ซื้อกองทุนอะไรดี..?

เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านหลายๆ        ท่านต้องรู้จักการลงทุนผ่านกองทุนรวมอย่างแน่นอนครับ โดยเฉพาะท่านผู้อ่านท่านไหนที่มีรายได้รวมอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี ยิ่งต้องรู้จักการลงทุนผ่านช่องทางนี้เป็นอย่างดี ยังไงก็ตาม ก็ยังมีนักลงทุนอีกไม่น้อยที่ต้องการเรียนรู้การลงทุนผ่านกองทุนรวมเช่นกัน
            กองทุนรวม (Mutual Fund) คือเครื่องมือการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง ที่นักลงทุนหลายๆคน นำเงินมารวมกันผ่านการซื้อหน่วยลงทุน แล้วให้คนเก่งๆมาบริหารให้ หรือที่เรียกว่า ‘ผู้จัดการกองทุน’ ซึ่งผู้จัดการกองทุนนั้น ก็จะนำเงินทุนของนักลงทุน ไปจัดสรรและลงทุนในตราสารต่างๆแล้วแต่นโยบายครับ  เพื่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนไปสู่นักลงทุนที่เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปแบบของส่วนต่างราคา และเงินปันผลนั่นเอง

      “ซื้อกองไหนดี...?” นับว่าเป็นคำถามยอดฮิตของนักลงทุนผู้สนใจในการลงทุนผ่านกองทุนรวมทุกท่านครับ ซึ่งหลายๆท่านมักจะหาคำตอบของคำถามนี้แตกต่างกันไป บ้างก็ถามเพื่อน แล้วซื้อตามเพื่อน บ้างก็คลิก Morning Star แล้วก็จัดเต็มแบบ Morning Star และที่แย่ที่สุดคือพวก จิ้มๆ สุ่มๆ แล้วซื้อเลย ... อันหลังนี้ผมไม่แนะนำนะครับ เพราะมันทำให้ไม่ต่างอะไรจากซื้อหวยเลย เผลอๆซื้อหวยจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะซื้อใบละ 100 บาท เกิดฟลุ๊ค ถูกเลขท้ายสองตัวมา ได้เงิน 2,000 บาท คิดเป็นกำไรแบบไม่ต้องหัก VAT. หักคอมฯ ก็เกือบๆ 2,000% เลยนะนั่น แถมมีให้ลุ้นทุก 15 วันซะด้วย แต่ถ้าไม่ถูกรางวัลขึ้นมา เงิน 100 บาทก็หายวั๊บไปเลย ทั้งยังต้องเหนื่อยกับการตามหาบ้านที่มีตุ๊กแกห้อยหัวอีก...เหอะๆๆ ซึ่ง!!! จุดนี้เอง ที่ทำให้การลงทุนผ่านกองทุนมันแตกต่าง และเหนือกว่าการซื้อหวย แต่จะซื้อกองไหนดีนั้น มันต้องมีหลักการครับ

        ก่อนอื่นผมต้องขอบอกที่มาของหลักการที่กำลังจะกล่าวต่อจากนี้ก่อน ผมเป็นคนที่หลงไหลในหนังสือการลงทุนเล่มหนึ่งมาก เล่มที่ว่านั้นก็คือ “The Intelligent Investor” ของ Benjamin Graham ศาสตราจารย์ผู้เปิดโลกทรรศน์ด้านการลงทุนให้แก่ Warren Buffet นั่นเอง Graham ได้ให้แง่คิดด้านการคัดเลือกกองทุนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งผมจะขอสรุปให้เห็นว่า พฤติกรรมการเลือกที่ไม่ควรทำตาม กับการเสาะหากองที่ใช่ตามแบบฉบับของ Graham มันทำกันยังไง

•    “การเลือกแบบผิดๆ” --- “รักครั้งเก่ายังตราตรึง...”นักลงทุนส่วนใหญ่ มักจะซื้อกองทุนรวมที่มี Performance สวยๆ ด้วยการตั้งสมมติฐานว่าในวันพรุ่งนี้และวันต่อๆไป Performance ของมันจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง...ไม่แปลกครับ มีผลวิจัยเชิงจิตวิทยาว่า คนเรามักจะคาดการณ์ผลลัพธ์ระยะยาว โดยอิงผลลัพธ์ระยะสั้นในอดีต ยิ่งไปกว่านั้น เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของเราว่าในเรื่องต่อๆไป ณเดชน์จะต้องได้เล่นคู่กับญาญ่าอีก เรารู้ว่าบัวขาวจะชนะน็อคคู่ต่อสู้ หรือแม้แต่เด็กเก่งๆเราก็คิดว่าเขาจะเก่งและได้เกรดสูงๆต่อไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแน่นอนเสมอไป เพราะเรื่องต่อไป ณเดชน์อาจจะได้เล่นคู่กับเจนี่ บัวขาวอาจทำได้เพียงชนะคะแนน หรือเด็กเก่งๆคนนั้นอาจจะมัวแต่ดูละครของณเดชน์จนเกรดตก... ในโลกของการลงทุนก็เช่นกันครับ ผลงานในอดีตไม่ได้การันตีผลงานในอนาคตเลยแม้แต่น้อย ที่ทำได้คือ มันทำให้รู้ว่ากองทุนรวมกองนั้นได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้ว

•    “อ้วนไป...เดินลำบาก...” --- ลำดับต่อมาคือเรื่องของขนาดของกองทุนรวม นักลงทุนบางคนให้ความสำคัญกับจุดนี้มากพอๆกับ Performance เพราะคิดว่ากองใหญ่ๆ แสดงถึงความนิยม ความไว้ใจ แต่หารู้ไม่ ยิ่งขนาดของกองทุนใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ ผู้จัดการกองทุนยิ่งปวดหัวมากขึ้นเท่านั้น ลองนึกภาพตามนะครับ กองทุนกองหนึ่งมีขนาด 100 ล้านบาท ใช้เงิน 2% (2 ล้านบาท) ซื้อหุ้นของบริษัทขนาดเล็กแห่งหนึ่งซึ่งมี Market Cap. เท่ากับ 500 ล้านบาท กองทุนกองนี้จะได้หุ้นในสัดส่วนไม่ถึง 0.5% ของบริษัท แต่เมื่อเวลาผ่านไป Performance อันสวยหรูทำให้ขนาดของกองทุนรวมกองนี้เพิ่มเป็น 1 หมื่นลบ. เงินลงทุน 2% ก็จะเท่ากับ 200 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ Market Cap. ของบริษัทดังกล่าว นั่นทำให้กองทุนไม่สามารถซื้อหุ้นของบริษัทนี้ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะอยากซื้อมากแค่ไหนก็ตาม

•    “โรคฮิตของ Fund Manager…” --- ผู้จัดการกองทุนที่ว่าเก่ง ก็ยังมีจุดอ่อนกันทุกคนครับ โดยเฉพาะ “โรคขี้กลัว” ที่มักจะเป็นกับผู้จัดการกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงๆ ซึ่งโรคนี้เกิดจากการที่ผู้จัดการกองทุนคนนั้นๆ ทำผลตอบแทนครั้งก่อนไว้สูง และขนาดกองทุนได้เปลี่ยนไปจากช่วงที่เริ่มก่อตั้ง ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น ค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูงขึ้น เป็นแรงกดดันที่ทำให้ผู้จัดการกองทุนไม่อยากทำอะไรที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหา ผู้จัดการกองทุนจึงตัดสินใจที่จะถือหุ้นคล้ายๆกันกับกองอื่นๆ เพื่อที่อย่างน้อย แม้จะไม่ได้กำไรสูงสุดเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ก็ไม่แพ้ใคร หรือไม่ก็เกาะกลุ่มกันไป เพื่อเป็นการเซฟตัวเองไปอีกแบบ

--- แล้วกองทุนที่ดีล่ะ...ต้องเป็นแบบไหน?
•    “กล้าที่จะแตกต่าง…”--- สมัยที่ Peter Lynch บริหารกองทุน Fidelity Magellan ใหม่ๆ เขาถูกมองว่าเป็นผู้จัดการกองทุนที่อินดี้มากที่สุดคนหนึ่ง อันเนื่องมาจากหุ้นที่กองทุนของ Peter Lynch ไปลงทุนนั้น ต่างก็เป็นบริษัทนอกสายตา ที่กองทุนส่วนใหญ่ไม่สนใจ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งอย่าง Chrysler ที่ขณะนั้นกำลังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดก็มองว่าการลงทุนในหุ้นดังกล่าวมันไม่คุ้มค่าเลย ซึ่งภายหลังจากนั้นไม่นาน Peter Lynch ก็ได้พิสูจน์ว่าพวกนักวิเคราะห์นั้นคิดผิด เล่นเอาหงายเงิบไปตามๆกัน

•    “เล็กไปก็ไม่ดี...ใหญ่ไปก็ไม่งาม”--- อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วในเรื่องของขนาด ว่ากองทุนที่มีขนาดใหญ่เกินไปนั้นไม่ดี เพราะการจะขยับลงทุนทีนั้นทำได้ลำบาก อีกทั้งยังเป็นการจำกัดการลงทุนของผู้จัดการกองทุนด้วย แต่ก็ใช่ว่ากองทุนขนาดเล็กๆจะดีนะครับ เพราะกองทุนที่ขนาดเล็กเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อการกระจายการลงทุนเช่นกัน ทำให้บางครั้งที่ผู้จัดการกองทุนต้องการจะซื้อหุ้นของบริษัทซักแห่ง อาจเจอปัญหาเงินไม่ถึงหรือสภาพคล่องต่ำก็เป็นได้ แต่การที่เราจะไปกำหนดว่าเท่าไหร่ที่เรียกว่าใหญ่ หรือเท่าไหร่เรียกว่าเล็กนั้นมันก็ทำได้ยาก “ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าของตลาดนั่นเอง”

•    “ค่าธรรมเนียมต่ำ...”--- เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม นักลงทุนอาจจะมีความเข้าใจที่ว่า กองทุนไหนที่มีค่าธรรมเนียมสูงๆ มักจะมีผลตอบแทนที่สูงไปด้วย อันนี้มันไม่จริงเสมอไปนะครับ เพราะค่าธรรมเนียมนี่เป็นตัวดีเลย ที่จะกัดกร่อนผลตอบแทนของเราในแต่ละปี ลองคิดง่ายๆนะครับ ว่าผลตอบแทน คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ค่าธรรมเนียมคือสิ่งที่คงที่ตลอด ไม่ได้ลดลงไปตามผลตอบแทนที่ลดลง
    เวลาที่นักลงทุนจะเลือกกองทุนรวมซักกองนั้น ส่วนใหญ่มักจะดูผลการดำเนินงานในอดีตก่อน จากนั้นก็ดูความน่าเชื่อถือของผู้จัดการกองทุน ความเสี่ยง และค่าธรรมเนียม ซึ่ง Graham ได้กล่าวไว้ว่า นักลงทุนผู้ชาญฉลาดตามนิยามของเขานั้น ควรจะทำย้อนกลับ โดยการพิจารณาค่าธรรมเนียมรายปีก่อน ว่าสมน้ำสมเนื้อกับความเสี่ยงหรือไม่ จากนั้นก็พิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้จัดการกองทุน อาจจะดูผลการจัดอันดับของ Morning Star ประกอบก็ได้ (Morning Star จะแสดงผลการจัดอับดับเป็นดาว โดยมากสุดคือ 5ดาว ไปหาน้อยสุดคือ 1ดาว โดยแต่ละดาวแสดงค่าจากการวัดผลตอบแทนแบบนำความเสี่ยงมาพิจารณาด้วย) และลำดับสุดท้ายคือการพิจารณาผลการดำเนินงานย้อนหลัง โดยนำไปเปรียบเทียบกับ Bench Mark อย่างเช่น SET Index หรือผลการดำเนินงานของกองทุนอื่นๆ ก็จะทำให้นักลงทุนเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น

     เป็นไงบ้างครับ กับบทความที่กล่าวไป ซึ่งทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงแนวคิด และความรู้เบื้องต้นเท่านั้น เพราะการจะพิจารณาเลือกกองทุนที่เหมาะกับเราซักกองนั้น ยังต้องพิจารณารายละเอียดอีกมากมายพอสมควร แต่เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นตัวจุดประกาย ให้นักลงทุนทุกท่าน หันมาสนใจการลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าการลงทุนในหุ้นเลย และกลับมาพบกับบทความสุดเข้มข้นได้อีก ในโอกาสต่อไป ขอให้โชคดีในการลงทุนครับ...#ดอย จัง แก #ลูกแม่หน่อง
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  กองทุนรวม การออมเงิน การลงทุน RMF LTF
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่