ทุกถาสูตร : ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวกย่อมเป็นถ้อยคำชั่ว เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล

กระทู้สนทนา
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
             อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
             ทุกถาสูตร
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

             [๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวกย่อมเป็นถ้อยคำชั่ว
เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล
             บุคคล ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ
                    ถ้อยคำปรารภศรัทธาเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ไม่มีศรัทธา ๑
                    ถ้อยคำปรารภศีลเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล ๑
                    ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย ๑
                    ถ้อยคำปรารภจาคะเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ตระหนี่ ๑
                    ถ้อยคำปรารภปัญญาเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา ๑ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ไม่มีศรัทธา
เพราะผู้ไม่มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธา ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคือง
และความขัดใจให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ไม่มีศรัทธานั้น ย่อมไม่เห็นศรัทธาสัมปทาในตน และ
ย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีศรัทธาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำชั่ว
แก่ผู้ไม่มีศรัทธา

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล เพราะผู้ทุศีล
เมื่อพูดเรื่องศีลย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ทุศีลนั้นย่อมไม่เห็นศีลสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติและ
ปราโมทย์ที่มีศีลสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล

             เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย เพราะผู้ได้สดับน้อย
เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ได้สดับน้อยนั้น ย่อมไม่เห็นสุตสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้
ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทาเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย

             เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภจาคะจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ตระหนี่ เพราะผู้ตระหนี่ เมื่อพูดเรื่องจาคะ
ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ตระหนี่นั้นย่อมไม่เห็นจาคสัมปทาในตนและย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์
ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภจาคะ จึงเป็นถ้อยคำชั่วของผู้ตระหนี่

             เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา เพราะผู้ทรามปัญญา
เมื่อพูดเรื่องปัญญา ย่อมขัดข้อง โกรธ  พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ทรามปัญญานั้นย่อมไม่เห็นปัญญาสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้
ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวกนี้แล ย่อมเป็นถ้อยคำชั่ว เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวก ย่อมเป็นถ้อยคำดี เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล
             บุคคล ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ
                    ถ้อยคำปรารภศรัทธาเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา ๑
                    ถ้อยคำปรารภศีลเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศีล ๑
                    ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้ได้สดับมาก ๑
                    ถ้อยคำปรารภจาคะเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีจาคะ ๑
                    ถ้อยคำปรารภปัญญาเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีปัญญา ๑ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา เพราะผู้มีศรัทธา
เมื่อพูดเรื่องศรัทธาย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจ
ให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีศรัทธานั้นย่อมเห็นศรัทธาสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์
ที่มีศรัทธาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา

             เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศีล เพราะผู้มีศีลเมื่อพูดเรื่องศีล ย่อมไม่ขัดข้อง
ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีศีลนั้นย่อมเห็นศีลสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีศีลสัมปทา
นั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศีล

             เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้ได้สดับมาก เพราะผู้ได้สดับมาก
เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความ
ขัดใจให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ได้สดับมากย่อมเห็นสุตสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มี
สุตสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้ได้สดับมาก

             เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภจาคะจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีจาคะ เพราะผู้มีจาคะ เมื่อพูดเรื่องจาคะ
ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีจาคะนั้นย่อมเห็นจาคะสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์
ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภจาคะ จึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีจาคะ

             เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีปัญญา เพราะผู้มีปัญญา เมื่อพูดเรื่องปัญญา
ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีปัญญานั้น ย่อมเห็นปัญญาสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์
ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีปัญญา

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวกนี้แล ย่อมเป็นถ้อยคำดี เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล ฯ

             จบสูตรที่ ๗
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  บรรทัดที่ ๔๒๒๕ - ๔๒๘๘.  หน้าที่  ๑๘๔ - ๑๘๖.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=4225&Z=4288&bgc=azure
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=157&bgc=azure
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่