เคล็ดลับซื้อทัวร์ไม่ให้ถูกโกง เปิดเบื้องหน้าเบื้องหลังธุรกิจท่องเที่ยว



เคล็ดลับการเลือกซื้อทัวร์ท่องเที่ยวแบบไม่ให้ถูกโกง

กรณีที่เกิดขึ้นของโรงแรมกระบี่ภูพระนาง รีสอร์ทแอนด์สปาที่หลอกลวงให้คนซื้อห้องพักและซื้อทัวร์ จนมีการแจ้งความร้องทุกข์กันไปถึงขั้นปิดโรงแรมหนีไปแล้ว ว่ากันว่ามีคนถูกฉ้อโกงไปร่วม 7,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30–40 ล้านบาท

ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นหน้าที่ดูแลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

โดยตรง ในฐานะเป็นนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ขณะที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็ต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้นในการตรวจสอบพวกเดียวกันเอง พร้อมทั้งเป็นหูเป็นตาเพื่อป้องกันผู้ที่แอบอ้างการทำธุรกิจนี้เพื่อมาหลอกลวงโดยเฉพาะ

เพราะเรื่องนี้เป็นเสมือน “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” ทำเอาคนอยากเที่ยวต้องชะงักก่อนจ่ายเงินซื้อทัวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ขณะที่บรรดานักท่องเที่ยวที่กำลังอยากเที่ยวในลักษณะของการเป็น “ลูกทัวร์” คงอยากรู้ว่า ควรเลือกซื้อทัวร์อย่างไรไม่ให้ถูกโกง?

“ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้หาเคล็ดลับการเลือกซื้อทัวร์ เพื่อให้เงินที่เก็บหอมรอมริบมาไม่สูญเปล่า แถมได้เที่ยวกันอย่างเต็มอิ่ม จากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง พร้อมขอให้ช่วยเปิด เบื้องหน้าเบื้องหลังของธุรกิจทัวร์ที่มีการฉ้อโกงมานำเสนอให้รู้เท่าทันกัน.

*************************



ร้อยตรีอานุภาพ เกษรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว



ว่าที่ร้อยตรีอานุภาพ เกษรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ให้ข้อมูลว่า รูปแบบของผู้ที่ซื้อทัวร์แล้วถูกหลอก ถ้าเป็นกรณีของโรงแรมกระบี่ภูพระนาง รีสอร์ทแอนด์สปา เกิดขึ้นจากการใช้เงินผิดประเภทจนมีปัญหาสภาพคล่อง ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนถูกต้องและทำธุรกิจมานานแล้ว แต่มาทำเสียชื่อในภายหลัง
ส่วนกรณีที่ลูกทัวร์ซื้อทัวร์แล้วไม่ได้ออกทัวร์ เช่น ไปถึงสนามบินแล้วไม่มีบริษัททัวร์มารับ หรือเครื่องบินไม่มารับ ในบางครั้งไม่ได้เกิดจากบริษัททัวร์ฉ้อโกง แต่เนื่องจากธุรกิจนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 3 เส้า เริ่มจากเส้าแรก บริษัททัวร์ได้จัดรายการนำเที่ยวและจะต้องมีเครื่องบิน ซึ่งบริษัททัวร์ไปเช่าเหมาลำผ่านบริษัทตัวกลาง และบริษัทตัวกลางก็ไปหาเครื่องบินอีกที ซึ่งเคยเกิดกรณีของเครื่องบินไม่มา เครื่องบินมาช้าหรือดีเลย์ ซึ่งบางทีปัญหาเกิดจากบริษัทตัวกลาง

เส้าที่สองก็คือ สายการบินที่ไปเช่ามาอาจมีปัญหาเอง เช่น รับการจองทัวร์เกินกว่ากำลังของจำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ ซึ่งบางครั้งเกิดปัญหาเครื่องเสียก็ไม่มีเครื่องบินทดแทน หรือสายการบินมีปัญหาเอง และเส้าที่สาม คือ บริษัทที่รับช่วงต่อในต่างประเทศจัดรายการท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามรายการ

“แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นกรณีซื้อทัวร์แล้วไม่เป็นไปตามที่ตกลงแล้วทางบริษัททัวร์ไม่รับผิดชอบ ทางลูกทัวร์สามารถมาร้องเรียนกับกรมการท่องเที่ยวได้ เพื่อเรียกร้องเงินคืนได้ เนื่องจากบริษัททัวร์ที่จดทะเบียนต้องวางเงินมัดจำกับกรมการท่องเที่ยวไว้”

อย่างไรก็ตาม เงินมัดจำในปัจจุบันของธุรกิจที่ทำทัวร์ในประเทศและต่างประเทศ อยู่ที่บริษัทละ 200,000 บาท บางครั้งก็ไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงต้องหารือกับภาคเอกชนในการเพิ่มวงเงินในส่วนนี้ และเวลาจดทะเบียนบริษัทใดจะต้องให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สมาคมท่องเที่ยวต่างๆ มาช่วยกันกลั่นกรองบริษัทที่ขอจดทะเบียนอีกขั้นหนึ่งเพื่อความรอบคอบ

สำหรับสถิติร้องเรียนตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 โดยในปี 2555 มีทั้งสิ้น 158 ราย แบ่งเป็นกรณีประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่มีใบรับอนุญาต 23 ราย กรณีชำระเงินค่าบริการแล้วแต่ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ 2 ราย และกรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือที่โฆษณาชี้ชวนไว้ 71 ราย โดยทั้งหมดนี้แก้ปัญหายุติได้ 125 ราย

ส่วนในปี 2556 มีการร้องเรียนทั้งสิ้น 143 ราย แบ่งเป็นกรณีประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่มีใบรับอนุญาต 23 ราย กรณีชำระเงินค่าบริการแล้วแต่ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ 15 ราย และ กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือที่โฆษณาชี้ชวนไว้ 55 ราย โดยทั้งหมดนี้แก้ปัญหายุติได้ 127 ราย.



นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ)



นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ซึ่งเป็นสมาคมที่รวบรวมบริษัททัวร์ที่นำคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ บอกว่า จริงๆ แล้วในเบื้องต้นก่อนการจ่ายเงินซื้อทัวร์ ตามหลักการก็ต้องขอดูทะเบียนของบริษัททัวร์นั้นก่อน ซึ่งความจริงแล้วคงไม่มีชาวบ้านคนใดไปตรวจเช็ก
ฉะนั้น วิธีง่ายที่สุดเลย คือ หากพบทัวร์ราคาถูก ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า “เสี่ยง”

เพราะคนซื้อทัวร์ทั่วๆไปจะเปิดดูจากหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ถ้าพบทัวร์อะไรที่ถูกมากๆ และถูกกว่าคนอื่นก็ให้ระมัดระวังไว้ และถ้าจะดูให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าอยากจะซื้อก็ให้ติดต่อเพื่อขอดูรายการทัวร์ก่อนว่าพาไปที่ไหนบ้าง

ประการต่อมา ต้องตรวจสอบว่าบริษัทที่ขายทัวร์นั้นๆ มีตัวตนจริง มีสถานที่ตั้งของบริษัททัวร์ มีโทรศัพท์พื้นฐาน อย่าซื้อเพียงแค่ได้คุยผ่านโทรศัพท์มือถือ และให้สอบถามรายละเอียดให้ชัดเจน ซึ่งถ้าเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาหลอกลวงส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องท่องเที่ยว ถามอะไรก็ตอบไม่ค่อยได้ มีพิรุธ และอย่าซื้อเพียงได้เห็นการโฆษณาชี้ชวนผ่านเว็บไซต์ เพราะเดี๋ยวนี้มีบางคนที่ต้องการหลอกลวงได้ลงทุนทำเว็บไซต์สวยงาม

“จะซื้อทัวร์อะไรก็ต้องเช็กก่อน เพราะเงินที่จ่ายออกไปไม่ว่า 10,000 บาท 50,000 บาท หรือ 100,000 บาท ก็เป็นเงินของคุณ จะได้ไม่เสียเวลาและเสียรู้ และง่ายที่สุดให้ถามกับญาติพี่น้อง คนรอบตัว ที่เคยไปกับบริษัททัวร์ใดแล้วไม่ล้มเหลว ก็ให้ซื้อกับบริษัทนั้น”

การหลอกลวงที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่หลอกนักท่องเที่ยวเท่านั้น บริษัททัวร์ที่ถูกหลอกก็มี เป็นบริษัททัวร์เล็กๆที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปส่งลูกทัวร์ให้บริษัทที่เปิดขึ้นมาหลอกลวง และบริษัททัวร์ก็เป็นประเภทเสียหน้าไม่ได้ ไม่เช็กกันเองในหมู่ผู้ประกอบการ กลัวจะถูกหาว่าโง่ ไม่รู้จริง ถ้าหากเช็กก็รู้อยู่แล้วและจะไม่ถูกหลอก

สำหรับรูปแบบของการหลอกลวงในวงการนี้ คนที่จะหลอกส่วนใหญ่แล้วตั้งใจหลอก เช่น บริษัททัวร์ที่ร่วมกับสายการบิน ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีเครื่องบินเพียงลำเดียว ก็นำมาใช้เป็นเครื่องเช่าเหมาลำ และบอกว่าถ้าตลาดขยายตัวก็จะหาเพิ่มอีก 2-3 ลำ ซึ่งแบบนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมตั้งแต่แรก เพราะถ้ามีเครื่องบินเพียงลำเดียว จะเป็นไปได้อย่างไรที่ทำทัวร์ไปหลากหลายประเทศทั้งเกาหลี ฮ่องกง อินเดีย

ทีนี้ขอย้อนกลับมาที่ทัวร์ขายถูกๆ เดี๋ยวนี้ที่ต้องระวังมาก คือ ทัวร์ประเทศเกาหลี บางทีขายถูกมาก 4 วัน 2 คืน ราคา 12,900 บาท หรือเพิ่มอีก 1 คืน ราคา 15,900 บาท ซึ่งได้เดินทางจริงแต่ไม่มีคุณภาพ ใกล้จะเข้าสู่ลักษณะของทัวร์ศูนย์เหรียญแบบจีนมากขึ้นไปทุกวัน เนื่องจากขายทัวร์ราคาถูก แต่ในรายการนำเที่ยวจะยัดเยียดพาไปช็อปปิ้งจนแทบไม่ได้เที่ยว หรือไม่ก็เที่ยวแบบชะโงกทัวร์ แค่จอดรถให้ลงไปถ่ายรูปแบบเร็วๆ

ซึ่งต่างจากเวลาพาไปช็อปปิ้ง เดี๋ยวนี้มีทั้งการซื้อสมุนไพรที่บอกว่ารัฐบาลรับรอง รวมไปถึงพาไปซื้อเครื่องสำอางราคาถูก ซึ่งในส่วนนี้จะปล่อยเวลาให้ช็อปปิ้งได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการเร่งเวลากัน โดยการจัดทัวร์ลักษณะนี้ถูกกำหนดไว้แต่แรก

ถ้าหากลูกทัวร์ไม่ชอบก็ต้องเลือกจ่ายแพงขึ้น 100–200 เหรียญสหรัฐฯหรือ 3,200–6,400 บาท ต่อทริป

ส่วนการไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้คนไทยไปกันอย่างล้นทะลัก ตั้งแต่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า เมื่อเดือน ก.ค.2556 เป็นต้นมา ทั้งการเดินทางด้วยเที่ยวบินปกติ ซึ่งต่อไปกำลังจะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำ รวมทั้งการเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ ในช่วงเทศกาลสำคัญและวันหยุดยาว

ขณะนี้บริษัททัวร์เริ่มแข่งขันกันตัดราคาลงมาจากปกติทริปละ 50,000–60,000 บาท ก็เริ่มถูกลงๆ มาอยู่ที่ 30,000 บาทกลางๆ

กรณีของการซื้อทัวร์เที่ยวในประเทศญี่ปุ่นคงไม่ไปสู่รูปแบบของทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่บริษัททัวร์ก็มีเทคนิคการทำราคาลงมาให้ถูกกว่าเดิมโดยพาไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่ต้องจ่ายเงินค่าเข้าชม เช่น ไปโตเกียว ทาวเวอร์ ก็แค่ให้ถ่ายรูปบริเวณนั้นแต่ไม่พาขึ้นไปข้างบน

รวมไปถึงการลดค่าอาหาร การพาไปพักโรงแรมที่อยู่นอกเมือง หรือเปลี่ยนรถบัสรับส่งจากรถป้ายทะเบียนสีเขียว มาเป็นรถป้ายทะเบียนขาว ซึ่งไม่มีการทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยว ซึ่งหากเป็นแบบนี้ก็เป็นเรื่องต้องระวังในการเลือกทัวร์ที่ซื้อด้วย.



นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.)



นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ให้ข้อคิดว่า ก่อนจะจ่ายเงินซื้อแพ็กเกจทัวร์ใดก็ตามไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศต้องตรวจสอบก่อนว่าบริษัททัวร์นั้นจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ใน 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก ให้ดูว่ามีทะเบียนการค้าที่จดกับกระทรวงพาณิชย์ มีสถานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ขั้นตอนที่สองให้ตรวจสอบกับกรมการท่องเที่ยวว่าจดทะเบียนถูกประเภทหรือไม่
เนื่องจากการจดทะเบียนแต่ละรูปแบบก็มีเงินค่ามัดจำกับกรมการท่องเที่ยวแตกต่างกัน เช่น จดทะเบียนนำเที่ยวเฉพาะในจังหวัดและจังหวัดที่มีเขตติดต่อกัน มีเงินมัดจำ 10,000 บาท ซึ่งมีบริษัทเกือบ 6,000 รายที่จดทะเบียนแบบนี้รวมทั้งกรณีของบริษัท กระบี่ภูพระนาง รีสอร์ทแอนด์สปา จำกัด ที่หลอกลวงนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนเป็นบริษัทนำเที่ยวเฉพาะในประเทศ มีเงินมัดจำ 50,000 บาท แต่ถ้าทำทั้งทัวร์ในประเทศและต่างประเทศ มีเงินมัดจำ 200,000 บาท

พร้อมกันนั้น การจะซื้อทัวร์แบบไม่ให้ถูกหลอกก็ต้องดูอายุของบริษัททัวร์แต่ละแห่งด้วย เพราะบริษัทที่มีอายุมากก็เทียบเคียงได้ว่ามีประสบการณ์ทำงานมากกว่า และมีวินัยในการบริหารเงินของลูกค้าที่จัดเก็บมาได้ดี และลองตรวจสอบดูว่าบางบริษัทจะได้รางวัลมาตรฐานจากกรมการท่องเที่ยว จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจได้

ขณะเดียวกัน ควรดูว่าบริษัททัวร์นั้นๆ เป็นสมาชิกของสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้รู้ว่าบริษัทนั้นๆมีส่วนร่วมในสังคม ผ่านการตรวจสอบของสมาคมฯ ไม่ใช่ปลีกวิเวก ไม่คบค้ากับใครเลย และสุดท้ายเลยให้ดูว่าพนักงานตอบคำถามได้ดีไหม มีความรู้เรื่องท่องเที่ยวหรือเปล่าและเร่งรัดให้โอนหรือจ่ายเงินแบบผิดปกติหรือไม่

ที่สำคัญก่อนโอนเงิน ทางลูกทัวร์จะต้องดูว่าโอนเงินไปให้ใครเพราะตามปกติทางเจ้าของบริษัทจะระบุชื่อผู้รับโอนอย่างชัดเจน ซึ่งเราในฐานะผู้ซื้อต้องตรวจสอบว่า ชื่อคนที่ต้องโอนเงินไปให้ในใบชี้ชวนกับในเว็บไซต์ตรงกันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คนที่ชอบซื้อทัวร์ผ่านทางเว็บไซต์อย่างเดียวก็ต้องระมัดระวัง เพราะมีเว็บไซต์ที่ดูดี ที่ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อหลอกลวงโดยเฉพาะ เคยเกิดกรณีที่หลอกลวงเงินไปนับหลายล้านบาท ที่จังหวัดนนทบุรี และบริษัทก็ปิดตัวหนีไปแล้ว

ถ้าถามว่าผู้ซื้อจะหลบหลีกหนีจากบริษัทที่ตั้งใจหลอกลวงได้อย่างไร การยอมเสียเวลาเปิดอินเตอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบว่าบริษัทนั้นๆ เคยโกงใครหรือไม่ก็เป็นอีกช่องทางที่ช่วยตัดสินใจก่อนจ่ายเงินได้เหมือนกัน แต่ก็ต้องแยกแยะกรณีของการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบริการไม่ดี ไม่ถูกใจ ออกจากการหลอกลวงด้วย และกรณีที่ขายทัวร์ราคาถูกกว่าปกติจนเกินห้ามใจก็ต้องยิ่งตรวจสอบอย่างเข้มข้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หากนับเม็ดเงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เฉพาะการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศและคนไทยที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศ มีเม็ดเงินอยู่ที่ประมาณ 700,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่มีการหลอกลวงคิดเป็นมูลค่าไม่ถึง 1% และเป็นเม็ดเงินระดับสิบล้านบาท ไม่ถึงร้อยล้านบาท จึงเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้เยอะมาก

ฉะนั้น การไม่ให้ถูกหลอกก็เพียงแค่ตรวจสอบให้เข้มข้นก่อนเท่านั้นเอง.



ทีมเศรษฐกิจ

http://www.thairath.co.th/content/417641
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่