ม็อคค่าปาท่องโก๋ : กำหนดวันฌาปนกิจฟิล์ม (ตอนจบ) {ระบบฉายหนังดิจิตอล}

สวัสดีครับ

      ขออนุญาต นำคอลัมน์ "ม็อกค่าปาท่องโก๋" ที่ผมเขียนประจำในเนชั่นสุดสัปดาห์นั้น มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน เพื่อขอคำแนะนำ คำติชม เพื่อปรับปรุงงานเขียนต่อไปในอนาคตเรื่อยๆครับ ขอบคุณครับ

เนชั่นสุดสัปดาห์ เล่มที่ 1136
****อ่านตอนแรกได้ที่นี่ครับ http://pantip.com/topic/31848289 ****


     “ม็อคค่าปาท่องโก๋” ตอนที่แล้ว ผมได้เล่าให้ทุกท่านฟังถึงจุดจบของระบบฉายหนังด้วยฟิล์มไปแล้ว ในสัปดาห์นี้ผมจะมาเล่าถึงระบบการฉายหนังที่เป็นระบบหลักในโรงหนังส่วนใหญ่ในปัจจุบัน นั่นคือระบบการฉายหนังดิจิตอลครับ

          ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นดิจิตอล?

      ก็เนื่องด้วยระบบการถ่ายทำหนัง ได้ปรับเปลี่ยนจากระบบฟิล์มไปเป็นการใช้กล้องถ่ายหนังดิจิตอล ซึ่งให้ความสะดวกและมีความยืดหยุ่นในการถ่ายหนังสูงกว่าระบบฟิล์มอย่างมากมาย ทั้งการถ่ายทำ ราคาต้นทุนอุปกรณ์ การตัดต่อ การทำ Post Production ฯลฯ

      ที่จริงก็เข้าใจได้ง่ายๆ ครับ เพราะเป็นเหตุผลคล้ายๆ กับที่เราเปลี่ยนจากกล้องถ่ายรูปแบบใช้ฟิล์ม มาเป็นกล้องถ่ายรูปดิจิตอลนั่นล่ะครับ

          คราวนี้เมื่อระบบต้นทางเปลี่ยนเป็นดิจิตอลไปเรียบร้อย จนเสร็จออกมาเป็นตัวหนังแล้ว แล้วทำไมเรายังถึงฉายหนังกันด้วยระบบฟิล์มอยู่ในช่วงหลายๆ ปีก่อนหน้านี้

      เนื่องด้วยต้นทุนการเปลี่ยนแปลงระบบการฉายจากฟิล์มไปสู่ดิจิตอลนั้น ในยุคแรกๆ มีต้นทุนสูงที่สูงมาก ว่ากันที่เกิน 10 ล้านบาทต่อโรง มีโรงหนัง 5 โรง ก็ 50 ล้านบาท!

      รวมถึงการที่ระบบฟิล์มมีความยืดหยุ่นในการฉายมากกว่าระบบดิจิตอล ฟิล์มหนัง 1 เรื่อง สามารถฉายพร้อมๆ กันหลายๆ โรงได้

      เนื่องจากฟิล์มหนัง 1 เรื่อง มีหลายม้วน เช่น โรงหนังโรงที่ 1 ฉายหนังไปถึงม้วนที่ 3 ก็เอาม้วนที่ 1 จากโรงหนึ่งมาฉายโรงที่ 2 ก็สามารถเพิ่มจำนวนรอบของหนังได้ง่ายๆ ซึ่งระบบดิจิตอลในยุคแรกๆ ยังไม่เปิดให้ทำแบบนี้

          แต่ก็ดั่งสำนวนที่ว่า “ไม่มีงานเลี้ยงใด ที่ไม่มีวันเลิกรา” การที่ต้นทางของระบบหนังเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทั้งหมดแล้ว แต่ปลายทางกลับต้องเอาไฟล์หนังดิจิตอลที่เสร็จสมบูรณ์มา “ยิงฟิล์ม” เพื่อทำเป็นฟิล์มสำหรับฉาย และมีต้นทุนค่าฟิล์มต่อชุดในหลักหลายหมื่นบาท แต่ฉายได้เพียง 2-3 สัปดาห์ ฟิล์มก็เป็นรอยเส้นๆ เสียแล้ว...

     เมื่อนำมาเทียบกับระบบดิจิตอลที่ใส่ไฟล์หนังลงไปใน Hard disk จะเห็นได้เลยว่า ต้นทุนต่ำกว่ามาก แถมยังสามารถลบไฟล์ บันทึกใหม่ ใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ แถมใน Hard disk 1 ลูก ก็จะใส่ไฟล์หนังทั้งแบบ 2D 3D soundtrack พากย์ไทย มาได้พร้อมๆ กัน ย่อมสะดวกในฉายหนังมากกว่า

         แล้วเครื่องฉายหนังระบบดิจิตอล ทำงานอย่างไร?

*** ทางซ้ายเป็นเครื่องฉายหนังดิจิตอล ทางขวาเป็นเครื่องฟิล์ม***

     เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเคยต่อคอมพิวเตอร์กับเครื่องฉายภาพ Projector เพื่อนำเสนองาน หรือดูหนังกันอยู่แล้ว ระบบการฉายหนังดิจิตอลก็ในทำนองเดียวกันครับ แต่แน่นอนว่า  Projector ที่ใช้ฉายหนังนั้น ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกับ Projector ที่เราใช้ Present งานอย่างแน่นอน

         ระบบ Projector ที่ใช้สำหรับการฉายหนังนั้น มี 2 ระบบ ได้แก่ DLP จาก Texas Instrument  และ LCOS จากค่าย Sony โดย ร้อยละ 80 จะใช้ ระบบ DLP Cinema Projector ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของ บ. Texas Instrument โดยรุ่นที่ใช้กับโรงหนังจะใช้ระบบ 3-CHIP DLP


     ซึ่งใช้วิธีการฉายแสงสีขาว กระจายเข้าสู่ DMD: Digital Micro Mirror Device ซึ่งจะเป็น Chip DLP ที่เป็นกระจกขนาดเล็ก 1 Pixel ที่ปิด-เปิดได้ด้วยความเร็วสูงมาก เพื่อปรับอัตราการสะท้อนของแสง โดย DMD 3 ตัว จะมี Filter เพื่อแยกสีตามแม่สีแสง คือ เขียว น้ำเงิน แดง

     เมื่อปรับและรวมแสงผ่านเลนส์ฉาย เราก็จะได้ ภาพดิจิตอลที่มีขนาด 2K (2048 x 1080 Pixel หรือ 2.2 Megapixel)  แล้วก็เรียงฉายต่อกันไปเรื่อยๆจนเป็น ไฟล์หนังนั่นเอง ส่วนระบบไฟล์ที่ใช้กับการฉายหนังดิจิตอล คือระบบไฟล์แบบ  JPEG2000 ใน Format .mxf ขนาด 200 – 300 GB ต่อหนัง 1 เรื่อง (โดยประมาณ)

     ส่วนระบบ LCOS ของ Sony จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า SXRD (Silicon X-tal Reflect Display) ซึ่งจะใช้หลักการคล้ายกับระบบ DLP เปลี่ยนจากกระจกสะท้อนขนาดจิ๋วที่ปรับได้ เป็น กระจกสะท้อนขนาดจิ๋วที่มีชั้น LCD อยู่ด้านหน้าเพื่อปรับลด-เพิ่มความเข้มของแสง อันที่จริงแล้วระบบ SXRD ทำความละเอียดระดับ 4K ได้ก่อนทาง DLP เสียอีกครับ

         แต่มีแค่ DLP Projector หรือ LCOS Projector เพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถฉายหนังได้นะครับ จำเป็นต้องมีเครื่อง server สำหรับเล่นไฟล์หนัง โดยต้อง copy ไฟล์ ลงไปใน Hard disk ของเครื่อง server ก่อน

     แต่ถึงจะมีเครื่อง server แล้ว ก็ยังฉายไม่ได้อยู่ดีครับ

      เพราะไฟล์หนังดิจิตอลนั้น มีระบบป้องกันการฉายโดยจะมีการเข้ารหัสไว้ เฉพาะ โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้ถอดรหัสเรียกว่า IMB (Integrated Media Block) และรหัสกุญแจในรูปแบบไฟล์ดิจิตอลที่เราเรียกกันว่า KDM



          KDM เป็นไฟล์กุญแจที่ใช้ถอดรหัสไฟล์หนังที่จะใช้ฉายครับ โดยจะใช้เฉพาะหนังเรื่องนั้น เฉพาะ Server เครื่องนั้นๆ และมีช่วงอายุจำกัดแล้วแต่ผู้ออก KDM กำหนดในช่วงเวลาที่หนังฉาย เมื่อจะฉายหนังก็ต้องนำไฟล์ KDM ที่ได้มา

      ซึ่งส่วนใหญ่ใช้การส่งมาทาง e-Mail จากค่ายหนัง มา Load ใส่ในเครื่อง Server แล้วก็จะฉายหนังได้ครับ ซึ่งแปลว่า KDM 1 ไฟล์ / หนัง 1 เรื่อง / โรง ส่วน Hard disk ที่บรรจุไฟล์หนังนั้น ก็จะมี บริษัทที่รับจ้าง รับ-ส่ง และ copy ไฟล์หนังให้ครับ แน่นอนว่า มีไฟล์หนัง

       แต่ไม่มี KDM ก็ไม่มีความหมาย ใช้ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นถ้ามี KDM ของหนังเรื่องนั้นๆครบทุกโรงหนังที่มี ก็จัดเวลาฉายได้ง่ายครับ ฉายพร้อมกันเรื่องเดียวกันก็ได้ แค่ Copy ไฟล์ลง Server ไว้ก่อน

          ส่วนระบบการฉายหนังที่เป็น 3D นั้น จะถูกแยกออกมาเป็นโมดูล สำหรับเลื่อนเข้าออกบริเวณด้านหน้าของเลนส์ ถ้าจะฉายหนัง 3D ก็ต้องมีการใช้ชุดเลนส์พิเศษสำหรับระบบ 3D โดยเฉพาะ ส่วนระบบ 3D นั้น ที่ใช้กันอยู่หลักๆ แบ่งเป็น 2 ระบบหลักๆ

      คือ ระบบ Active และระบบ Passive โดยระบบ Active คือ ระบบที่ต้องใช้แว่น 3D แบบมีแบตเตอรี่มีระบบ Shutter Glasses (เหมือนกับที่ใช้ในระบบ LED TV 3D หลายยี่ห้อ) ระบบนี้แว่นตาจะมีราคาแพงและต้องคอยเปลี่ยนแบตเตอรี่

      ส่วนระบบ Passive คือระบบที่ใช้แว่นที่ไม่ต้องมีแบตเตอรี่ ใช้หลักการหักเหแสงแนวตั้งและแนวนอนตั้งฉากกันของตาทั้งสองข้าง

      ระบบ 3D ของโรงหนังในประเทศไทย ก็จะใช้ระบบ Passive เป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกจะใช้เทคนิคตัดแม่สีของแสง (น้ำเงิน/เขียว/แดง) ที่ความยาวคลื่นแสงออกทำให้ภาพของตาซ้ายและตาขวาเปลี่ยนสี เช่น ระบบ Dolby Digital 3D กับอีกระบบที่ใช้เลนส์แว่นตาแบบ Polarize เช่นระบบ RealD 3D / DepthQ 3D

      ระบบ Dolby Digital 3D แว่นตาจะใหญ่กว่า หนักกว่า และราคาแพงกว่า ภาพจะมืดกว่า แต่ได้ภาพ 3D ที่ไม่มีเงามืดหลังภาพ 3D ที่ลอยออกมา ใช้จอภาพสีขาว  ส่วนระบบ RealD 3D / DepthQ 3D นั้นคือระบบที่แว่นเบากว่าคล้ายแว่นกันแดดทั่วไป เวลาดูภาพจะสว่างกว่า ใช้จอภาพสีเงิน แต่อาจจะมีเงามืดด้านหลังภาพ 3D ที่ลอยออกมาบ้าง และคนที่นั่งดูด้านข้างๆ ภาพจะมืดกว่าคนนั่งตรงกลาง

      ระบบที่นิยมในปัจจุบันคือระบบ RealD 3D / DepthQ 3D เพราะภาพสว่างกว่า ดูสบายตาและแว่นตาราคาถูก ทำให้โรงหนังบางเครือ ขายแว่นตา 3D แบบขายขาดให้กับลูกค้า และฉายหนัง 3D ในราคาเท่ากับหนัง 2D ปกติ ที่จริงแบบนี้ก็เป็นผลดีกับผู้ชมที่ราคาค่าตั๋วหนังถูกลง แต่ก็ต้องห้ามลืมพกแว่น 3D มาดูหนังด้วยนะครับ

          หากเรามาลองสมมติว่าเราตัวเราเป็นคนซื้อเครื่องฉายหนังดิจิตอล เราจะเลือกซื้อเครื่องฉายหนังดิจิตอลจากอะไร ไม่ยากครับ เริ่มแรก ก็ควรเลือกระบบที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่คือ 3-CHIP DLP เพราะระบบ 1-CHIP DLP นั้น  ไม่ได้ออกแบบมาเพื่องานระดับโรงหนังครับ

      และถึงแม้จะฉายได้ แต่ถ้าต้องฉายต่อเนื่องวันหนึ่ง 12-14 ชั่วโมง ก็ควรเลือกเครื่องที่ออกแบบมาโดยตรงดีกว่า และสิ่งที่สำคัญต่อมาคือ ขนาดของ CHIP DLP ซึ่งจะมีหลายขนาด ตั้งแต่ 0.6, 0.98, 1.2 และ 1.38 นิ้ว โดยส่วนใหญ่โรงหนังในบ้านเราก็ใช้ CHIP DLP ขนาด 0.98 นิ้ว เป็นหลัก

      ยกเว้นโรงที่มีขนาดจอใหญ่มากๆ เช่น ใหญ่กว่า 20 เมตร ก็อาจจะใช้รุ่นที่มี CHIP DLP 1.2 นิ้ว ส่วน CHIP DLP ขนาด 1.38 นิ้วนั้น จะเป็นของเครื่องฉายระบบ 4K ที่มีความละเอียดสูงกว่า ส่วน CHIP DLP 0.6 นิ้ว นั้นไม่ได้ไว้ใช้สำหรับงานโรงหนังครับ

          สรุปขั้นตอนการฉายหนังในระบบดิจิตอล

1.    รับ Hard disk ที่บรรจุหนังเรื่องที่ต้องการฉาย จากบริษัทที่รับจัดส่งหนัง
2.    ย้าย File หนังจาก Hard disk ไปลงไว้ใน Server ของเครื่อง
3.    ขอ KDM ของหนังเรื่องนั้น พร้อมระบุรหัสของเครื่องฉาย เพื่อให้ทางค่ายหนัง Generate KDM มาให้ และรับ KDM ของหนังเรื่องนั้นๆ จาก e-Mail
4.    นำไฟล์  KDM ที่มีรหัสตรงกับเครื่องฉายนั้นๆ  ไปโหลดใส่ Server เครื่องนั้นๆ (ผ่าน Flash Drive)
5.    ฉายหนังโดยเรียงไฟล์ที่ต้องการใน Playlist ของ Server


      อ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่าทุกท่านคงมองว่า ไม่เห็นจะยาก ถ้าจะฉายหนังในระบบดิจิตอล แต่เชื่อเถอะครับว่ามันไม่ง่ายในแง่การลงทุน เพราะระบบเครื่องฉายหนังดิจิตอลแบบ 3-CHIP DLP 0.98 นิ้ว ราคารวมอุปกรณ์จนครบทั้งระบบก็ต้องมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย มีกี่โรงก็คูณเข้าไป

      ยิ่งถ้าอยากประหยัดโดยการซื้อเครื่องที่กำลังของแสงที่ฉาย ไม่สูง ก็อาจต้องมาลงทุนเปลี่ยนจอหนังใหม่แทนอีกหลายแสนบาทเพราะความสว่างไม่เพียงพอก็เป็นได้ นี่ยังไม่รวมค่าอุปกรณ์เครื่องเสียงนะครับ

      อันที่จริงแล้วต้องบอกว่าน่าหนักใจแทนโรงหนังชั้น 2 ในบ้านเราจริงๆ ครับ

      การที่ต้องลงทุน 2 ล้านบาทกับการฉายหนังควบ 2 เรื่องวนในราคาไม่กี่สิบบาท มองยังไงก็ไม่เห็นว่าจะคุ้มทุนได้ในเร็ววัน เหนื่อยแทนจริงๆ แต่สำหรับหนังกลางแปลง ดูจะยังพอมีความหวัง เพราะถึงแม้จะต้องลงทุนสูง

      แต่ก็เป็นการรับเหมาเป็นงานๆ และถึงอย่างไร ก็ไม่มีอะไรมาทดแทนหนังกลางแปลงได้ มีเครื่องฉายหนังดิจิตอลก่อน ดูจะได้เปรียบกว่าเจ้าอื่น เชื่อว่าแทบจะรับงานกันไม่ทันเลยทีเดียว

      แต่ก็ไม่แน่ว่าจะขอ KDM ได้หรือไม่ เพราะค่ายหนังคงเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยครับ

ข้อมูลอ้างอิง
http://forum.thaidvd.net/index.php?showtopic=193420
http://www.manice.net/index.php/d-cinema-equipment/d-cinema-projector
http://en.wikipedia.org/wiki/Digital_Cinema_Package
http://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=7364
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่