อปัณณกสูตร : เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาที่ชอบใจ พึงสมาทานอปัณณกธรรมนี้แล้วประพฤติ

กระทู้สนทนา
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
             ๑๐. อปัณณกสูตร
             เรื่องพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

             [๑๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก
เสด็จถึงพราหมณคามนามว่าศาลา ของชนชาวโกศล.

             พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรผู้เจริญ
เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกมาในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก
เสด็จถึงบ้านศาลาแล้ว.
             ก็กิตติศัพท์อันงามแห่งพระโคดมผู้เจริญนั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า
             แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
ทั้งเทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
             ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนี้ ย่อมเป็นความดี.

             ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
             บางพวกถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
             บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
             บางพวกประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
             บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
             บางพวกนั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

             อปัณณกธรรม
             [๑๐๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า
             ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ศาสดาคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชอบใจของท่านทั้งหลาย
เป็นที่ให้ท่านทั้งหลายได้ศรัทธาอันมีเหตุ มีอยู่หรือ?
             พราหมณ์และคฤหบดีกราบทูลว่า
             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศาสดาคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชอบใจของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นที่ให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ศรัทธาอันมีเหตุ หามีไม่.
             ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาที่ชอบใจ พึงสมาทาน
อปัณณกธรรมนี้แล้วประพฤติ
             ด้วยว่าอปัณณกธรรมที่ท่านทั้งหลายสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ท่านทั้งหลายสิ้นกาลนาน
             ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็อปัณณกธรรมนั้นเป็นไฉน?

             วาทะที่เป็นข้าศึกกัน
             [๑๐๕] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้
มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรม
ที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี อุปปาติกสัตว์ไม่มี
สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง แล้วประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลก
             ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรง
ต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น เขากล่าวอย่างนี้ว่า
             ทานที่ให้แล้วมีผล การบวงสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำชั่ว
ทำดีมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี อุปปาติกสัตว์มี  สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ
ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้รู้ทั่ว
มีอยู่ในโลก
             ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
             สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกันมิใช่หรือ?
             อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

             [๑๐๖] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์สองพวกนั้น
สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรม
ที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี อุปปาติกสัตว์ไม่มี
สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญา
อันยิ่งเองแล้วประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลกดังนี้ เป็นอันหวังข้อนี้ได้ คือ
             จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
             จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร
             เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่ง
อกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะเป็นคุณฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม.
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่าโลกหน้าไม่มี ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ.
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขาดำริว่า โลกหน้าไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ.
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขากล่าววาจาว่า โลกหน้าไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา.
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขากล่าวว่า โลกหน้าไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์
ผู้รู้แจ้งโลกหน้า.
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขายังผู้อื่นให้เข้าใจว่า โลกหน้าไม่มี การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้น
เป็นการให้เข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม
             และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่นด้วยการให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรมนั้นด้วย.
             เขาละคุณ คือ เป็นคนมีศีลแล้ว ตั้งไว้เฉพาะแต่โทษ คือ ความเป็นคนทุศีลไว้ก่อนเทียว
ด้วยประการฉะนี้.
             อกุศลธรรมอันลามก เป็นอเนกเหล่านี้ คือ
             มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่นเข้าใจผิด
โดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.

             อปัณณกธรรมที่ถือไว้ชั่ว
             [๑๐๗] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
บุรุษผู้รู้แจ้งย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักทำตนให้สวัสดีได้
             ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึง อบาย ทุคติ
วินิบาต นรก.
             อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นจงเป็นคำจริง
             เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ เป็นผู้อันวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า
             เป็นบุรุษบุคคลทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาท.
             ถ้าโลกหน้ามีจริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้ ปราชัยในโลกทั้งสอง คือ
ในปัจจุบัน ถูกวิญญูชนติเตียน เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยประการฉะนี้.
             อปัณณกธรรมนี้ ที่ผู้นั้นถือไว้ชั่ว สมาทานชั่ว ย่อมแผ่ไปโดยส่วนเดียว ย่อมละเหตุ
แห่งกุศลเสีย ด้วยประการฉะนี้.

             [๑๐๘] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล ฯลฯ สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติชอบ ทำโลกนี้
และโลกหน้า ให้ชัดแจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้รู้ทั่ว มีอยู่ในโลก
             สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังข้อนี้ได้ คือ
             จักเว้นอกุศลธรรมทั้ง ๓ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
             จักสมาทานกุศลธรรมทั้ง ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แล้วประพฤติ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร
             เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง แห่ง
อกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม.
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้ามีอยู่ ความเห็นของเขานั้นเป็น
ความเห็นชอบ.
             ก็โลกหน้ามีจริง เขาดำริว่า โลกหน้ามีจริง ความดำริของเขานั้นเป็นความดำริชอบ.
             ก็โลกหน้ามีจริง เขากล่าวว่า โลกหน้ามีจริง วาจาของเขานั้นเป็นวาจาชอบ.
             ก็โลกหน้ามีจริง เขากล่าวว่า โลกหน้ามีจริง ชื่อว่าไม่ทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์
ผู้รู้แจ้งโลกหน้า.
             ก็โลกหน้ามีจริง เขาให้ผู้อื่นเข้าใจว่า โลกหน้ามีจริง การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้น
เป็นการให้ผู้อื่นเข้าใจโดยสัทธรรม
             และเขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยการที่ให้ผู้อื่นเข้าใจโดยสัทธรรมนั้นด้วย.
             เขาละโทษ คือ ความเป็นคนทุศีล ตั้งไว้เฉพาะแต่คุณ คือ ความเป็นคนมีศีลไว้ก่อนเทียว
ด้วยประการฉะนี้.
             กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็นข้าศึก
ต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่น เข้าใจโดยสัทธรรม การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น ย่อมมีเพราะสัมมาทิฏฐิ
เป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.

             อปัณณกธรรมที่บุคคลถือไว้ดี
             [๑๐๙] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
บุรุษผู้รู้แจ้ง ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าโลกหน้ามีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์.
             อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นจงเป็นคำจริง
             เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลผู้นี้ ก็เป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในปัจจุบันว่า
เป็นบุรุษบุคคลมีศีล มีสัมมาทิฏฐิ เป็นอัตถิกวาท
             ถ้าโลกหน้ามีจริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้ เป็นความมีชัยในโลกทั้งสอง
คือในปัจจุบันวิญญูชนสรรเสริญ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ด้วยประการฉะนี้.
             อปัณณกธรรมที่ผู้นั้นถือไว้ดี สมาทานดีนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วนสอง ย่อมละเหตุแห่ง
อกุศลเสีย ด้วยประการฉะนี้.

(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่