โทษของการดื่มสุรา

.
             การเสพสุราที่เรียกว่า สุราปานะ นั้น ได้แก่ เจตนาที่เป็นเหตุแห่งการดื่มสุรานั้น
             สุราปานะ นี้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้เป็นศีลข้อหนึ่งในจำนวนศีล ๕
             และได้ทรงแสดงโทษอย่างหนักของการดื่มสุราไว้ในพระบาลีอังคุตตรนิกายว่า

“สุราเมรยปานํ ภิกฺขเว อเสวิตํ ภาวิตํ พหุลีกตํ
นิรยสํวตฺตนิกํ ติรจุฉานโยนิสํวตฺตนิกํ เปตฺติวิสํวตฺตนิกํ,
โย จ สพฺพลหุโก สุราเมรยปานสฺส วิปาโก โส มนุสฺสภูตสฺส
อุมฺมตฺตกสํวตฺตนิโก โหติ”



“ดูกรภิกษุทั้งหลาย การดื่มสุราและน้ำเมาต่างนี้
เมื่อดื่มเสมอๆ ดื่มมากๆ เข้า ดื่มหลายๆ ครั้งเข้า
ย่อมสามารถนำไปสู่นิรยภูมิ ดิรัจฉาน เปตติภูมิ
โทษของการดื่มสุราเมรัยอย่างเบาที่สุดนั้น
เมื่อมีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์ด้วยกุศลกรรมอื่นๆ
ผู้นั้นก็ย่อมเป็นคนบ้า”




             อนึ่งการดื่มสุรานี้กระทำให้สำเร็จกิจได้ ๒ อย่าง
             ๑. ปฏิสนธิชนนกิจ กิจที่ทำให้เกิดในนิรยภูมิ
             ๒. กัมมชนกิจ กิจที่ทำให้หารกระทำทุจริตสำเร็จลง

             ในกิจทั้ง ๒ อย่างนี้ กัมมชนนกิจมีกำลังแรงกว่าปฏิสนธิชนนกิจ
และมีการกระตุ้นชักชวนให้กระทำในทุจริตทุราชีพต่างๆ
             ดังนั้น ในพระบาลีที่แสดงในกุมภชาดก ได้กล่าวถึงเหตุให้ไปสู่นิรยภูมิ
โดยการกระทำทุจริตอันเป็นกัมมชนนกิจว่า

ยํ เว ปิวิตฺวา ทุจฺจริตํ จรนฺติ
กาเยน วาจาย จ เจตสา จ
นิรยํ วชนฺติ ทุจฺจริตํ จริตฺวา
ตสฺสา ปุณฺณํ กุมฺภมิมํ กิณาถ ฯ



“ท่านทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่ได้ดื่มสุราแล้ว
ย่อมกระทำทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ อย่างแน่นอน
เมื่อได้กระทำทุจริตแล้ว ชนเหล่านี้ย่อมไปเกิดในนิรยภูมิอย่างไม่ต้องสงสัย
ขอท่านทั้งหลายจงซื้อหม้อที่บริบูรณ์ด้วยน้ำสุราอันมีโทษต่างๆ ดังกล่าวแล้ว”


(คาถานี้เป็นคำกล่าวของพระอินทร์ที่แปลงตัวเป็นพ่อค้าขายสุราลงมามนุษย์โลก แล้วกล่าวพรรณนาสรรพคุณของสุรา)




             สำหรับปฏิสนธิชนนกิจของการดื่มสุรานั้น มุ่งหมายเอาปุพพเจตนา
คือเจตนาที่เกิดก่อนการกระทำทุจริตทุราชีพ ได้แก่
             การกระตุ้นชักชวนให้กระทำทุจริตอันเนื่องมาจากการดื่มสุรานั้นเอง
             แต่ก็เป็นข้อที่ไม่แน่นอน คือถ้าผู้ที่มีการกระตุ้นชักชวนให้กระทำทุจริตเกิดขึ้นแล้ว
แต่ผู้นั้นมิได้กระทำทุจริตลงไป ก็เป็นอันว่าปุพพเจตนานั้นไม่สามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้
             ถ้าผู้ดื่มสุราแล้วกระทำทุจริตไปตามอำนาจของการกระตุ้นชักชวนที่เป็นปุพพเจตนาแล้ว
ปุพพเจตนานั้นก็สามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ตั้งแต่ภพที่ ๓ เป็นต้นไป
             หมายความว่าการดื่มสุรานี้ ถ้าปฏิสนธิชนนกิจสำเร็จลง ก็จัดว่าล่วงอกุศลกรรมบถ
             ถ้าปฏิสนธิชนนกิจไม่สำเร็จ ก็ไม่จัดว่าล่วงอกุศลกรรมบถเป็นการไม่แน่นอน
             ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงไม่ทรงจัดเอาการดื่มสุราเข้าอยู่ในอกุศลกรรมบถ ๑๐
ดังที่ในปฏิสัมภิทามรรคอรรถกถาและฏีกาแสดงไว้ว่า

“กุสลากุสลาปิ จ ปฏิสนฺธิชนกาเยว กมฺมปถาติ วุตฺตา,
วุตฺตาวเสสา ปฏิสนฺธิชนเน อเนกนฺติกตฺตา กมฺมปถาติ น
วุตฺตา”


(อรรถกถา)



“วุตฺตาวเสสาติ สุราปานาทโย ตพฺพิรมฺมณาทโย จ”


(ฏีกา)



“กุศล คือกายสุจริตเป็นต้น และอกุศล มีกายทุจริตเป็นต้น
ที่ให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นเท่านั้น พึงกล่าวได้ว่าเป็นกุศลและอกุศลกรรมบถ
กุศล คือการเว้นจากการดื่มสุราเป็นต้น และ
อกุศลคือการดื่มสุราเป็นต้น
ที่เหลือเหล่านั้นไม่ได้กล่าวว่าเป็นกุศลและอกุศลกรรมบถ
เพราะกรรมเหล่านี้เป็นกรรมที่ไม่แน่นอนในการส่งผลปฏิสนธิ”



คำว่า วุตฺตาวเสสา นั้น ได้แก่ การดื่มสุรา สูบฝิ่น
เล่นการพนัน ดูมหรสพ เล่นมหรสพ เป็นต้น
และการเว้นจากการดื่มสุรา เว้นสูบฝิ่น เว้นจากการเล่นการพนัน
เว้นจากการดูการเล่นมหรสพต่างๆ เป็นต้น”




อนึ่ง ในพระบาลีปาจิตติย์ และอรรถกถาแสดงว่า

“สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ”


การดื่มสุราและเมรัยเป็นอาบัติปาจิตตีย์




“อจิตฺตกํ โลกวชฺชํ อกุสลจิตฺตํ, มชฺชปานํ สามเณรานํ ปาราชิกวตฺถุ”



"การดื่มสุราของภิกษุนั้น จะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตามย่อมเป็นอาบัติปาจิตตีย์
และมีโทษในทางโลกเกี่ยวด้วยอกุศลจิต
การดื่มสุราของสามเณร ถ้ารู้ว่าเป็นสุราก็มีโทษถึงปาราชิก คือขาดจากความเป็นสามเณร”




             การดื่มสุราของบุคคลทั้งหลายนั้น มี ๔ ประเภท คือ
             ๑. ดื่มสุรา ที่ผสมอยู่ในยาหรือในอาหาร
             ๒. ดื่มสุรา ล้วนๆ นึกว่าเป็นยา
             ๓. ดื่มสุรา เพราะชอบ
             ๔. ดื่มสุรา เพื่อให้ใจกล้าในการกระทำทุจริต

             การดื่มสุราประเภท ๑ และ ๒ นั้น มีโทษเบา เพราะมีเจตนาจะรักษาโรคแต่
             ประเภทที่ ๒ นั้น ถ้าเป็นพระภิกษุก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์
             ถ้าเป็นฆราวาสก็ศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลประจำตัวของฆราวาสขาด
             ถ้าถือศีล ๘ ก็ศีล ๘ ขาด ถ้าเป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ ขาด
             ดังนั้นผู้ที่ตั้งใจจะประพฤติตนอยู่ในศีลแล้วจึงไม่ควรดื่มสุรา

             การดื่มสุราประเภทที่ ๓นั้น มีโทษหนัก เพราะเป็นผู้ประพฤติผิด (มิจฉาจาร)
ในรสารมณ์ที่เป็นกามคุณ โทษหนักแค่ไหนนั้น ผู้อื่นย่อมรู้ไม่ได้นอกจาก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว
             และผู้ที่ชอบดื่มสุรานี้ เมื่อดื่ม ๑ ครั้งหรือ ๒ ครั้งแล้ว จะหยุดไม่ดื่มอีกเป็นไปไม่ได้
ต้องอยากดื่มเรื่อยๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด
             สมดังพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระบาลีอังคุตตรนิกายว่า

“ติณฺณํ ภิกขฺเว ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ กตเมสํ ติณฺณํ?
โสปฺปสฺส ภิกฺขเว ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ, สุราเมรยปานสฺส
ภิกฺขเว ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ, เมถุนธมฺมสมาปตฺติยา ภิกฺขเว
ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ, อิเมสํ ภิกฺขเว ติณฺณํ ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺตีติ”



“ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเสพที่ไม่มีการอิ่มนั้น ๓ อย่าง
๓ อย่างนั้นคืออะไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่อิ่มในการนอนอย่างหนึ่ง
ความไม่อิ่มในการดื่มสุราเมรัยอย่างหนึ่ง
ความไม่อิ่มในการเสพเมถุนธรรมอย่างหนึ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่อิ่มในการเสพ ๓ อย่างนั้นมีดังกล่าวนี้”



             การดื่มสุราย่อมทำให้เกิดความเสื่อมเสียมาก อย่าว่าแต่คนสามัญเลย
แม้แต่ผู้ที่มีคุณธรรมพิเศษ เมื่อได้ดื่มสุราเข้าไปแล้วก็ทำให้เกิดความเสื่อมเสียมรรยาท
เป็นที่น่าละอาย พร้อมทั้งคุณธรรมที่มีอยู่ก็เสื่อมสิ้นไปด้วย
             ดังเช่นในสมัยพุทธกาล พระสาคตเถระเป็นปุถุชน ที่ได้อภิญญาเก่งกล้ามาก
             วันหนึ่ง ชนชาวโกสัมพีได้ข่าวว่า พระสาคตเถระได้ชัยชนะต่อพญานาค
ในการประลองฤทธิ์แก่กัน
             ดังนั้น ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงเกิดความเลื่อมใสยินดีกันเป็นอันมาก
             เมื่อพระสาคตเถระมาบิณฑบาต จึงพากันนำเอาอาหารมาถวาย
และบางคนได้นำเอาสุรามาถวายด้วย พระสาคตเถระก็ดื่มสุรานั้นแล้วเกิดความมึนเมา
             เมื่อกลับจากบิณฑบาตเดินมาถึงประตูเมืองก็เดินต่อไปไม่ได้ ล้มฟุบอยู่ตรง
หน้าประตูเมืองนั่นเอง ฌานอภิญญาที่ได้ไว้ก็เสื่อมหมด
             ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับจากบิณฑบาต พร้อมด้วยพระภิกษุที่ตามเสด็จ
             พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระสาคตเถระนอนอยู่ ก็ได้รับสั่งให้พระภิกษุเหล่านั้น
ช่วยกันพยุงพระสาคตเถระไปจนถึงวัด แล้วให้นำตัวมาที่เบื้องหน้าของพระองค์
             พระภิกษุเหล่านั้นก็ช่วยกันจับตัวพระสาคตเถระให้นอนหันศีรษะไปทางที่
พระพุทธองค์ประทับ แต่พระสาคตเถระกำลังมึนเมาไม่มีสติก็กลับหมุนตัวหันเท้า
ไปทางพระองค์ซึ่งเป็นการแสดงอคารวะต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
             ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นอีกข้อหนึ่ง
             ห้ามมิให้พระภิกษุดื่มสุราเมรัย ถ้าดื่มต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์

             การดื่มสุราประเภทที่ ๔ จัดเป็นปุพเจตนา ที่มีสภาพกระตุ้นชักชวน
ให้การกระทำทุจริตที่เป็นมุญจเจตนาให้เกิดขึ้น
             ฉะนั้นการดื่มสุราประเภทที่ ๔ นี้จึงสามารถนำให้ผู้นั้นไปสู่อบายภูมิได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่