** แต่ไม่ได้เต็มรูปแบบ อาจด้วยปัจจัยบางอย่าง เช่น การที่ค่ายหนังไม่ได้มีสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง หรือปัจจัยด้านความสนใจของคนไทย แต่ในที่สุด ด้วยความร่วมมือของทาง GTH กับสำนักพิมพ์ a book (ในเครือ a day) จึงได้ร่วมกันจัดทำหนังสือ “พี่มาก...พระโขนง : The Making of” โดย วิชัย มาตกุล, นทธัญ แสงไชย และนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ เป็นผู้เขียน เป็นหนังสือปกแข็ง 176 หน้า พิมพ์ 4 สี สวยงาม ราคาตามปกอยู่ที่ 395 บาท

         แล้วอะไรที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจ? ผมเชื่อว่า คงมีหลายท่านที่เป็นคอหนัง เวลาได้มีโอกาสดูหนังที่ชื่นชอบ ย่อมเกิดอาการ “หนังจบ อารมณ์ไม่จบ” ก็จะขวนขวายหาสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับหนัง ไม่ว่าจะเป็นคลิปโปรโมทหนัง คลิปรายการทีวีที่มีนักแสดงและผู้กำกับหนังไปออก Music Video พอหนังเรื่องนั้นมีการออกแผ่น DVD ก็จะดูซ้ำทั้งตัวหนัง หนังแบบมีเสียงบรรยายของผู้กำกับและนักแสดงประกอบ เบื้องหลังของหนัง Deleted Scene Extended Scene ฯลฯ แต่ในส่วนของเบื้องหลังนั้น มักจะมีข้อมูลไม่มากนัก เพราะจำกัดที่เวลาที่ลงในแผ่น หรือก็ใส่ลงไปเท่าที่ได้ถ่ายทำเบื้องหลังไว้แค่นั้น ทั้งหมดไม่ได้ช่วยให้ความสงสัยของคอหนังที่สนใจลึกไปถึงเรื่องของบท การถ่ายทำ เทคนิคต่างๆ นั้นคลายลงไปได้เลย

         ดังนั้นหนังสือ “พี่มาก...พระโขนง  : The Making of” จึงน่าสนใจมากที่ในที่สุด เราก็จะได้รู้ว่า ขั้นตอนในการทำหนังแต่ละเรื่องนั้น มีขั้นตอนอย่างไร เริ่มตั้งแต่การหา concept ของหนังกันเลย เราลองมาดูกันว่า ข้างในมีเนื้อหาอะไรบ้าง

    Prologue: {ส่วนนำ} ซึ่งจะเล่าถึงที่มาที่ไปของ “พี่มาก...พระโขนง ” ซึ่งเป็นที่มา ที่ไม่ได้มีอะไรมากมายอย่างที่คิดกัน

The Character: {ลักษณะตัวแสดง} ตรงส่วนนี้จะเล่าถึงที่มาของ Gang of Four (ชิน เผือก เต๋อ เอ) ว่ามาจากไหน คัดเลือกกันมาอย่างไร ตั้งแต่สมัยหนัง “สี่แพร่ง ตอน คนกลาง”

Screen Play: {บทหนัง}ส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ออกมาเป็น “พี่มาก...พระโขนง ” ที่เราได้ดูกัน ในหนังสือจะเล่าถึงไอเดียที่ “เกือบใช้ได้” แต่ไม่ได้นำมาใช้ เยอะมากๆครับ อ่านสนุก และจนกลายเป็นไอเดียที่เป็นหัวใจของหนังจริงๆ จะรู้ได้เลยว่าขั้นตอนเหล่านี้ ใช้เวลามากมายขนาดไหน และทีมเขียนบทที่มี โต้ง-บรรจง เต๋อ-ฉันทวิชช์ และแอ้ม-นนตรา คุ้มวงศ์ ทุ่มเทขนาดไหนกับการสร้างบทหนังเรื่องนี้ รวมถึงทำให้รู้ว่า กว่าจะได้เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จขนาดนี้ ต้องล้มลุกคลุกคลานกันกี่หน แก้บทกี่ครั้ง

The Gag: {มุกตลก} จากบท ก็มาสู่การคิดมุกตลกต่างๆ ที่หนังสือได้เล่าไว้ได้สนุกสนานเหมือนการอ่านขายหัวเราะ ส่วนพิเศษในหัวข้อ Shall We Dance ที่ลงรายละเอียดในส่วนของเพลงและท่าเต้นกองพันอันโด่งดัง รวมถึง มุกที่ไม่ได้ใช้ที่ทำออกมาในรูปแบบการ์ตูน สนุกมากครับ อีกทั้ง “เกร็ดน่ารู้มากมาก” ที่ควรอ่านให้ครบ อย่าพลาดเด็ดขาด

The Cast: {นักแสดง} ส่วนนี้จะทำให้เราได้รู้ถึงขั้นตอนการคัดเลือกนักแสดงของ “พี่มาก...พระโขนง ” รวมถึงเหตุผลว่าทำไมบทพี่มากต้องเป็น มาริโอ้ เมาเร่อ ทำไมบทนาคต้องเป็น ใหม่ – ดาวิกา โฮร์เน่ การทำอย่างไรให้นักแสดงทั้ง 2 คนที่ไม่เคยเล่นด้วยกันมาก่อนต้องมาแสดงเป็นคนที่รักกันมากๆ มีภาพสวยๆ ตอนที่ Workshop ให้ได้ดูกันด้วย ต่อมาก็เป็นรายละเอียดของแก๊งค์เพื่อนพี่มาก 4 คน ชิน เอ เผือก เต๋อ ที่ย้อนไปดูที่มาของแต่ละคนอย่างละเอียด บทของใครที่หานักแสดงมาได้ง่าย บทของใครที่หามาได้ยากมาก รวมทั้งเล่าถึงเหล่านักแสดงรับเชิญ ทั้งคน ทั้งสัตว์? ตรงนี้ก็น่าสนใจอีกเช่นกัน

Pre-Production: {งานก่อนถ่ายทำ}ส่วนนี้จะเล่าถึงการเตรียมการถ่ายทำ แต่สิ่งที่น่าทึ่งของหนังเรื่องนี้คือการได้คุณเบิ้ม-อรรคเดช แก้วโคตร มาเป็น Production Designer ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ทำ Production ของ “นางนาก” เวอร์ชั่น พี่อุ๋ย-นนทรี นิมิบุตร มาผสมกับจินตนาการอันพิสดารของ โต้ง-บรรจง ผู้กำกับ ต่อมาก็เล่าถึงฉากสงครามตอนต้นเรื่องว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร การใช้ระเบิดเป็นครั้งแรกในหนัง GTH ฉากตลาดน้ำและตลาดบกที่เอาสถานที่มาปรับแต่ง ซึ่งถึงแม้ในหนังสือเล่มนี้จะบอกว่าของจริงอยู่ที่ไหน แต่เชื่อได้เลยว่าไม่ได้เหมือนในหนัง ฉากที่ใช้เวลาค้นหากันอย่างหนักว่าจะหาสถานที่ได้ คือฉากบ้านพี่มาก ที่ทีมงานต้องทุ่มเทเวลาในการค้นหามากมาย และสุดท้ายก็เจอสถานที่ที่ตรงตามความต้องการ ฉากงานวัดที่ทุกคนตั้งคำถามว่า สมัยนั้นมีงานวัดแบบนี้ด้วยหรือ แต่โต้ง-บรรจง ก็เอามาใส่ในหนังได้อย่างลงตัว และฉากศาลาวัด ซึ่งเป็นฉากจุดขายที่แม่นาคจะโชว์ช็อตเด็ดการห้อยหัว

Costume & Hair: {เสื้อผ้าและทรงผม} ในส่วนของเสื้อผ้าที่ต้องทำให้เป็นหนังพีเรียด ก็เล่าถึงแนวความคิดในการเลือกแบบเสื้อผ้า และก็มีสอนวิธีการทำให้ดูว่าทำอย่างไรจะได้เสื้อผ้าที่มีสีเหมือนในหนัง แต่ที่เด็ดจริงๆเห็นจะอยู่ที่ส่วนของทรงผม บอกเลยครับว่านี่คือจุดขายของหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ใน Teaser และตัวอย่าง ในหนังสือเล่มนี้มีให้ดูด้วยว่าที่มาของทรงผม พี่มาก ชิน เอ เผือก เต๋อ มี Reference มาจากไหน และงาน Special Effect ที่มีทั้งงานเมคอัพ และงานแต่งหน้าแม่นาคเป็นผี ที่สุดท้ายไม่ได้มีในหนัง ฮาฮ่า

The Shooting: {การถ่ายทำ}ส่วนนี้เป็นการบรรยายถึงความโหดร้ายของการถ่ายทำหนัง การกระหน่ำถ่ายทำแบบสว่างคาตา บางฉากมีถ่ายทำกัน 50 เทค! รวมถึงเกร็ดย่อยๆของฉากแต่ละฉาก ที่มีรายละเอียดและสามารถทำให้คนทั่วไปเข้าใจถึงขั้นตอนการถ่ายทำหนังได้เป็นอย่างดี อ่านกันเพลินครับ

The Soundtrack: {เพลงประกอบ} เป็นส่วนที่เล่าถึงขั้นตอนการเลือกเพลงที่จะใช้เป็นเพลงหลักในหนัง ซึ่งก็ไม่ได้ได้มาง่ายๆ ผ่านการเลือกสรรมาอย่างละเอียดจนมาได้เป็น เพลง อยากหยุดเวลา แบบที่เราได้ฟังกันในหนัง และที่มาของเพลงกองพัน ที่เป็นอีกเพลงที่ใช้ และฮิตจนมีคนอาไปเต้น cover มากมาย เพลง เพลง“ขอมือเธอหน่อย”ที่ใช้ตอนจบ และเพลง “มะนาวลูกนั้น” เพลงที่ไม่ได้ใช้ แต่มีทั้ง MV และ Ringtone ให้โหลด!

The Phenomenon: {ปรากฏการณ์} ส่วนนี้กล่าวถึงความสำเร็จของ พี่มาก...พระโขนง  ในทุกๆด้าน ว่าสร้างปรากฏการณ์อะไร ให้กับวงการหนังไทยบ้าง ส่วนตัวผมว่ามองว่าเป็น “ตำนาน” ไปแล้วละครับสำหรับหนังเรื่องนี้.

***ใครสนใจหนังสือเล่มนี้หาดูที่ GTH Store นะครับ [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ ***

ฝากบทความก่อนๆด้วยครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่